พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2558

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2558

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ส.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,473 view
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2558 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

เดือนสิงหาคมนี้ ก็เป็นเดือนมหามงคลยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเดือนหนึ่งของประเทศไทย ในวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นวันแม่แห่งชาติ ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ผมอยากเชิญชวนให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและความรักที่มีต่อแม่แห่งแผ่นดิน ซึ่งพระองค์ได้ทรงงานเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงเสด็จไปทั่วทุกหนแห่ง ในแผ่นดินไทยและได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทรงสนพระทัยในงานฝีมือและศิลปกรรมพื้นบ้าน พระองค์ทรงรับสั่งให้มีการฝึกสอนราษฎร ช่วยพัฒนาคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อราษฎรมีความชำนาญแล้วผลงานที่ผลิตออกมา ก็จะทรงรับซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในลำดับแรก นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนแล้ว ก็ยังเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านของไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความงดงาม และละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นการปั้น การทอ หรือการจักสาน ซึ่งต่อมาโครงการนี้ก็ขยายออกเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพกระจายอยู่ทั่วทุกภาค และมีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

เพราะฉะนั้น เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยร่วมกันสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูรักษาสืบทอดในเรื่องของการทอผ้า และการใช้ผ้าไทย ด้วยการสวมใส่ผ้าไทย ตามความพอเพียง รวมทั้ง ร่วมใจกันตั้งปณิธาน“ทำดีเพื่อแม่” ซึ่งทางรัฐบาลนั้น ก็จะจัดกิจกรรมตักบาตรทางเรือ ครั้งประวัติศาสตร์ บริเวณพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า ซึ่งได้กราบนมัสการนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะมาประกอบพิธีสงฆ์ และเจริญน้ำพระพุทธมนต์ ก็ขอเชิญชวนพี่น้องที่มีความสนใจร่วมในกิจกรรมงานบุญดังกล่าวด้วย

สำหรับวันนี้ ผมมีเรื่องสำคัญที่อยากเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบเพื่อทำความเข้าใจแล้ว ก็ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เรื่องแรกคือ เรื่องของการปฏิรูป ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าการปฏิรูปคืออะไร ความหมายก็คือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข ซึ่งก็นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลในเวลานี้ นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมานั้น เราพบปัญหามากมาย ทั้งทางกฎหมาย ทางการปฏิบัติ และปัญหาในเชิงโครงสร้างการทำงาน

ในห้วงที่ผ่านมานั้น ฝ่ายการเมืองอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะว่าต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ยากจนมีรายได้น้อย จนไม่ได้พัฒนาศักยภาพของประเทศโดยรวมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร กฎหมายที่ล้าสมัย ทั้งในด้านการค้า การลงทุน ในประเทศ นอกประเทศ รวมถึงพันธะกรณีที่ไทยเรามีไว้กับต่างประเทศ แต่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในห้วงที่ผ่านมาหลายเรื่อง ทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถที่จะพัฒนาอย่างรวดเร็วไปสู่ความเป็นสากลได้

สำหรับปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นนั้น ก็มีมากมาย ซึ่งขณะนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ การจัดระเบียบสังคมที่เสื่อมโทรม ที่ขาดมาตรการ และการควบคุมที่ดี การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อจะแก้ปัญหาทั้งภัยแล้ง อุทกภัย น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม แล้วก็ขาดการวางแผนบริหารจัดการที่ดีหลาย ๆ เรื่อง

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบนั้น เราก็ต้องเร่งดำเนินการ ไม่อย่างนั้นไม่ทันต่อเวลา การเปลี่ยนแปลงของโลกในวันนี้ เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับให้แข็งแรง แล้วก็สามารถที่จะแข่งขันได้ มีขีดความสามารถประเทศสูงขึ้น ในส่วนปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ป่าไม้ ป่าต้นน้ำเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว ภูเขาหัวโล้น แล้วก็ทำให้ฝนไม่ตกอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มีปัญหาต่อเนื่องมายาวนาน

เรื่องของภาคการเกษตร เราจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้กับภาคการเกษตร ให้เกษตรกร เราต้องพัฒนาความเข้มแข็งของเขา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ทางด้านเกษตรกรรม ผลผลิตมากมายที่เรามีอยู่วันนี้ต้องทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นให้ได้ และอีกหลาย ๆ เรื่อง ที่รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่ หลายเรื่องนั้น ต้องใช้เวลามากกว่านี้ ในการดำเนินงาน

ทุกสิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้มุ่งให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต แล้วพยายามจะไม่สร้างปัญหาใหม่ ถ้าทุกท่านมองพวกเราอย่างเป็นธรรม ก็จะเห็นว่าเราได้แก้ไขปัญหาไปแล้วมากมาย บางเรื่องก็เสร็จไปแล้วบ้าง บางเรื่องก็ยังต้องดำเนินการอยู่ มีความก้าวหน้าตามลำดับ แต่สิ่งสำคัญคือ การทำให้ยั่งยืนในอนาคตนั้น เราต้องเข้าใจปัญหา แล้วก็ความสลับซับซ้อนของปัญหาจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ถูกต้อง มีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งกฎหมาย ทั้งพันธะสัญญาแล้วก็ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามเหล่านั้น โดยเฉพาะประชาชนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของกฎหมายที่ออกไปใหม่ ๆ ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบของสังคมทั้งสิ้น สิ่งที่เราได้ทำสัญญาไว้กับนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ เราก็คงต้องรักษาต่อไปให้มีความเชื่อมั่น เชื่อถือ ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะเป็นแบนี้ก็ตาม วันหน้าก็ต้องกลับไปสู่ปกติอยู่แล้ว

ในส่วนของวิธีการในการดำเนินงานต่อปัญหาทุกปัญหานั้น เจ้าหน้าที่ แล้วต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน บางเรื่องก็มีการต่อต้านมากมาย กลุ่มการเมืองที่ยังไม่เข้าใจก็มีอยู่ อาจจะมีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น คสช. และรัฐบาลก็ได้แบ่งกระบวนการปฏิรูปออกเป็น 2 ระยะ

ระยะแรกก็คือ คสช. และรัฐบาลที่ผมเรียงไว้เดิมคือ 1 กับ 2  ซึ่ง 1. คือ คสช. 2. คือรัฐบาลผมรวบเป็นระยะที่ 1 เลย รัฐบาลนี้ทำเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องหยุดการบริหาราชการแผ่นดิน แล้วก็แก้ปัญหาไปด้วย

ส่วนระยะที่สอง ของเราตรงนี้ก็คือให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตั้งขึ้นมา แล้วก็ได้ให้จัดทำวาระการปฏิรูป 11 ด้าน ก็มีการถกแถลงกันมากมาย ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำหนดหัวข้อ วิธีการ ระยะเวลา ให้ไปสู่วัตถุประสงค์ที่ต้องการในอนาคตก็คือการปฏิรูปอย่างยั่งยืน และต่อเนื่อง

สำหรับทุกปัญหาที่เราทำในระยะ 1-2 ของตอนนี้ไม่ได้หมายความว่า แก้ได้แล้วจบแล้วก็ไปทำเรื่องอื่นต่อได้เลย หลายเรื่องก็แก้ไขไปแล้วก็ ต้องรักษาไว้ให้ได้ อะไรที่ยังไม่ได้ทำ หรือยังไม่ยุติก็ต้องทำต่อ โดยการต้องเตรียมการ ร่างแนวทางไว้ แล้วก็ส่งต่อระยะที่ 3 เมื่อมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ก็ต้องทำในสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้พิจารณากำหนดไว้ ในช่วงนี้ ทั้งในแง่ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะต้องกำหนดไว้  เพื่ออำนวยให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ก็ขอความร่วมมือกับรัฐบาลในอนาคตไว้ด้วย บางเรื่องเราอาจจะต้องใช้เวลานาน อาจจะนานเป็นหลายปี หลาย ๆ ประเทศเขาใช้เวลาปฏิรูปประเทศเป็นเวลาไปแล้วกว่า 30 ปี ก็ยังไม่เสร็จ เพราะปัญหาใหม่ก็เกิดซ้อนขึ้นมาเรื่อย ๆ ปัญหาเก่าก็กำลังแก้อยู่ เพราะฉะนั้นปัญหาไม่มีวันสิ้นสุด เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้น ขอให้ประชาชนคนไทยทุกคน ได้เข้าใจร่วมกันว่ารัฐบาลและ คสช. นั้นก็ไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างฐานอำนาจ หรือมาเอาผลประโยชน์ใด ๆ เราไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย ตั้งแต่ตัดสินใจเข้ามาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจคำว่าปฏิรูปให้ตรงกันเสียที ว่าเป็นการดำเนินการที่ต้องมีความต่อเนื่อง เริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปก่อนในขณะนี้ และก็ไปหาสิ่งที่ยาก ถ้าเราเอาปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งหมดมาทำเวลานี้ก่อน ปัญหาก็จะสลับซับซ้อนมาก แล้วความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นทันที แล้วก็จะเกิดผลกระทบ กับการที่บางพวกก็จะเอาประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวม หรือประชาชนที่มีความเดือดร้อน มาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการปฏิรูป หรือการบริหาราชการแผ่นดินตั้งแต่เริ่มต้น โดยที่เขาอาจไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่รู้ตัว ทั้งผู้กระทำ แล้วก็ผู้ที่ถูกชักจูง โดยไม่เข้าใจว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในอนาคต แต่ถ้าหากว่าเราสามารถจะทำให้เขาเห็นได้ บางอย่าง บางส่วน อย่างเช่นที่เราทำวันนี้ ที่เสร็จในระยะสั้น ระยะต้นให้เห็นภาพ เห็นอนาคต ปัญหาต่าง ๆ ที่หมักหมมมายาวนาน ก็จะได้ไม่เกิดขึ้นอีก จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนด้วยความร่วมมือของทุกพวกทุกฝ่าย ที่เป็นคนไทย เราก็อยากให้คนไทยทั้งประเทศ ทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย นั้นได้เข้าใจ แล้วก็ร่วมมือกับพวกเรา คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่พวกเราก็จะพยายามทำต่อไป

