พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2558

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2558

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,647 view
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2558 เวลา 20.15 น.

 

สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน

ก่อนอื่นในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยทุกคน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเพื่อนชาวเนปาล และผู้ที่ได้รับการสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา วันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2558 เวลาประมาณ 13.11 น. ตามเวลาในประเทศไทย เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปีของประเทศเนปาล ทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินประเมินค่ามิได้

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า พระบรม ราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบ ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว โดยพระราชทานเงินจำนวน 10 ล้านบาท ในการช่วยเหลือดังกล่าว นั้น ในเบื้องต้นทางรัฐบาลได้มอบเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลเนปาลไปแล้ว ภายหลังจากทราบข่าว เราได้ช่วยเหลือครั้งแรกเป็นจำนวน 2 แสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6 ล้านบาท ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2558 หนังสือแสดงความเสียใจก็ได้ทำไปแล้ว และขณะนี้กำลังรวบรวมความช่วยเหลือต่าง ๆ บางอย่างก็ส่งไปบ้างแล้ว กำลังรวบรวมที่ประชาชนคนไทยได้ร่วมมือกันเสียสละ เพื่อจะช่วยเหลือเนปาลระยะต่อไป และก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานงบประมาณจำนวนดังกล่าวนั้น ให้กับรัฐบาลมอบให้กับรัฐบาลเนปาล

ในส่วนของเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจากงบกลางเป็นจำนวน 100 ล้านบาทไว้ก่อน ก้อนนี้ก็จะเป็นสำหรับในเรื่องของการขนส่ง การจัดส่งหมอต่าง ๆ ระยะแรก ไปทำนองนี้ ที่เราไปแล้ว 1 เที่ยว แล้วก็กำลังจะไปด้วยสายการบินปกติด้วย แล้วก็จะไปด้วย C-130 ด้วย แล้วก็เตรียมของให้พร้อมมากขึ้น ขนอาหารการกิน ที่หลับ ที่นอน แล้วก็น้ำ อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ เพราะปัญหามากขณะนี้ ทุกคนระดมกันเต็มที่

สำหรับการช่วยเหลือของเรานั้น อาจจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นความจริงใจของรัฐบาลไทย แล้วก็พี่น้องประชาชนคนไทย ที่ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือกับประเทศเนปาล เพราะเราก็คือครอบครัวเดียวกัน บ้านเมืองก็ไม่ได้ห่างไกลกันมากนัก และหลายอย่างก็มีความคลาดเคลื่อนกันอยู่แล้ว แล้วผมก็ได้มีโอกาสพบกับท่านนายกรัฐมาตรีเนปาล เมื่อการประชุมที่ผ่านมา ที่อินโดนีเซีย ยังคุยกันอยู่เลยว่าเราจะมาร่วมลงทุนอะไรกันให้มากขึ้นหรือไม่ อะไรอย่างไร ก็ว่าจะมาคุยกัน เผอิญเกิดเหตุร้ายขึ้นก่อน ก็ไม่เป็นไร ผมได้บอกกับทูตเนปาลไว้แล้วว่า เราในฐานะเป็นอาเซียน ฐานะเป็นประเทศที่อยู่ทางด้านซีกนี้ด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แล้วเราเป็นพันธมิตรที่ดีกันมาโดยตลอด

ในด้านอื่น ๆ นั้น ผมก็จะเพิ่มเติมให้ไปเป็นระยะที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผ้าห่ม อาหาร เต็นท์พักอาศัย ยารักษาโรค อุปกรณ์ปฐมพยาบาล น้ำดื่ม บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิคเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ทีมพิสูจน์หลักฐานข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร แล้วก็ทีมสุนัขค้นหาอีกด้วย จะได้ค้นหาผู้รอดชีวิตหรือพิสูจน์อะไรก็แล้วแต่ ก็เร่งจัดดำเนินการเพราะเราเป็น แกนนำในการบรรเทาภัยพิบัติอยู่แล้ว เราได้มีการฝึกมาอย่างต่อเนื่องหลาย หลายประเทศก็มาฝึกกับเรา

