สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันหยุดเทศกาล “สงกรานต์” ของคนไทย ซึ่งก็เป็นวันที่สำคัญต่อสถานบันครอบครัวด้วย วันผู้สูงอายุแห่งชาติ (13 เมษายน) และวันครอบครัวไทย (14 เมษายน) ผมขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ กลับไปหาพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย รดน้ำดำหัว ขอพรจากผู้มีบุญคุณ สวดมนต์ไหว้พระขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตด้วย
รัฐบาลมีความห่วงใย ในเรื่องของการสัญจรไป-มา การเดินทางทั้งในส่วนของทางบก ทางเรือ ทางอากาศก็เป็นห่วง เราได้มีการรณรงค์ผ่านโครงการ “แล้งนี้ ไม่แล้งน้ำใจ ขับขี่ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ ลดการใช้โลหิต” คือหมายความว่า อย่าให้ต้องมีการท่องเที่ยวกันแล้วเสียเลือดเนื้อ ต้องการมีการใช้บริการเลือดเป็นจำนวนมาก เหมือนกับทุก ๆ ปี ที่ผ่านมา อยากให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขถ้วนหน้า
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัคร ตำรวจ ทหาร ที่เสียสละเวลาทุมเทแรงกาย ในห้วงวันหยุดยาว เพื่อจะดูแลความปลอดภัย ดูแลบ้านให้กับประชาชน การบริการจัดจุดพักรถ พักสายตา จุดบริการประชาชน ซ่อมยานพาหนะ มีการบริการทางการแพทย์ การตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ การตั้งป้ายจราจร ป้ายบอกทางและเส้นทางลัดอื่น ๆ จะช่วยให้ทุกคนได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย บรรดาคนขับรถสิบล้อ พนักงานขับรถสาธารณะ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มสุรา เพราะชีวิตทุกคนฝากไว้กับท่าน ลองดูว่าเราจะขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย มีความสุข ลดอันตรายต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น ท่านจะต้องทำให้เรารู้สึกว่าประเทศชาติของเรานั้น น่าอยู่ขนาดไหน
นอกจากนั้น ก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของไทย รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการรณรงค์ โครงการให้ประชาชนเล่นน้ำในประเพณีสงกรานต์ตามวิถีปฏิบัติอย่างเหมาะสม เช่น การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลม กิริยาไม่สุภาพ ที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา และให้ต่างชาติประทับใจ พร้อมทั้งรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไหม ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง เสื้อลายดอก ต้องขอความร่วมมือในการงดจำหน่ายสุรา งดดื่มเครื่องดองของเมา ในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมงานสงกรานต์ และขอความร่วมมือกับบรรดาประชาชนที่เล่นน้ำก็จะต้องไม่ให้มีสิ่งเจือปน แป้ง น้ำแข็ง รวมทั้งงดการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง อย่าให้ผิดกฎหมายแล้วกัน หรืออุปกรณ์เล่นน้ำอื่น ๆ ที่อาจเกิดอันตราย รวมความถึงไม่ขับรถกระบะบรรทุกน้ำไปในที่ชุมชน หรือบริเวณจัดงาน โดยรณรงค์ให้ใช้ขันน้ำตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม การส่งเสริมภาพลักษณ์ด้วยกิจกรรม การแสดงที่เหมาะสมในการเล่นน้ำสงกรานต์ ให้งดการแสดง หรือการเต้นที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย อย่างเช่นที่ผ่านมาทุกครั้งก็จะมีบุคคลเหล่านี้อยู่ เพราะฉะนั้นขอให้มีการกำหนดเวลาการเล่นน้ำที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการจราจร และป้องกันการเกิดอาชญากรรมในยามวิกาลด้วย