เรื่องสำคัญต่อไป ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และประชาธิปไตย มีความเกี่ยวข้องกันแน่นอน เพราะเราก็ยังเป็นประเทศที่จะต้องมีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันมากกับประเทศตะวันตก ในเรื่องของอาชีพ รายได้ การศึกษา ความเข้มแข็งประเทศ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำอะไรเหล่านี้มีความแตกต่างกันทั่วโลก เพราะฉะนั้น ถ้าเราลองทบทวนดูว่าสิ่งที่ คสช. และรัฐบาลทำในวันนี้นั้น เราอาจจะไม่ได้ให้งบประมาณโดยตรงกับประชาชน โดยไม่อยากจะบิดเบือนทุกสิ่งทุกอย่างให้เสียหาย

เพราะฉะนั้น เราก็ได้ใช้ให้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเรื่องของการบรรเทาความเดือดร้อน เรื่องทางการเกษตร ในเรื่องของภัยแล้ง เรื่องของน้ำท่วม เรื่องอะไรเหล่านี้ก็ดำเนินการมาโดยตลอด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องนำไปใช้ในการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต

ในส่วนของการใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่ง ก็คือการลงทุนในเรื่องอุตสาหกรรมแนวใหม่ ที่มีความทันสมัย การวิจัยพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช การสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม การบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ได้ใช้งบประมาณไปกับโครงการประชานิยมหลาย ๆ อย่าง ซึ่งบางอันนั้น ก็เป็นปัญหาการใช้งบประมาณ ผมเข้าใจว่ามีความจำเป็น แต่อย่าให้มีปัญหาในอนาคตก็แล้วกัน เราพยายามเต็มที่ แต่บางอย่างเราก็ถูกประชาชนกดดัน ก็เหมือน ๆ เดิม เราก็ต้องสร้างความเข้าใจกับเขา ถ้าหากว่าเราใช้เงินไปล่วงหน้ามากพอสมควรนั้น เราก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ในอนาคตเช่นเดิม ในเชิงปรับโครงสร้างถ้าไม่แก้ทั้งระบบ ไม่สร้างระบบใหม่ขึ้นมาให้เข้มแข็ง ก็จะเป็นปัญหาอีก แล้วประชาชนก็พร้อมที่จะไม่เข้าใจ ที่ผ่านมา ก็อาจจะได้เงินง่าย โดยไม่รู้ว่าเป็นการทำลายความเข้มแข็งของตัวเขาเองด้วย ซึ่งต้องคอยพึ่งพากลุ่มโน้นกลุ่มนี้ กลุ่มการเมืองบ้าง กลุ่มผู้มีอิทธิพลบ้างเหล่านี้ บางกลุ่มก็ไม่ได้เจตนาก็อาจจะหวังดี แต่ก็นำไปถูกใช้ประโยชน์ในบางเรื่องด้วย เช่น การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดความขัดแย้งกันไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น รัฐบาลใดก็ตามที่มีธรรมาภิบาลไม่ควรทำเช่นนั้น ไม่ควรทำให้เกิดความขัดแย้ง ควรจะสร้างความเข้มแข็งให้เขามีความภาคภูมิใจช่วยเหลือตนเองได้บ้าง การที่เราจะดูแลคนทั้ง 70 ล้านคน ให้ได้นั้น ก็ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน จะดูแลแต่ละพวก แต่ละฝ่าย แต่ละระดับ แต่ละปัญหามากน้อยเพียงใด ตามปัญหาที่มีความรุนแรงที่แตกต่างกัน เราพยายามจะไม่แยกกลุ่ม มุ่งหวังเพียงเพื่อจะสร้างคะแนนนิยม รัฐบาล คสช. ผมไม่ต้องการแบบนั้น เพื่อจะให้ผม หรือพวกเราทำงานได้ แล้วก็อยู่นาน ๆ คงไม่ได้หวังอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในส่วนของการเมืองผมก็ฝากไว้ด้วย ว่าระยะต่อไป อย่าไปทำอย่างนี้อีกก็แล้วกัน เช่นเดิมที่ผ่านมาก่อนผมเข้ามา

