ความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน

ความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ธ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 เม.ย. 2566

| 16,077 view

 ความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน

 

. ความสัมพันธ์ทั่วไป

              ไทยกับปากีสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๔ 

            ๑.๑ การเมืองและความมั่นคง ไทยและปากีสถานมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน จากการที่ปากีสถานเคยเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Treaty Organization - SEATO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๗ แม้ว่าในปัจจุบันการดำเนินงานในกรอบของ SEATO จะยุติลงแล้ว แต่มิติทางประวัติศาสตร์ ได้ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับปากีสถาน โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุด นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยือนกรุงอิสลามาบัด เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม ครั้งที่ ๔๘ (Council of Foreign Ministers of the Organisation of Islamic Cooperation : OIC-CFM 48) ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ มีนาคม ๒๕๖๕ และนายมูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

ปากีสถานมีนโยบาย Vision East Asia เพื่อเพิ่มบทบาทในเอเชียและกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก และไทยมีนโยบาย Look West ทั้งสองประเทศจึงมีความร่วมมือในทุกมิติทั้งระดับ
ทวิภาคีและพหุภาคี อาทิ เวที Asia Cooperation Dialogue (ACD) ที่ไทยริเริ่มขึ้น และ ASEAN Regional Forum (ARF) นอกจากนี้ ปากีสถานซึ่งมีบทบาทสำคัญในเวทีองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference - OIC) ได้ให้การสนับสนุนไทยในเวทีดังกล่าวมาโดยตลอด

            ๑.๒ เศรษฐกิจ ในปี ๒๕๖๕ ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕๒ ของไทย และลำดับที่ ๓ ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ (รองจากอินเดียกับบังกลาเทศ) โดยมีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น ๑๖,๖๖๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก
ปี ๒๕๖๔ ร้อยละ ๑๐.๓ ไทยส่งออก ๑,๒๗๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า ๓๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๘๘๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ๕ อันดับแรกของสินค้าส่งออกของไทยได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ ๒๔.๗๗) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ ๑๔.๔๘) เส้นใยประดิษฐ์ (ร้อยละ ๕.๙๗) เม็ดพลาสติก
(ร้อยละ ๕.๕๒) และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (ร้อยละ ๕.๕๒) และ ๕ อันดับแรกของสินค้านำเข้าของไทย ได้แก่ น้ำมันดับ (ร้อยละ ๕๑.๙๖) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จ
(ร้อยละ ๓๐.๓๒) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (ร้อยละ ๒.๙๙) ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (ร้อยละ ๒.๘๘) และเสื้อผ้าสำเร็จรูป (ร้อยละ ๒.๖๒)  และทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ปัจจุบันมีบริษัทไทยเข้ามาลงทุนในปากีสถานจำนวน ๒ บริษัท ได้แก่ บริษัทไทยยูรีเทนพลาสติก และบริษัทซีพี

              ๑.๓ สังคมและวัฒนธรรม ไทยและปากีสถานต่างเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน และมีความเกี่ยวพันระหว่างภาคประชาชน โดยมีชุมชนคนไทยในปากีสถานมาช้านาน นอกจากกลุ่มคนที่สมรสกับชาวปากีสถานและไปประกอบอาชีพต่างๆ แล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนไทยประมาณ ๓๐๐ คน ศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาและมหาวิทยาลัยชั้นนำในปากีสถาน โดยมีการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย – ปากีสถาน ด้วย

            ๑.๔ การท่องเที่ยว ในปี ๒๕๖๕ มีชาวปากีสถานเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ๕๓,๒๓๓ คน ในขณะที่ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปปากีสถานจำนวน ๔,๐๐๐ คน

. การเยือนที่สำคัญ

          ๒.๑ ฝ่ายไทย

                      การเยือนระดับพระราชวงศ์

                   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

                         - วันที่ ๑๑ - ๒๒ มีนาคม ๒๕๐๕ เสด็จฯ เยือนปากีสถาน ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีกอฮาร์ อายุบ ข่าน (Gohar Ayub Khan) 