ช่วงนี้อากาศร้อน เรามีความเสี่ยงเรื่องพายุฤดูร้อน เพราะ 2-3 ครั้งที่ผ่านมา มีอันตรายเกิดขึ้น เราก็เตือนไปแล้ว แต่ก็ยังมีจุดบกพร่องอยู่ เพราะฉะนั้นหลายพื้นที่ของประเทศ จะประสบปัญหาฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตก ผมขอให้พี่น้องทุกคนรักษาสุขภาพ
ในส่วนของรัฐบาล ผมได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ตรวจสอบความเสี่ยง และดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุก เช่น การตรวจสอบและแก้ไขโครงสร้างของป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า ต้นไม้ใหญ่ริมทาง ไม่ให้เกิดความเสียหาย โค่นล้มลงมา มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเตรียมคนและเครื่องมือให้พร้อม สำหรับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน เยียวยา เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วอย่างทันที ช่วยกันดูแล
รวมความไปถึงเรื่องขยะขณะนี้ก็มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ท่อระบายเต็มไปด้วยขยะ ซึ่งเราก็คงโทษเจ้าหน้าฝ่ายเดียวไม่ได้ ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน ผมได้รับรายงานว่าในแต่ละวันนั้น ในคลองบางคลองที่มีเครื่องมือในการกำจัดขยะ รวบรวมขยะ ในแต่ละวันมีขยะที่เป็นถุงพลาสติก หรือของที่ทำให้ท่ออุดตันเป็นจำนวนมาก วันละประมาณ 30 ตัน อุดตันทำให้ระบายน้ำไม่ออกซึ่งจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคลองที่มีประชาชนอยู่อาศัยตามแนวคลองทั้งสิ้น จะทิ้งสิ่งต่าง ๆ ลงไปในลำคลอง หรือแม้กระทั่งขยะตามบ้านเรือนก็ทิ้งลงไปแล้วก็ไหลไปอุดท่อ ที่น้ำจะลงไปในท่อใหญ่ก็เกิดปัญหาหมด น้ำก็ท่วม ถ้าไม่ช่วยกันแบบนี้ก็ไปไม่ไหวหมด รัฐบาลก็ทำไม่ไหว กทม. ก็ทำไม่ไหว อย่าโทษกันไปกันมาแล้วกัน ขอให้ร่วมมือกันทำ
เรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ เมื่อวันพุธที่ 8 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และคณะ ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ก็นับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 25 ปี ของนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ทั้งนี้ รัสเซียกับไทยเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน มาอย่างยาวนานเกือบ 120 ปี แล้ว ปัจจุบันก็ประมาณ 118 ปี ปี 2560 จะครบ 120 ปี
ในการเดินทางมาไทยในครั้งนี้ จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดให้มากขึ้น ยาวนาน แต่ค่อนข้างที่จะมีความสัมพันธ์กันในแต่ละมิติค่อนข้างที่จะน้อย วันนี้เราจะต้องเพิ่มให้มากขึ้น ก็จะเป็นการยกระดับความร่วมมือในทุกมิติ บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยผมและท่านนายกรัฐมนตรีเมดเวเดฟ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนามใน MOU ภาครัฐ 5 ฉบับ จะครอบคลุมในเจตนารมณ์ของเรา ของผู้นำสองประเทศ และของสองประเทศนั้นด้วย เรื่องของการลงทุน เรื่องพลังงาน เรื่องวัฒนธรรม เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการต่อต้านยาเสพติด ซึ่งผมก็ได้เรียนให้พี่น้องทราบพอสังเขปไปบ้างแล้ว ก็จะเพิ่มเติมในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ จะร่วมกันผลักดันให้การค้าทวิภาคีเติบโตขึ้น จาก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ให้เป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปีหน้า ด้วยการเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน มีการลดอุปสรรค การอำนวยความสะดวกทางการค้า และผมก็ขอให้นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ได้พิจารณานำเข้ายางพารา สินค้าเกษตรอื่น ๆ และอาหาร เช่น ข้าว เนื้อหมูแช่แข็ง ผัก และผลไม้สด รวมทั้งได้เชิญชวนรัสเซียให้เข้ามาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ของไทย ตามยุทธศาสตร์แผนการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนผู้ประกอบการของไทยก็มีความสนใจที่จะไปลงทุนในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอาหารในรัสเซียเพิ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แก่นักลงทุนภาคเอกชนของแต่ละฝ่ายอย่างเต็มที่
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัสเซียในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าในด้านนี้สูงกว่าเรามาก ทั้งในด้านการศึกษาและการวิจัย และการนำผลการวิจัยมาผลิตเป็นสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์ เราจะส่งเสริมระหว่างกันให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับศูนย์นวัตกรรมสโคลโกโว อินโนเวชั่น เซนเตอร์ (Skolkovo Innovation Center) นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องในอีกหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การแพทย์ และอวกาศ การสานต่อความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจปิโตรเลียม และการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ และการร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมนำทางอีกด้วย
ก้าวแรกของความร่วมมือจะเป็นแนวทางในการสานต่อความร่วมมือต่อไปอย่างยั่งยืน และเป็นที่น่ายินดี ก็คือ มอสโก รีเจียน สเตด ยูนิเวอร์ซิตี้ (Moscow Region State University) กับ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการพัฒนาหลักสูตรมัคคุเทศก์และภาษารัสเซีย
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงของภาคเอกชนอีก 5 ฉบับ เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย ในด้าน 1. การสำรวจตลาดและกระจายสินค้ารัสเซียในไทย 2. การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจ 3. ความร่วมมือด้านการลงทุนในประเทศที่สาม 4. ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมนำทาง 5. ความร่วมมือด้านการศึกษา ในสาขาการบริหารจัดการท่องเที่ยวและการโรงแรม คือต้องเพิ่มทั้งสองด้าน ทั้งเราไปหาเขา เขามาหาเราด้วยทั้งหมด ทุกประเด็น
ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้ขยายผลความร่วมมือดังกล่าวนั้น ไปสู่แผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ให้เร่งดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วย ความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย ซึ่งเราจะมีการประชุมในกลางปีนี้ ก็ต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อน จะได้ก้าวหน้าโดยทันที ไม่ใช่ต้องรอไปประชุมอีกครั้ง และมาสั่งกันอีกครั้ง ไม่เอา ผมได้ตกลงกับท่านแล้วว่าในระหว่างที่ก่อนจะประชุมหาข้อมูล หาข้อยุติให้ได้เรียบร้อย แล้วจะได้ดำเนินการได้ทันที
สำหรับข้อตกลงอื่น ๆ กับประเทศอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เราก็จะเร่งรัดขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และตรงความต้องการของเรา แล้วก็ให้ความเป็นธรรมกับมิตรประเทศเหล่านั้นด้วย เราพร้อมจะเป็นมิตรกับทุกประเทศในโลกนี้ เราใช้หลักการคือพื้นฐานแห่งความไว้วางใจ ลดความหวาดระแวง และมีผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ทุกประเทศมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ ประเทศเล็ก