ผมไม่อยากให้ทุกคนกังวลกับคำว่า คสช. รัฐบาล อยากอยู่ต่อ ต่อทอดอำนาจอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ผมไม่มีความอยากตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ก็อยากจะเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ก็ต้องการให้ช่วยกันคิดว่า การที่เราอยากจะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนนั้น เราควรจะต้องช่วยกันอย่างไร ทำอย่างไร  รัฐธรรมนูญฉบับถาวรควรเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้รัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ทำงาน ได้ปฏิรูป และเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้ร่างไว้ได้หรือไม่ แล้วก็ทำอย่างไรที่รัฐบาลใหม่จะใช้อำนาจในการบริหารอย่างชอบธรรม มีธรรมาภิบาล ก็คงไม่มีใครอยากให้ประชาชนเดือดร้อน  หรืออยากให้เศรษฐกิจตกต่ำ เราพยายามทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เราทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจจริง อยากให้ประเทศชาติมีอนาคต ประชาชนทุกคนมีความหวังหลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างพอเพียง เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดหรือทำแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ  วันนี้ประเทศชาติอันตราย หรือไม่ก็ต้องทำตามแรงกดดันของหลาย ๆ ฝ่าย ทำให้ทุกอย่างเกิดความไม่มั่นคง ไม่มีความยั่งยืนอย่างแน่นอน

เรื่องต่อไปคือเรื่องของสื่อ ทั้งทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย ผมก็ไม่ใช่ผู้ขัดแย้งกับท่านเลย เพราะฉะนั้น ข้อมูลต่าง ๆ จากสื่อนั้นจะช่วยเราได้มาก การเสพข้อมูลต่าง ๆ ของสื่อ แล้วก็โซเชียลมีเดีย ที่ไม่มีคุณภาพอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอ ที่มีคุณภาพผมคงไม่ไปกล่าวถึง เพราะว่าบางครั้งที่กล่าวมานั้นมีเรื่องดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง  ก็ขอให้ทุกคนได้พิจารณากันด้วยเหตุด้วยผล ก็อย่าให้โซเชียลมีเดีย หรือสื่อที่ไม่ดีมาชี้นำ ประชาชนเราถูกชี้นำมามากแล้ว วันนี้ผมก็อยากจะพูดเพื่อจะสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น ก็คงไม่มีใครมาพูดให้ฟังมากเท่าผม

เพราะฉะนั้น หากคนที่หวังแต่ประโยชน์กลุ่มตนเอง หวังสร้างความขัดแย้งไปทั่ว ๆ คนเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเขาให้ได้ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองเราก็ไม่มีความสุข ทุกคนที่เป็นคนไทยต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ มีสติ สามารถที่จะใคร่ครวญในข้อเท็จจริง  มีเหตุมีผล ผมไม่อยากให้คนไทยถูกชี้นำ หรือถูกกำหนดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทุกคนต้องสร้างความเข้มแข็งภายใต้กฎหมายที่มีอยู่