เมื่อวันอังคารที่ 28 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ก็ได้จัด C-130 นำทีมแพทย์ของเราไปตั้งโรงพยาบาลสนาม แล้วก็ศูนย์ประสานงานทางด้านการแพทย์ และรัฐบาลกำลังเตรียมส่งเจ้าหน้าไปเพิ่มเติมในการพิสูจน์เอกลักษณ์ การช่วยเหลือชาวเนปาลนั้น ส่วนหนึ่งแล้วคนไทยที่อยู่เนปาลก็อีกส่วนหนึ่ง ตั้งแต่วันแรกก็ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือ ทางสถานทูตไทยประจำกรุงกาฎมัณฑุ ในศูนย์นี้ช่วยเหลือคนไทยในเนปาล บูรณาการ  ให้ที่พักต่าง ๆ เพื่อจะบูรณาการให้ได้ ในขณะนี้ก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด จนสามารถที่จะนำคนไทยกลับมาได้ส่วนหนึ่งแล้ว ก็เหลือบางส่วนที่จะทยอยออกมา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่กระทรวงต่างประเทศได้เตรียมการไว้พร้อม ก็ขอชื่นชมด้วย กับกระทรวงอื่น ๆ พอสั่งไป ก็อนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกอย่างก็เดินหน้าได้เลย ผมก็ไม่อยู่ ด้วยซ้ำไป ผมไปประชุมที่ต่างประเทศ ระหว่างนั้นก็โทรศัพท์คุยกันกับท่านรองนายกฯ และก็คุยกับรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ทุกคนพร้อมหมด ผมก็อนุมัติในหลักการสามารถดำเนินการได้โดยทันที

การบริจาคมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเราให้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเพิ่มเติมขณะนี้ก็มีของกระทรวงมหาดไทย ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ ทุกจังหวัด แล้วก็หน่วยทหารต่าง ๆ ก็ได้ ระบุให้ชัดเจน ลงนามหลักฐานให้ชัดเจน จะได้ไม่รั่วไหล อันที่ 2 คือบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทั่วประเทศบัญชี “หัวใจไทย ส่งไปเนปาล” รัฐบาลได้เปิดบัญชีไว้แล้วกับธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล หมายเลขบัญชี 067-0- 10330-6 ทั้งนี้ ผู้บริจาคสามารถนำหนังสือการรับเงินบริจาคที่ออกให้ หรือใบโอนเงินของธนาคาร ที่บริจาคเป็นหลักฐานในการลดหย่องภาษีเงินได้ ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะลดให้ของรัฐบาล ช่องทางนี้

นอกจากนั้น ทางเอกชน เช่น 7-eleven ทุกสาขา ก็ให้ความร่วมมือรับบริจาคเงินเพื่อส่งต่อมายังรัฐบาลด้วยล่าสุดทราบว่ามีเงินยอดเงินบริจาคทั้ง 2 ช่องทางวันที่ 28 เมษายน จำนวน 55 ล้าน 9 แสน 5 หมื่นบาท ที่เหลือก็ยังมีอีกมากมาย ยังไม่สามารถรวม อันนี้เฉพาะเท่าที่มีตัวเงินอยู่ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ที่ร่วมแสดงน้ำใจ คนไทยเราไม่เคยแพ้ชาติไหนในโลก วันนี้เพื่อนเราลำบาก ต้องดูแลเพื่อน ให้ผ่อนคลายทุกข์ของเขา ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จริงใจต่อกันอย่างแท้จริง

สำหรับเรื่องการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในการประชุมสุดยอดอาเซียน ในปีนี้ ครั้งแรก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นประธานการประชุม ก็เป็นการประสานความร่วมมือกับประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความร่วมมือของอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่านับวันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะมีความสำคัญมากขึ้นในเวทีโลก เสียงเราจะดังขึ้น ถ้าเรารวมกันได้ เสียงดัง คนมาก ปริมาณการค้า การลงทุนมากมาย เศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น วันนี้เราต้องเร่งทั้งการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน

ขณะนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น โดยรวมยังไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ก็ยังอ่อนแออยู่พอสมควร ถึงแม้จะดีขึ้นก็อย่างช้า ๆ  เพราะฉะนั้น เราต้องหันมากระชับและสร้างความสำคัญให้กับการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน มิตรประเทศใกล้ก่อน ต่างประเทศไกล ๆ ก็คงทำต่อ จากตลาดบนซึ่งอาจจะเกินความต้องการเขาแล้ว เราก็ต้องไปเจาะตลาดล่าง หรือประเทศอื่น ๆ ประเทศเล็ก ๆ อะไรต่าง ๆ ก็ต้องเข้าเจาะหมด วันนี้เจาะหมดเลยทุกหมู่เกาะ แอฟริกา ความร่วมมือต่าง ๆ มีหมดทุกภูมิภาค ผมได้ให้ทุกกระทรวงไปเดินหน้าแบบนั้น กระทรวงต่างประเทศ วันนี้ก็ต้องเป็นเชิงรุก ต้องรุกทุกเรื่องเหมือนกัน ไปบอกให้เขารู้ว่าเรามีอะไร เขามีอะไร เราจะเชื่อมกันตรงไหน ถ้าเรารวมกันได้ในอาเซียน 625 ล้าน

วันนี้ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปขายประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ในสัดส่วนกว่าร้อยละ 26 ถือว่ามาก  26 ใน 9 ประเทศ เพราะฉะนั้น มูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเราถ้าเราสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกระหว่างกันให้มากขึ้น คือต้องให้เขาด้วย เขามาเราด้วย ไม่อย่างนั้นเกิดการขาดดุลการค้าระหว่างกันมาก ก็ทำให้ประเทศที่จะต้องพัฒนามาก ๆ  เขาก็ต้องถอยหลังอีก วันนี้เราบอกกติกาแล้วว่าเราจะต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน ให้การสนับสนุนเพื่อนกันให้แข็งแกร่งด้วยกัน ถ้าเราแข็งแกร่งทุกประเทศในอาเซียน ก็จะทำให้อาเซียนเข้มแข็งไปด้วย เราจะได้มีเสียงดังอย่างผมว่าพูดอะไรคนเขาก็ฟัง

เพราะฉะนั้น สัปดาห์นี้ ในวันที่ 26 – 28 เมษายน 2558 ผมก็ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นการประชุมแบบเต็มคณะ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ ภายใต้หัวข้อ ประชาชนของเรา ประชาคมของเรา วิสัยทัศน์ของเรา คือของอาเซียน หารือกันหลายเรื่อง เช่น ในเรื่องของการทบทวนพัฒนาการการสร้างประชาคมอาเซียน เร่งรัดการจัดตั้งให้ได้โดยเร็ว ภายในปี 2558 แล้วก็จัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังจากปี 2558 ต่อไป เพราะที่เราเดินมา 20 ปีแล้ว ก็ต้องวาง 10 ปี 20 ปีต่อไปหลังปี 2558 แล้วเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกอาเซียน คณะทำงานต่าง ๆ ทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำต่อผู้นำ ผมได้มีการพบปะพูดคุยกับหลายท่าน กับทุกประเทศ ก็พร้อมจะร่วมมือกับไทย ทุกประเทศ ยืนยัน

เรื่องของการสร้างความใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับประชาชน อันนี้ก็มีความสำคัญ ให้ประชาชนรู้ว่า ประโยชน์ของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน หรือการก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจอาเซียน AEC เป็นอย่างไร เขาจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ต้องให้เขารู้ เข้าใจ ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ การค้าการลงทุน ความเป็นอยู่อะไรต่าง ๆ เขาจะดีขึ้นมาหรือไม่ ด้วยตรงนี้ ตัวเองก็ต้องพัฒนา รัฐก็ต้องอำนวยความสะดวก ในระยะแรก รัฐก็ต้องมากหน่อย วันหน้าเอกชนก็ร่วมมาก ๆ เข้า ทุกคนก็จะเร็วขึ้น