เรื่องภาพรวมทางเศรษฐกิจ วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังคงทรงตัวอยู่ ตลาดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปเศรษฐกิจยังหดตัว อัตราการว่างงานสูง เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อย ๆ ฟื้นตัว เศรษฐกิจจีนชะลอการขยายตัวลงบ้างเล็กน้อย และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ชะลอตัวเช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นทุกประเทศ ทุกประเทศก็พยายามจะแก้ไขปัญหาอยู่ ประเทศไทยก็อาจจะเผชิญมากหน่อย เพราะเราต้องพึงพาต่างประเทศ อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำไป
วันนี้เราต้องผลิตเอง ใช้เอง แล้วก็เพิ่มมูลค่าของสินค้าต่าง ๆ เหล่านั้นให้มีราคาสูงขึ้น เพื่อเป็นรายได้ของประเทศ หากเราไม่แข็งแรงพอ เราก็ต้องนำเข้าสินค้าอื่น ๆ เขาเข้ามาก็ทำให้มูลค่าของสินค้านำเข้าสูงขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกเราก็ส่งได้น้อยลง ราคาตกต่ำ โดยเฉพาะสินค้าด้านเกษตรกรรม อันนี้ต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่สามารถจะถ่วงดุลกันได้ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเราซ้ำซ้อน เราต้องสร้างความเข้มแข็งก่อน
วันนี้เศรษฐกิจของเราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองของต่างประเทศ ในประเทศก็พยายามเข้าใจกัน ต่างประเทศเขามองเราอย่างไร ขณะนี้มีบริษัทจัดลำดับของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น บริษัท เจแปน เครดิต เรตติ้ง เอเยนซี (JCR) ของญี่ปุ่น ได้ประกาศ “ความน่าเชื่อถือ” ของตราสารหนี้รัฐบาลไทย โดยปรับมุมมองจาก “ลบ” เป็น “มีเสถียรภาพ”
สำหรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมว่า ราคาสินค้าในภาพรวม “ลดลง” ร้อยละ 0.57 บางอย่างก็ลดมากลดน้อยก็ถัวเฉลี่ยกันไปก็เป็น 0.57 หรือ “ต่ำที่สุด” ในรอบ 5 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถูกลง เราก็ไปควบคุมดูแลด้วย ถ้าต้นไม่เพิ่มขึ้น ก็ไม่สมควรที่จะขึ้นราคา ถ้าขึ้นราคาก็ต้องดำเนินการต่อไปในทางกฎหมายบ้างอะไรบ้าง ก็ต้องขอร้องกัน แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าราคาเชื้อเพลิงจะถูกลงก็ต้องประหยัดกัน ประหยัดการใช้พลังงานบ้าง เราก็จะช่วยลดการทำให้โลกร้อนด้วย
ภาคอุตสาหกรรม ล่าสุดผมได้รับรายงานว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ ระดับที่สูงที่สุดในรอบ 23 เดือน เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร การกลั่นน้ำมัน รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็ส่งสัญญาณที่ดีดูจากการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก ในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว กว่าร้อยละ 11.3 นอกจากนี้ ยอดการจองรถยนต์ ในงาน Motor Show ที่พึ่งจะผ่านไป มีจำนวนประมาณ 37,000 คัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าตัวเลขจะน้อยลง แต่ก็เป็นรถยนต์ที่มีราคาสูงกว่า 1 ล้านบาท แสดงว่าคนไทยก็ยังมีสตางค์ และไปซื้อรถยนต์ที่มีราคาสูงขึ้น ถึงแม้ว่าราคารถยนต์ขนาดเล็กราคาถูกจะน้อยลง อันนี้ต้องดูว่า demand เป็น demand แท้ หรือเป็น demand เทียม ในช่วงที่ผ่านมาผมคงไม่ได้พูดอีกแล้ว เพราะฉะนั้นราคาที่ค้าขายรถยนต์ในปีนี้ คนดูมากขึ้น ขายรถน้อยลง แต่เม็ดเงิน จำนวน 46,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้ต่ำไปกว่าปีที่ผ่านมา