เรื่องรัฐธรรมนูญ วันนี้ก็อยู่ในขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และที่ได้แก้ไขแล้ว ก็ขอให้ทุกคนได้ร่วมพิจารณา แล้วลงไปพิจารณาถึงเนื้อหาด้วย ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ก็อยากจะให้ทบทวนกลับไปนิดหนึ่งว่าในอดีตบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร เราต้องการอะไรบ้างในอนาคต ความมีเสถียรภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เช่น ประเทศตะวันตกนั้น จะทำให้ประเทศของเราปลอดภัยหรือไม่ในขณะนี้ เพราะว่าบางอย่างเรามีความแตกต่างเขาอยู่ เพราะฉะนั้นห้วงปฏิรูปในระยะต่อไปนั้นเราควรมีรัฐบาลอย่างไร จะมาจากนักการเมืองเดิม ๆ คิดแบบเดิม ๆ เหมือนแต่ก่อนหรือไม่ หรือจะเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือมากขึ้นกว่าผม ผมก็ยินดี

ทั้งนี้ ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ที่การตัดสินใจของของท่าน ของประชาชนทุกคนที่คนไทยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นรัฐบาลในอนาคต ก็จะต้องทำการปฏิรูปด้วยความสมัครใจ เพราะฉะนั้นวันนี้ลองหาคำตอบจากบรรดานักการเมือง หรือบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ดูว่าเขามีความคิดในเรื่องการปฏิรูปอย่างไร ให้เกิดความชัดเจน เพราะว่าท่านก็ต้องกลับมาอยู่แล้ว ผมรู้ หลายท่านก็จะต้องกลับมาเลือกตั้ง รับเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทั้ง 11 เรื่อง ท่านไปคิดดู แล้วสร้างความรับรู้ให้ประชาชน สังคมทราบอย่างนี้ ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าอย่างนี้คือความร่วมมือกัน ไม่ใช่มาตอบโต้ โต้แย้ง กับผมตลอดเวลา อยากให้ออกมาหาช่องทาง เสนอเข้ามา เข้าสภาปฏิรูปก็ได้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้ ส่งมาที่รัฐบาลก็ได้ ผมไม่อยากให้มาไล่ล่ารัฐบาลในเวลานี้ เพราะเราติดปัญหามากมายไปหมด  เราต้องการทำงานให้เสร็จรวดเร็ว อย่างที่ท่านต้องการ เพราะฉะนั้น หากว่ามีความขัดแย้ง ไม่สงบ ต่อต้านทุกเรื่องไป พยายามจะกลับไปที่เก่า

เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็ทำทุกอย่างให้ก้าวหน้าไปไม่ได้ ก็จะติดอยู่ที่เก่า หรือขึ้นมาเล็กน้อย แล้ววันหน้า เวลาก็เสียหายไปอีก ผมไม่อยากจะใช้เวลาให้มากไปเรื่อย ๆ ท่านก็อยากจะเข้ามา ผมก็พยายามจะทำให้พร้อมโดยเร็ว เพราะฉะนั้น วันนี้ถ้ายังขัดแย้งกันอยู่แบบนี้ ไม่ได้แล้ว ถ้าถือคำพูดทุกคำพูดมาตอบโต้กัน ผมว่าไม่มีวันจบ งานก็เดินไม่ได้ด้วย ประชาชนก็ไม่เข้าใจ เพราะหวาดกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้ใจใครสักคน อย่างนี้ไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้ประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับพวกเราทั้งหมด ไม่ว่ารัฐบาลผม หรือรัฐบาลต่อไป หรืออดีตรัฐบาลที่ผ่านมาก็ตาม ผมไม่เคยมีความขัดแย้งกับคำว่าประชาธิปไตย  แต่ประชาธิปไตยที่ดีนั้น ควรจะต้องทำให้ประเทศไทยปลอดภัย มีอนาคต มีความเข้มแข็ง เพียงพอกับการต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อม ปัจจัยทั้งภายในภายนอกประเทศ เราจะต้องไม่ไปติดกับดักประชาธิปไตย อย่างที่เราเคยประสบกันมาแล้วไม่รู้จบ ไม่ต่ำกว่า 80 ปีที่ผ่านมา เรามีการพัฒนาช้ามากในเรื่องนี้ ฝากไปคิดด้วย