การประชุมครั้งนี้ได้พบปะอย่างที่เรียนไปแล้ว ทั้งผู้นำสมาชิกทุกประเทศ ผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ผู้แทนภาคประชาสังคม แล้วก็ผู้แทนเยาวชนอาเซียน ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองหลายเรื่อง ผมได้พูดถึงการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งได้โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นศูนย์กลางก็คือให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด รัฐก็ต้องอำนวยความสะดวก หาวิธีการต่าง ๆ ทำให้ได้ บางอย่างนั้นเราก็จำเป็นต้องให้เอกชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด วันนี้เราก็ต้องแก้ไขเรื่องกฎกติกาที่ยังไม่ทันสมัย ไม่เป็นธรรมรวมความไปถึงเรื่องการให้ประชาชนในอาเซียนทุกภาคส่วน ถึงผู้ที่มีรายได้น้อยด้วย ผู้ด้อย โอกาส ผมได้เสนอไปในที่ประชุมด้วย ว่าต้องดูแลคนเหล่านี้ด้วย ให้ได้รับประโยชน์ อย่ามองเรื่องการค้าขายขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่อย่างเดียว เพราะอยู่ได้ด้วยประชาชนข้างล่าง ประเทศเราเป็นประเทศที่รายได้ไม่มากนัก กลุ่มอาเซียนด้วยกัน

การเป็นประชาคมอาเซียนนั้น เราได้หารือกันถึงแนวทางต่าง ๆ กับผู้แทนภาคธุรกิจด้วยแนวทางจะทำอย่างไรให้เรามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ รัฐบาลไทย ก็พร้อมอำนวยความสะดวก การค้าการลงทุน ดำเนินการไปหลายเรื่องแล้ว การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน การปรับปรุงด่านศุลกากรต่าง ๆ ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ก็เป็นระยะที่เราทำต่อเนื่องมา วันนี้ก็ต้องเร่งให้เร็ว เพราะสิ้นปีนี้ก็ต้องเริ่มแล้ว เรามีความพร้อมสัก 70-80% แล้วตั้งแต่เราเข้ามาก็เร่งเต็มที่เลย

วันนี้ก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อการแข่งขัน จริง ๆ แล้วก็ ผมไม่อยากใช้คำว่าแข่งขันอย่างเดียว น่าจะเป็น partnership หรือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันดีกว่า ในอาเซียน ถ้าเราเอาประโยชน์มาก ๆ เขาก็อาจะไม่ร่วมมือมากนัก ก็แข่งกันไป ราคาสินค้าก็ถูกลงไป ตัดราคากันเองไม่ได้ คุยกับทุกประเทศไปแล้ว ก็เห็นด้วยกัน ว่าประเทศไหน ถนัดทางไหน อะไรทางไหน ถ้าเหมือนกัน จะปัดสัดส่วนอะไรกันได้หรือไม่ อย่าไปลดราคากันเลย อะไรที่จะร่วมทุนกันได้ก็ร่วมกันไป และแบ่งปันผลประโยชน์