ภาคเกษตรกรรม รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็ง ให้เกษตรกรไทยมีความมั่นคงในอาชีพ อย่างยั่งยืน เราจะเน้นฤดูการใหม่นี้ ด้วยการเข้าไปดูแลทั้งระบบให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง จากขั้นตอนการผลิตจนถึงการตลาด การบริโภคภายในประเทศ มาตรการในการลดต้นทุนการผลิตนั้น รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการให้ลดราคาปุ๋ยเคมี ได้เรียกบริษัทประกอบการปุ๋ยมาพบ ก็จริง ๆ แล้ว เราอยากให้ใช้น้อยที่สุด ไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่ก็จำเป็นเพราะดินบ้านเราใช้ปุ๋ยเคมีมานาน วันนี้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวบางทีก็ไม่ฟื้น ก็ต้องผสมไปก่อนให้ลดลง แล้วถ้าต่อไปไม่ต้องใช้เลยได้ก็ดี บางพื้นที่ก็ไม่ต้องใช้ได้ และเราก็ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาเอง หรือขายกันเองให้เกษตรกรผลิต หรือรัฐจะผลิตก็ได้ วันนี้ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรฯ ไปเพิ่มเติมในเรื่องของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ในรูปแบบสหกรณ์ หรือชุมชน
เรื่องของสารกำจัดศัตรูพืช ก็มีการผลิตหลายอย่างออกมา ทั้งในส่วนของยาเคมี ในส่วนของแมลงกำจัดโรค และเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และราคาถูก และจะได้ส่งเสริมให้ประชาชนหรือเกษตรกรได้ไปเพาะปลูกที่มีราคา ที่มีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องควบคุม ไม่ใช่เปลี่ยนพฤติกรรมไปปลูกที่มีราคาแพง ราคาสูง คุณภาพสูงอย่างเดียว แล้วก็ปลูกกันมากเกินไปอีก ต้องระวังเรื่องข้าวไรเบอรี่เหมือนกัน เพราะวันนี้ก็ปลูกกันใหญ่โต เดี๋ยวตลาดต้องการแค่ไหนอย่างไร เดี๋ยวล้นตลาดอีก เพราะฉะนั้นต้องแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน แบ่งกลุ่ม สร้างความเข้าใจ สหกรณ์ไปดูแล รัฐบาลก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแล ว่าพื้นที่ไหนควรปลูกอะไรต่าง ๆ แล้วก็มารวมดูว่าเราจะมีความต้องการขนาดไหนในประเทศ มีความต้องการขนาดไหนที่จะขายต่างประเทศ ที่เหลือเราควรจะสำรองไว้หรือไม่ กรณีที่ขาดแคลนน้ำ ในห้วงฤดูกาลต่อไป ต้องมีสำรอง มีแผนเผชิญเหตุเหล่านี้ ไม่ใช่ผลิตอย่างเดียวแล้วก็เก็บ แล้วก็ไปอุดหนุนกันเข้ามาแล้วเก็บไว้ในคลัง ไม่ใช่ความยั่งยืน เราพูดไปถึงค่าบริการรถเกี่ยว รถตัด รถเกรด ทุกอย่าง
วันนี้เราต้องใช้เทคโนโลยี ปัญหาก็คือว่าเกษตรไม่มีความสามารถเพียงพอ เป็นแปลงนาขนาดเล็ก ก็ต้องรวมแปลงนาให้ใหญ่ขึ้น ความหมายคือนำทุกแปลงมารวมกัน ก็เป็นของใครของมันเหมือนเดิม เพียงแต่ใหญ่ขึ้น จะได้มีอำนาจในการต่อรองกัน ราคาในการใช้เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ ค่าเช่าที่นาก็เหมือนกันต้องสำรวจให้ได้ว่าเป็นที่นาเช่า หรือที่นาของตัวเอง และเราก็มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเช่าอยู่แล้ว พ.ร.บ. การทวงถามหนี้สินให้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องร่วมมือกัน ถ้ายังรักษาผลประโยชน์กันเอง นายทุนก็ไม่ยอมเปิดเผย หรือก็ไปให้เกษตรกรได้ไปแสดงตัวกับทางราชการ หรือกับหน่วยงานแทนตัวเอง แล้วก็รับผลประโยชน์ทั้งสิ้นไป ผมว่าไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเกษตรกรคิดว่าจะแก้ปัญหาแบบยั่งยืนท่านต้องบอกความจริง ท่านอย่าไปช่วยเขา ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่ให้ท่านเช่าที่ต่อไป เพราะเรามี พ.