ปัญหาภัยแล้ง ก็ยังคงเป็นปัญหาหลัก ปัญหาสำคัญของรัฐบาลนี้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แล้ววันนี้ก็มีอุทกภัยเข้ามาอีกในบางจังหวัด บางพื้นที่ รัฐบาลได้มีมาตรการ และแนวทางให้ความช่วยเหลือหลายระดับด้วยกัน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ บางอย่างก็ต้องรอผลการสำรวจด้วย เช่น ปัจจุบันการเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ที่เดือดร้อน ขอขอบคุณหลาย ๆ พื้นที่โดยกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในเรื่องของการจ้างาน การปรับเปลี่ยน สนับสนุนการปลูกพืช การขุดหาแหล่งน้ำ ขนาดเล็ก แหล่งน้ำในไร่นา อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แม้กระทั่งการเก็บผักตบชวา

วันนี้ผมก็สั่งเพิ่มเติมไปหลายอย่าง เมื่อวานได้ไปตรวจงานมาเมื่อวันก่อนนี้ ได้มีการเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอยู่ จากภัยแล้ง แล้วก็จะได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานเกษตรในพื้นที่ ได้ติดตามในเรื่องของการพยากรณ์ และให้คำแนะนำกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า ในรอบสอง เพื่อสามารถเผชิญต่อกรณีฝนทิ้งช่วง หากเกิดขึ้นอีกด้วย

เรื่องการบริหารจัดการน้ำภาพรวม ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ 12 กิจกรรม ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ผลการดำเนินงานสามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำได้  2,074 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย ประปาหมู่บ้าน 907 แห่ง ประปาชุมชน – โรงเรียน 700 แห่ง แหล่งน้ำในเขตชลประทาน 732 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 4.7 ล้านไร่ แหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน เกือบ 3,000 แห่ง ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำ เพื่อการเกษตรได้ 1,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร การขุดสระน้ำในไร่นา 50,000 สระ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ราว 2,300 แห่ง เพื่อจะเก็บน้ำให้ได้ 287 ล้าน ลูกบาศก์เมตร การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรประมาณ 66,250 ไร่ การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อช่วยภัยแล้ง 900 แห่ง การขุดลอกลำน้ำสายหลัก ระยะทางประมาณ 200 กม. การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 24 แห่ง การฟื้นฟูผืนป่า  45,000 ไร่ และการทำพื้นที่ป้องกันและลดการพังทลาย 675,000 ไร่ ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว รัฐบาลนี้ได้เริ่มต้นโดยการจัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มาขับเคลื่อนต่อจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของ คสช. ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ต่อไป

โดยสรุปแล้ว แนวทางสำคัญที่รัฐบาล และ คสช. กำลังดำเนินการอยู่ คือ 1. เรื่องการรักษาพันธะสัญญา ที่ไทยเรามีไว้กับนานาชาติ สร้างความเชื่อมั่น และจะต้องเป็นไปตามข้อตกลง หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่ององค์กรระหว่างประเทศด้วย 2. เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะต้องแก้ไขปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการ ทำให้เกิดการบูรณาการหน่วยงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ เร่งรัดให้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เร่งการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์ ถูกต้อง และโปร่งใส ขจัดการทุจริต คอรัปชั่น 3. กำหนดวาระแห่งชาติหลายวาระด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนงานในระยะแรกให้เป็นรูปธรรม อาทิ การแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ การค้ามนุษย์ ปัญหาขยะ ปัญหาการบุกรุกทรัพยากร ปัญหาที่ดินทำกิน การทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขมาตรฐาน และองค์กรการบินพลเรือน ขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจ บริหารจัดการน้ำ และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่เราทำไป

ถ้าหากท่านสนใจและติดตาม ท่านจะรู้ว่าทำไปมาก ที่ผ่านมาหลายท่านอาจจะทำมาหากินอยู่ อาจจะไม่ได้สนใจ แต่ทุกคนจะสนใจว่ามีอะไรถึงตัวเองบ้าง อาจจะน้อยเพราะทำไปหลายกลุ่มด้วยกันที่เรียกว่า Stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีหลายระดับ หลายส่วน เพราะฉะนั้นถ้าทำไปตรงโน้นมากเกินไป ตรงนี้มากเกินไปก็ไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ต้องทำทุกเรื่อง 4. เริ่มต้นการปฏิรูปในหลาย ๆ เรื่อง ระยะที่ 1 – 2 ของรัฐบาลตอนนี้ โดยดำเนินการภายใต้การบริหารงานปัจจุบัน เพื่อจะส่งระยะที่ 3 ไปสู่รัฐบาลหน้า ใน ๕ กลุ่มงานของรัฐบาล ในเรื่องของความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม อย่าคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งหมดที่ทำ 5 กลุ่มงานทุกกระทรวงก็เป็นการปฏิรูปทั้งสิ้น ระยะที่ 1 - 2 และต้องสืบต่อเนื่องไประยะที่ 3 หลังเลือกตั้งไปแล้ว  5. ในส่วนของการมีส่วนร่วมนั้น เรามีสภาปฏิรูปอยู่แล้ว วันนี้ก็จัดตั้งมาจากคนหลากหลายอาชีพ หลายกลุ่ม หลายฝ่าย จากทุกจังหวัดด้วย ร่วมกันพิจารณาในการจัดทำแผนการปฏิรูปในขณะนี้อยู่ และเพื่อจะใช้ในระยะต่อไป

เพราะฉะนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ และรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จะได้ยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศต่อไป 6. ได้เตรียมการและดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้ประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง 20 ปี โดยทุกแผนงานหรือยุทธศาสตร์ของแต่ละส่วนราชการจะต้องมีความสอดคล้องกัน รวมทั้งรัฐบาลต่อ ๆ ไป ก็กรุณาช่วยดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติเหล่านั้นด้วย 7. เราอาจจะต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และการปฏิรูป เพื่อจะแก้ไขและดำเนินการในเรื่องของการปฏิรูป การปรองดอง การขจัดข้อขัดแย้งในอนาคตด้วย ระงับสถานการณ์รุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นอีกให้ได้ ก็ต้องมีความคิดว่าจะทำอย่างไรกัน ขอความร่วมมือด้วย เราไม่ได้นิ่งนอนใจว่าจะเกิดหรือไม่เกิด ไม่เกิดได้ก็ดี แต่ถ้าเกิดต้องมีวิธีการแก้ไข ไม่ใช่เหมือนกับมาตรการในห้วงก่อนวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ผมต้องเข้ามายืนอยู่ตรงนี้

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการบริหารราชการของรัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสภาฯ ดังกล่าวก็จะไม่ไปก้าวก่ายอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็จะดูเฉพาะในเรื่องของการปฏิรูป ปรองดอง และการแก้ไขความรุนแรง เหตุผลสำคัญคือเราต้องทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ให้เหมือนกับที่ระยะนี้ ในรัฐบาลหน้า ระยะนี้เรามี คสช. ช่วยรัฐบาลอยู่ วันหน้าก็จะมีสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ก็จะไปช่วยรัฐบาลหน้า เพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป 8. เรื่องของการทำงานที่ผ่านมา เราก็ได้เน้นเรื่องการสื่อสารระหว่าง คสช. สนช. สปช. กับรัฐบาลมาตลอดเวลา มีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมร่วม มีการส่งเอกสารให้รับทราบ และมีคณะประสานงานหลายคณะด้วยกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ คสช. เข้ามาจนถึงปัจจุบันนั้น ทุกเรื่องที่ คสช. และรัฐบาลทำ เราจะส่งไปให้ทาง สนช. และ สปช. ทราบว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง และกำลังคิดอะไรอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ สปช. ได้นำไปคิด นำไปดำเนินการต่อ พิจารณาเพิ่มเติม และจัดทำลงในแผนปฏิรูป เพื่อจะให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อไป

ผมอยากชี้แจงให้เข้าใจถึงการแสดงความคิดเห็นของ สนช. สปช. คณะกรรมาธิการต่าง ๆ ผมเห็นว่ามีความหลากหลาย มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น จะเห็นว่ามีความหลากหลาย มีอิสระ ก็ต้องลองฟังดูแล้วกัน เราก็ทนฟังสภาหลายสภามานานแล้ว ก็ลองฟังดูบ้าง คนไทยทั้งสิ้น ผมไม่อยากเข้าไปจำกัดความคิดของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ท่านก็มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ท่านก็หวังดีทุกคน ไม่ว่าจะสมัยใดก็ตาม ก็หวังดีทุกคน เพียงแต่ว่าไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นหลายกฎหมายที่เราส่งไปจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องผ่านคณะกรรมาธิการอีกครั้งหนึ่งอยู่ดี 3 วาระ ใน สนช. ไม่ใช่ ครม. พิจารณาแล้วส่งไปสามารถประกาศใช้กฎหมายได้เลย ในส่วนของ สนช. จัดตั้ง 3 คณะกลั่นกรอง และบางอย่างก็แก้ไขเกือบหมด บางอย่างก็แก้ไขให้ดีขึ้น เพราะว่าเรามีเวลาน้อย หลายเรื่องที่เราทำ ส่งเข้าไปแล้ว แต่เรามีเวลาน้อย เพราะฉะนั้นกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีเวลาน้อยในการที่จะพิจารณาโดยละเอียด เพราะเร่งเวลากันมากในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเราก็มีกฎหมายที่ข้างการพิจารณาเป็นจำนวนมากจากรัฐบาลก่อน ๆ ก่อนที่เราเข้ามา