อีกอันหนึ่งก็คือว่า ผมเสนอว่าเราควรจะพัฒนาตราสินค้าอาเซียน ASEAN Brand สำคัญจะได้เป็นหน้าเป็นตา แล้วทำให้เราถูกมองเห็นในสังคมโลก ที่ผ่านมาเขาก็หาว่าเราไม่พัฒนาไม่เข้มแข็ง เทคโนโลยีไม่พออะไรต่าง ๆ ถ้าเราทำมาตรฐานนี้ได้ ในเรื่องของอาหารเป็นหลักก่อน เราจะได้รับการยอมรับมากขึ้น วันนี้หลายอย่างเราจะส่งไปต่างประเทศก็มีปัญหาอีก ผมกำลังเร่งรัด สมาคมต่าง ๆ หรือผู้ตรวจ ผู้รับรองต่าง ๆ ในเรื่องของการรับรองมาตรฐาน ต้องเร่งรัด วันนี้หลายประเทศสนใจผลไม้ ปรากฏว่าใบรับรองมาตรฐานยังไม่เรียบร้อย ผมขอเขาแทบตาย เร่ง ผมบอกทางนี้ บอกทางโทรทัศน์ ทำให้เร็ว ผลไม้ หรือผลิตผลการเกษตรต่าง ๆ อะไรก็แล้วแต่ ที่เราขายเพิ่มได้ ทดแทนข้าวบ้าง ทดแทนยางบ้าง เขาพร้อมซื้อเรา แต่มาตรฐานเรารับรองยังไม่ได้ ไปรีบทำเร็วๆ ด้วย         เพราะฉะนั้น เราต้องส่งเสริมให้ได้ ให้อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของเราส่วนหนึ่ง คงไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งประเทศไม่ได้ แต่เราต้องสร้างทายาทหรือสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Smart Farmer ส่งเสริมการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วย ที่มีส่วนร่วมกันในการบริหารกิจการต่าง ๆ ของครอบครัว คนรุ่นต่อไป เพราะฉะนั้นผมคิดว่าต้องเจอกันตั้งแต่วันนี้ การพบปะของเยาวชนคงไม่เฉพาะมาคุยกันทั่วไป ไม่ใช่ อาจจะจัดเป็นกลุ่มก็ได้ เป็นอาชีพก็ได้ หรือให้เป็นภาค ๆ ก็ได้ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร ภาคต่าง ๆ เพื่อจะรู้จักกันวันนี้ เถ้าแก่วันนี้ ก็คือพ่อแม่ วันหน้าก็คือลูกหลาน โตมาก็ต้องเป็นเถ้าแก่ตามไป เรียกว่าสร้างเถ้าแก่ใหม่ตั้งแต่วันนี้ แล้ววันหน้าจะได้รู้จักกัน จะได้ไม่แข่งขันตัดราคากัน ถือว่าเป็นสมาชิกร่วมกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนของการเจริญเติบโตไปด้วยกันนั้น ผมได้หารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศ เช่น ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ก็มีความเห็นตรงกันว่าเราจะต้องผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมก็ได้เรียนกับผู้นำว่า ผมก็จะสั่งของผม ท่านก็ไปสั่งของท่าน รัฐบาลก็ต้องไปอำนวยความสะดวก เอกชนก็ไปเดินหน้า ก็ตกลงกันอย่างนี้ ของเราผมเร่งให้ทุกวัน บางอันเราก็ยังไม่ค่อยพร้อมเท่าไร แต่ผมก็เร่งให้พร้อมด้วย เราก็ต้องพร้อมด้วย แล้วต่างชาติก็ต้องพร้อมด้วย ถึงจะได้เจอกันได้ แล้วก็ขายกันได้ซะทีพูดกันมานานแล้ว ด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน การร่วมมือแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ได้เชิญชวนมา ต่างคนต่างชวนมาร่วมลงทุนในแต่ละประเทศ โครงการพัฒนาต่าง ๆ เราไปเขา เขามาเรา โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเราก็ต้องบูรณาการการเชื่อมโยง โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ก่อนกลับมาเมืองไทยนั้น ผมได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย IMT-GT Summit  ครั้งที่ 9 ได้พูดคุยกันถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนงานตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี 2555-2558 เช่น ในเรื่องของการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งระหว่าง 3 ประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการค้าระหว่างกัน  2. คือการพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของทั้ง 3 ประเทศ คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมันหรืออื่น ๆ ด้วย แล้วก็ประสานความร่วมมือในการสร้างตลาดยางพาราร่วมกัน พัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันให้ทัดเทียมกัน แล้วก็มีเรื่อง Rubber City ด้วย ของเราก็สงขลา ของเขาก็ในฝั่งตรงข้ามเรา เพราะฉะนั้นความร่วมมือในด้านการตรวจรับรอง กำหนดมารฐานสินค้า ฮาลาล อันนี้สำคัญ สินค้าฮาลาล เรามีขีดความสามารถสูง แต่เราก็ไปร่วมมือกับประเทศที่เขามีเศรษฐกิจด้านนี้เข้มแข็งกว่าเรา ในลักษณะเป็นพันธมิตรแล้วกัน จะได้นำพาให้เศรษฐกิจประเทศไทยดีด้วยทั้งคนไทยพุทธ ไทยมุสลิมก็ดีไปด้วยกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้นการสร้างความพันธ์อันดีกับประชาคมโลกเราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่เราเข้ามา เราตระหนักดีว่าเราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เราก็จะพยายามแสดงจุดยืนให้สังคมโลกเขาเห็นมาว่า เราจะใช้สติปัญหาของเราขณะนี้เขามาบริหารประเทศด้วยความจำเป็น และสร้างความสงบเรียบร้อย สร้างเสถียรภาพให้ได้ก่อน จากนั้นเราก็จะนำแนวทางในการปฏิบัติงาน ในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เคยปฏิบัติกันมาแล้วมาปรับปรุง มาประยุกต์ มาปฏิรูป มาทำใหม่ บูรณาการ ประสานงาน จะได้เร็วขึ้น เป็นรูปธรรม เราตั้งใจทำ ถึงแม้ว่าจะไม่ครบหมด จบหมด แต่ผมถือว่าผมได้เริ่มเกือบทุกอย่างให้แล้ว บางอย่างก็เร็ว บางอย่างก็ช้า บางอย่าก็อยู่ระหว่างตัดสินใจกันอยู่ ที่เข้ามาก็ปัญหามากมาย เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดีนัก โลกก็แย่ ในไทยก็แย่ แล้วก็รายได้เราก็ตกลง  2  อย่างหลัก ๆ ก็คือเรื่องสินค้าการเกษตร ส่งไปราคาตก 2. คือน้ำมันลด ลดก็ภาษีน้ำมันเราก็ได้น้อยลงไง รายได้รัฐก็ลดลง คือที่หนักที่สุดก็คือน้ำมัน เพราะน้ำมันเรานำเข้าส่งออกมากทั้งคู่ คำว่าส่งออกคือน้ำมันที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งใช้ได้น้อย ที่เรากลั่นมาแยกเป็นหลายส่วนด้วยกัน อันไหนไม่ใช้ก็ส่งออก ที่ต้องใช้ในประเทศ ใช้หมด แล้วต้องซื้อเขามาเพิ่มอีก เพราะฉะนั้นทั้งซื้อทั้งขาย ทั้งคู่ เก็บภาษีไม่ได้ทั้งคู่ เพราะว่าราคาลดลง ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย

นอกจากเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ก็มีเรื่องความมั่นคง การจัดระเบียบ ป่าไม้อะไรต่าง ๆ มาตรฐานการบิน การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย ข้อสำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทุกอย่างตีกันหมดตอนนี้ เพราะรื้อทั้งหมด ก็อย่านำมาเป็นอารมณ์กันมากนักแล้วกัน สิ่งสำคัญวันนี้ผมอยากให้มองดูด้านเศรษฐกิจก่อนเป็นหลักกับความมั่นคง อันนี้ต้องแก้ให้ได้ วันนี้ก็ได้มามากพอสมควร แต่เศรษฐกิจไม่แน่นอน ไม่เร็วนัก เพราะขึ้นอยู่กับในประเทศ ต่างประเทศด้วย ภูมิภาคเราก็ด้วย ถ้าเข้มแข็งทั้งหมด แก้ได้หมด ราคาน้ำมันก็สำคัญ ถ้าแพงไป สินค้าก็แพงขึ้น แต่ก็เก็บเงินได้มากขึ้น แต่ถ้าลดลงอย่างนี้ ประชาชนก็พอใจ แต่เศรษฐกิจตกลง ทำอย่างไร ก็กำลังหาทางอยู่ ไม่เคยหนีปัญหา รับฟังทุกที่ แล้วก็จะพยายามแก้ไข เร่งดำเนินการ

ผมคิดว่าวิธีกรแก้ปัญหาของเรานั้น คงไม่แตกต่างจากคนอื่นมากนักหรอก เพียงแต่ว่าเราจะต้องทำให้เร็วขึ้น เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สร้างโครงสร้างต่าง ๆ ให้แข็งแรงพัฒนาต่าง ๆ เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ทันสมัยมากขึ้น สื่อสารอย่างต่อเนื่อง ลดความระแวงสงสัย การหวาดระแวงระหว่างกันของแต่ละประเทศให้มากที่สุด บนพื้นฐานความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แล้วก็ลดความหวาดระแวงของประชาชนของเรา กับรัฐบาลเราด้วย ขอให้มั่นใจว่าเราจะดำเนินการทุกอย่าง ด้วยความจริงใจ โปร่งใส แล้วก็เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ

เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีของไทย ยินดี ดีใจ พี่น้องให้ความสำคัญ ประเพณีและวัฒนธรรมของไทยมากขึ้น ก็ไม่อยากให้เป็นกระแส ต้องการเห็นการรักความเป็นไทย สืบเนื่องต่อไปอีกนานเท่านาน และมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์เฉพาะของชาติเรานั้น อาจจะมีการประยุกต์บ้าง อะไรบ้างแต่ก็ไทยแท้ ต้องอย่าทิ้งพื้นฐานของเรา ไม่ใช้เปลี่ยนจนหมดเลย มองอย่างไรก็ไม่ใช่ไทย คล้าย ๆ ประสมประเสกันอย่างไร ระมัดระวังหน่อยแล้วกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยทบทวนดูเล็กน้อยว่าอะไรที่ประยุกต์ไปมาก ๆ ก็ไม่ใช่ เดี๋ยวจะไปเหมือน ๆ กับคนนั้นคนนี้ ทำให้การท่องเที่ยว ความประทับใจ ความน่าสนใจของเราหายไป ก็อยากให้ซึมซับเข้ามา โดยเฉพาะเด็ก ๆ เยาวชน ให้เขาภูมิใจ ในความเป็นคนไทย อย่าไปเลียนแบบเขามากนัก ตามโซเชียลมีเดีย ตามการสื่อสารที่ทันสมัย เทคโนโลยีที่เราไปควบคุมไม่ได้

เพราะฉะนั้น เขาพร้อมจะทำให้เราดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนของเรา ว่าจะใช้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ไม่ให้เกิดการผลเสียกับตัวเองกับครอบครัว กับประเทศชาติ อย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้ได้ทั้งหมดจะทำให้การบริโภค การมาพักผ่อน ท่องเที่ยวในประเทศเรามากขึ้น ก็จะช่วยให้มีธุรกิจที่ต่อเนื่องกันมากขึ้น การค้าการบริการที่พักโรงแรม อาหารการกินก็ดีหมด ต้องช่วยกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วย ก็จะทำให้ทุกคนมีรายได้ ในชุมชนต่าง ๆ แล้วก็เผยแพร่สิ่งดี ๆ ของเราไปทั่วโลกด้วย

ที่ผ่านมานั้น ผมคงไม่กล่าวว่าเป็นผลงานรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนมีส่วนร่วม รัฐบาล ข้าราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น แล้วก็ประชาชนทุกภาคส่วน ช่วยเรามาตลอดระยะเวลาของรัฐบาล 6  เดือนกว่า ๆ  แล้วก็รวมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกือบปีแล้ว ทุกคนช่วยกันเต็มที่ หยุดเลือดไม่ไหลอีก แล้วก็เติมน้ำเกลือ เติมอะไรกันอยู่ก็เริ่มแข็งแรงขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่จะให้ทำใจ ไปวิ่งเลยทันทีไม่ได้ เพราะนอนซมมานานแล้ว เพราะฉะนั้นช่วยกันบอกต่อในเรื่องที่ดี ๆ ฟังบ้างว่ามีอะไรพัฒนาไปบ้าง อะไรที่เหมาะสมถูกต้อง ท่านก็สนับสนุนเรา อันไหนที่คิดว่ายังไม่ครบถ้วน ก็เสนอมาบางอย่างต้องฟังเหตุฟังผลกัน ผมก็ไม่สามารถจะอธิบายทีละคน ทีละคนได้ ก็ถามมา ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งทุกวัน ก็ถามมา มีปัญหาอะไรก็แจ้งมา ที่ศูนย์ดำรงธรรมก็เหมือนกัน ส่วนราชการทุกส่วนพร้อมตอบคำถามท่าน ไม่ได้ก็มาถามผม ส่งถึงผมเอง วันนี้ก็รายงานทุกอาทิตย์ ทุกสัปดาห์