ร.บ. เรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ต้องคุ้มครองทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า การไม่ให้เช่าที่นั้นต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่ใช่ไม่ให้ตั้งแต่วันนี้ พอไม่พอใจกันก็ไม่ให้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรก็ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย ถ้ามีปัญหาเหล่านี้ขอให้ไปแจ้งศูนย์ดำรงธรรมได้โดยทันที หรือว่าศูนย์การเกษตรใน 800 กว่าแห่ง รับแจ้งตรงนี้ทั้งหมดแล้วผมจะดำเนินการแก้ไขให้โดยทันที ท่านต้องช่วยเรา ท่านอย่าปกปิดซึ่งกันและกันเอาประโยชน์แต่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งไม่ได้ วันนี้ต้องเผื่อแผ่แบ่งปัน
เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วก็พันธุ์อ้อย พันธุ์มันสำปะหลังอะไรต่าง ๆ ต้องแก้ไขหมดแล้วนี้มีการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มเติมอีก 15 ศูนย์ ใน 15 จังหวัด เพื่อจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่รักษาคุณภาพข้าวไทยให้ได้ แล้วก็ในเรื่องของมัน ของอ้อย สับปะรด ก็สั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหาพันธุ์ที่เหมาะสม ไม่ใช่เฉพาะป้อนโรงงานอย่างเดียวอาจจะต้องนำไปสู่การผลิตไบโอดีเซลเพิ่ม เกี่ยวกับเรื่องการที่นำสับปะรดที่มีคุณภาพมารับประทาน แล้วส่งเป็นผลไม้ส่งออกต่างประเทศ วันนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นสับปะรดที่ปลูกส่งโรงงานทั้งสิ้น พอโรงงานเกินความต้องการแล้ว คราวนี้ก็ขายให้ใครไม่ได้ เพราะ กินอร่อย ๆ ไม่ได้ คนละอย่างกัน วันนี้ก็เลยให้ปรับพื้นที่แล้วจัดหาพันธุ์ใหม่ให้ดี
มันสำปะหลังก็ต้องหาพันธุ์ที่มีคุณภาพ หัวใหญ่ ใช้น้ำน้อย อะไรเหล่านี้ ต้องลดพื้นที่ให้ได้แล้วเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของ Demand ที่เรากำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นการผลิตหรือ Supply มากเกินไป ทุกอย่างเลยทั้งปาล์มน้ำมันอีกอะไรอีก ซึ่งปาล์มน้ำมันคงต้องสนับสนุนให้ปลูกเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก่อนให้ปลูกปาล์มน้ำมัน ต้องไปสำรวจก่อนว่า กระบวนการพร้อมหรือยัง เช่น พลังงาน ก็ต้องไปดูว่ากระบวนการผลติน้ำมันไบโอดีเซลพร้อมหรือยัง จะได้เปลี่ยนจากการปลูกยางมาเป็นปลูกปาล์ม แล้วนำน้ำมันปาล์มมาผสมในน้ำมันดีเซล เป็น B5 B7 ต่อไปอาจต้องเป็น B10 ในอนาคต คือ ผสมถึง 10%
วันนี้ตรงนี้ยังไม่พร้อม เพราะฉะนั้นต้องไปเตรียมกระบวนการผลิตตรงนี้ให้ได้ ถ้าได้ราคาปาล์มก็สูงขึ้น ยางก็ลดลง ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อเราใช้ในประเทศ เรามีการใช้น้ำมันดีเซลมาก ถ้าเราผลิตน้ำมันดีเซลได้เองหรือเอาน้ำมันมาผสมเป็นดีเซลนี้น้อยลงถ้า 5% 7% 10% ต่างกันอยู่แล้วแต่เรายังไม่พร้อม ความต่อเนื่องยังไม่มี พอผลิตแล้วก็ต้องดูว่าราคาต้นทุนเท่าไหร่ ควรจะเท่าไหร่ ควรจะถูกกว่าน้ำมันทั่วไปหรือไม่ ที่ผลิตจากปิโตรเลียม ต้องคำนวณให้หมด ไม่อย่างนั้นคนก็ไม่นิยม พอผลิตออกมาแล้วน้ำมันแพงอีก ไม่ได้ ต้องผลิตแล้วถูกกว่าเดิม ถูกกว่าน้ำมันประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์เหมือนกัน วันนี้ราคายังสูงอยู่ ซึ่งกำลังทบทวนอยู่ว่า จะทำอย่างไร ระบบเป็นอย่างไร ระบบเท่าที่ผ่านมาไม่ครบทั้งระบบ ใช้อะไรต่าง ๆ ก็ตาม สนับสนุนไปก็จะขาดตอนไม่ต่อเนื่องกัน ก็ไม่เข้มแข็งสักที วันนี้ราคาก็ยังสูงอยู่ แล้วใครจะไปใช้ พอไม่ใช้ขึ้นมา ขายได้น้อยขึ้นมา ปั้มน้ำมันอะไรก็ไม่สร้างกัน พอไม่สร้างก็ไม่รู้จะไปเติมที่ไหน