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดกฎหมายใหม่ ๆ ด้วย แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดประโยชน์กับการค้าการลงทุน และต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเป็นธรรม หลายกฎหมายที่เรามีพันธะผูกพันกับนานาชาติ ที่จะต้องมีความร่วมมือระหว่างกัน แต่เราก็ไม่ค่อยได้ทำกันไว้ให้เกิดความทันสมัย หลายประเทศเขาปรับไปแล้ว ส่วนของประเทศไทยยังล่าสมัยอยู่ วันนี้ก็ต้องแก้ไข พอแก้ไขก็เกิดข้อขัดแย้งมาก ทุกคนก็มุ่งหวังแต่ว่าจะทำอย่างไร ให้ฝ่ายนี้ ฝ่ายโน้นได้ประโยชน์ให้มากที่สุด ผมคิดว่าวันนี้ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ เอาประเทศชาติมาก่อน ตัวเองคงไม่ถึงกับล้มสลาย ขอให้เข้าใจว่าเราพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญในวันนี้ อยากจะฝากทุกคนไว้ก็คือ เราจะต้องช่วยกันในการสร้างเสถียรภาพ และความปลอดภัยให้กับประชาชน และประเทศชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรระหว่างประเทศ และมิตรประเทศ เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเชื่อมโยง เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และภัยจากการก่อการร้าย รวมทั้งในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศนั้น เราต้องปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเราใหม่ โดยพึ่งพาการส่งออกให้น้อยลง มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ในลักษณะอาเซียนบวกหนึ่ง ก็คือประเทศไหนก็ตามมาลงทุนกับเราใน 10 ประเทศก็เจือจานแบ่งปันไปตามศักยภาพของแต่ละประเทศ อาเซียนต้องเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน เรามีเพื่อนเราก็ต้องรักเพื่อนเรา และอาเซียนทั้งหมดจะได้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่คู่แข่งขันกัน ที่สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ทุกพวก ทุกฝ่าย  เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราก้าวข้ามการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ และกลับมาเป็นประเทศที่มีแต่รอยยิ้ม มีความสามัคคีกันให้ได้โดยเร็ว

สำหรับ กิจกรรม “ Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่ ” วันที่ 16 สิงหาคมนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน และช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผมได้ชี้แจงไปแล้ว คือเรื่องความปลอดภัย การรักษาระเบียบ รูปขบวนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ขอให้มาร่วมกันปั่นเพื่อแม่  เพื่อถวายในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชทานความห่วงใยต่อพสกนิกรที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเสมอมา และทรงย้ำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้ความรอบคอบ ความละเอียดอ่อนในการจัดงาน ทั้งในเรื่องเส้นทาง อุบัติเหตุ การเผชิญเหตุฉุกเฉิน การตั้งจุดรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วมในการแสดงออก ทั้งขับขี่ และยืนเฝ้ารับเสด็จ ให้กำลังใจตามไหล่ทาง จากการที่ได้ตรวจความพร้อมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  มีแก้ไขเล็กน้อย

ขอขอบคุณทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณจริง ๆ  อย่างไรก็ตาม สำหรับพี่น้องประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ก็ขอให้มีการฝึกซ้อมกันอย่างระมัดระวัง ฝนตก ถนนลื่นด้วย ทราบว่าหลายคนก็บาดเจ็บจากการฝึกซ้อม ไม่เป็นไร จะได้รู้ว่าต้องระมัดระวังอย่างไรกันต่อไป เพราะไม่อยากให้เป็นอะไรกันมากมาย ไม่เป็นอะไรได้ก็ดี ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย ทุกเรื่องที่ได้ประกาศไปทั้งวันจริงด้วย และที่ผมพูดไปด้วย วันนี้คงรบกวนเวลาท่านเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขครับ

……………………………………….

   ที่มา : http://www.thaigov.go.th/