                    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

                        - วันที่ ๙ -๑๔ กรกฎาคม ๒๕๓๔ เสด็จฯ เยือนปากีสถาน

                        - วันที่ ๒๖ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๑ เสด็จฯ เยือนอิสลามปากีสถานอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร
มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ

                        - วันที่ ๔ – ๕ มกราคม ๒๕๔๙ เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เพื่อพระราชทานสิ่งของบรรเทาทุกข์พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในปากีสถาน

             สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

                    - วันที่ ๑๙ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕ เสด็จฯ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีอาซีฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari)

            การเยือนระดับรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

                         - เดือนสิงหาคม ๒๕๒๖ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ

                        - เดือนมีนาคม ๒๕๔๕ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ

                        - เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๕ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ  

                        - เดือนเมษายน ๒๕๔๘ นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เยือนปากีสถานเพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue (ACD) ครั้งที่ ๔ 

- เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถานเพื่อเข้าร่วมเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม ครั้งที่ ๓๔ (Council of Foreign Ministers of the Organisation of Islamic Cooperation: OIC-CFM 34)  

                        - เดือนมกราคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ

                        - เดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ

                        ประธานวุฒิสภา

                        - เดือนเมษายน ๒๕๕๖ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ

 

            ๒.๒ ฝ่ายปากีสถาน

                    การเยือนระดับประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

                         -  เดือนกันยายน ๒๕๔๐ นายกอฮาร์ อายุบ ข่าน (Gohar Ayub Khan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยและลงนามจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (JEC) ไทย-ปากีสถาน

                        -  เดือนเมษายน ๒๕๔๓ พลเอกเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ประธานาธิบดี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

                        -  เดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ นายชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม JEC ครั้งที่ ๒ ที่กรุงเทพฯ

                        -  เดือนเมษายน ๒๕๔๗ นายมีร์ ซาฟารูลลาห์ ข่าน จามาลี (Mir Zafarullah Khan Jamali) นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ  

                        - เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ นายชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

                        -  เดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ประธานาธิบดีแวะผ่านไทยและพบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

                        -  เดือนตุลาคม ๒๕๔๘ นายชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยือนจังหวัดขอนแก่น และพบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

                        - เดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ นายชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แวะผ่านไทย และพบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

                        - เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ นายชาห์ มัคดูม มะห์มูด คูเรชิ (Shah Makhdoom Mahmood Qureshi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ครั้งที่ ๑๖ ที่จังหวัดภูเก็ต

                        - เดือนธันวาคม ๒๕๕๓ นายนาวาบซาดา มาลิก อาหมัด ข่าน (Nawabzada Malik Amad Khan) รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยการต่างประเทศ เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม Asia-Middle East Dialogue (AMED) ครั้งที่ ๓ ที่กรุงเทพฯ

                        - เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ นายมูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ (Muhammad Nawaz Sharif) นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุม Connect Asia Pacific Summit 2013
ที่กรุงเทพฯ

          - เดือนมีนาคม ๒๕๕๙ นายมัมนูน ฮุซัยน์ (Mamnoon Hussain) ประธานาธิบดี แวะผ่านไทย

          - เดือนมีนาคม ๒๕๕๙ นายซาร์ตาจ อะซิส (Sartaj Aziz) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ (เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue (ACD) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๔ และพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

          - เดือนตุลาคม ๒๕๕๙ นายซาร์ตาจ อะซิส (Sartaj Aziz) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ (เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD Summit) ครั้งที่ ๒

          - เดือนมกราคม ๒๕๖๐ นายซาร์ตาจ อะซิส (Sartaj Aziz) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ (เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) เยือนไทย ในฐานะผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของประธานาธิบดี เพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          - เดือนตุลาคม ๒๕๖๒ นายอารีฟ อัลวี (Arif Alvi) ประธานาธิบดี แวะผ่านไทย   

          - เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายอิมรอน ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรี แวะผ่านไทย และพบหารือกับนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