อีกหนึ่งโครงการดี ๆ สัปดาห์นี้ก็คือ โครงการ ณ สยาม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้เด็ก ๆ เยาวชน ได้มีพื้นที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ แสดงความรู้ความสามารถ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องดนตรีศิลปวัฒนธรรม ได้มีการเชิญศิลปินแห่งชาติ มาบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ มีการจัดโครงการขึ้น ณ ศูนย์การค้าสยามสแควร์ ในทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และ 3 ของเดือน  มีไปจนถึงเดือนมิถุนายน ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในสื่อออนไลน์ และพาลูกหลานของท่านไปร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์กันมาก ๆ

ก่อนที่ผมจะได้เชิญ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาพูดคุยทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนนั้น ผมอยากจะให้ทุกคนร่วมแสดงความยินดีให้กับน้องรัชนก อินทนนท์ หรือน้องเมย์ ที่เป็นแชมป์แบดมินตันเอเชีย อันนี้ต้องให้กำลังใจ ผมก็บอกพูดคุยกับทั้งผู้สนับสนุนและทางรัฐมนตรี เรามักจะพอเด็กเราได้รางวัลต่าง ๆ ทุกคนก็คาดหวังทุกคนก็กดดัน จนเด็กมี Tension (ความตึงเครียด/กดดัน)  ทำให้การเล่นกีฬาลดลง เพราะฉะนั้นต้องให้กำลังเขา เล่นให้เต็มที่ อย่ากังวล ชนะก็ได้ แพ้ก็ไม่เป็นไร ก็เอาใหม่ ถ้าไปกดดันมาก ๆ อีกหน่อยคนก็ไม่อยากเข้ามากดดัน บางอย่างเราเสียหายไปบ้างแล้วเหมือนกัน กีฬาอื่น ๆ ก็มี พอชนะก็โอ๋กันไปโอ๋กันมา พอแพ้ก็ทิ้งเลย แบบนี้ไม่ได้ต้องแก้ให้เขาด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือไม่ ต้องนำโค้ดมาเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องทำใหม่หมดต้องมีนักกีฬา 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือสมาคมไปคัดมา อันที่สองช้างเผือกส่งเข้ามาจากต่างจังหวัดมา แล้วมาแข่งกันข้างในกันอีกที จะได้นักกีฬาตัวจริง ตัวสำรอง ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าเอาแต่พวก ๆ อีก ผมสั่งกับรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาไปแล้ว

ลำดับต่อไปคงเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ เดี๋ยวท่านรองนายกรัฐมนตรี คงมีเรื่องเล่าให้ฟังมากมาย ท่านก็ทำหลายอย่าง ทุกรองนายกฯ ท่านทำทุกฝ่าย 5 ฝ่ายด้วยกัน ช่วยผมมาทุกท่าน ไปบูรณาการขับเคลื่อนในรัฐมนตรีทุกระทรวง และข้าราชการทุกกระทรวง แน่นอนยังไม่ 100% แน่นอนมีปัญหา แน่นอนต้องมีคนไม่เห็นด้วย แต่ให้ท่านดูความตั้งใจของผมก็แล้วกัน ตั้งใจของรัฐบาลเราว่า ตั้งใจแค่ไหน แล้วเราพูดเกี่ยวข้องกับคนไหนบ้าง เพราะฉะนั้นเกี่ยวข้องกับคนทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ว่าจะรวยมากรวยน้อย มีส่วนร่วมทั้งสิ้นในตรงนี้ ที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติ รวมความไปถึงเอกชนที่อยู่ต่างประเทศ คนไทยในต่างประเทศด้วย ผมไปต่างประเทศ ชื่นใจ ทุกคนมาทักทาย ทุกคนมาให้กำลังใจผมหมด ฝากประเทศไทยไว้กับผม ผมก็น้ำตาจะไหลเหมือนกันบางที ก็กดดันผมเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร ผมจะทำให้ทุกคน ขอให้รักกัน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

                                                                                                ----------------------------

                                                                                            ที่มา : http://www.thaigov.go.th/