เรื่องของที่จะมาทำวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นกากอ้อย กากน้ำตาล มาทำใช้ทั้งสิ้นก็พันกันไปหมด นี่ไม่ได้ใช้ นี่ก็ราคาก็แพง นี่ก็ราคาตก ทำอย่างไรระบบ เวลาแก้ปัญหาแก้ทั้งระบบ ก็ยาก ไม่ใช่ง่าย ๆ วันนี้ก็แก้มาตั้ง 6 - 7 เดือนยังไปได้ไม่ถึงไหนเลย ของเก่าเหมือนกับติดลบอยู่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
เรื่องสินค้าอ้อย วันนี้ก็จะมีนโยบายในการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่ม ก็อย่ามาคัดค้านกันเลย ถ้าเราตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มไม่จำเป็นต้องขนาดใหญ่มากนัก แต่ปรับระยะห่างให้พอสมควร บางคนขอ 80 กิโลเมตร บางคน 40 – 50 กิโลเมตร บางคน 50 – 60 กิโลเมตร ผมก็ในขั้นนี้จะให้เกิดอุตสาหกรรมน้ำตาลแล้วก็เปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืชที่ขาดทุนมาตลอด ชาวไร่ ชาวนา ทำนาแล้วราคาข้าวก็ตก อาจจะเปลี่ยนมาเป็นปลูกอ้อยบ้างก็ได้ แล้วก็ป้อนโรงงานน้ำตาลใหม่ขึ้นมา แล้วเราก็ไปดูในเรื่องของการตลาดให้ดีขึ้น และทำน้ำตาลที่มีคุณภาพ
สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะห่างเท่าไหร่ก็ตาม วันนี้ห่าง 50 กิโลเมตรต่อแห่ง อย่าต่อต้าน แต่ผมจะกำชับว่า โรงงานน้ำตาลเหล่านั้นจะต้องไม่ไปแย่งสมาชิกกันที่ปลูกอ้อยอยู่เดิม ลูกอ้อย ในการป้อนโรงงานเดิมนั้น ไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านจะต้องไปตั้งโรงงานใหม่ แล้วสร้างสมาชิกของท่านขึ้นมาใหม่ ไม่เช่นนั้นก็จะแย่งกัน ทะเลาะกัน แล้วก็ตัดราคากัน ก็เหมือนเดิม ผมไม่ยอมอยู่แล้ว ขอให้เข้าใจด้วย
มันสำปะหลังเหมือนกัน ต้องไปดูว่าจะเพิ่มการเพาะปลูกด้วยน้ำหยดได้หรือไม่ บางครั้งดินก็เสียหายแล้วน้ำก็ไม่เพียงพอ ระบบน้ำหยดก็ต้องใช้เงินทุน เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ว่า จะทำอย่างไรที่จะมีเงินกองทุนเพื่อจะทำให้เขาได้กู้ไปทำน้ำหยดอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ วันนี้รัฐบาลก็ต้องนำร่องเหมือนกับที่มาเลเซียเขาทำมา 20 ปีแล้ว
เรื่องการส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพาราที่ล้นตลาดในปัจจุบันมีหลายมาตรการ ในเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องยางพารา ต้องลดปริมาณการผลิตลงให้มากที่สุด ให้อยู่ในกรอบอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ในประเทศ ซึ่งเราก็ยังสร้างโรงงานได้ไม่เท่าไหร่ โรงงานปัจจุบันก็ยังใช้ยางไม่ถึง 10% นอกจากนั้นต้องขายวัตถุดิบไป 90%
ถ้าเราเอายางมาใช้ 50% แล้วขาย 50% ผมว่าราคาโอเค รับได้ พออยู่ได้ ถัวเฉลี่ยกันไปกันมาแล้ว ก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นที่ลดลงไปจากการปลูกยางพารา มาปลูกปาล์มน้ำมันแทน ปาล์มน้ำมันก็ต้องมาเตรียมการเรื่องของการทำไบโอดีเซล ต้องสอดคล้องกันหมด อย่างที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่ แล้วราคาจะได้ถูกลง ลดการใช้น้ำมันดีเซลที่ต้องสั่งซื้อต่างประเทศมา พลังงานเราก็ลดน้อยลง การขุดในประเทศ
ด้านการตลาด วันนี้ได้ส่งเสริมให้มีตลาดชุมชน โดยกระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ 2,000 กว่าแห่ง ขอฝากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ท้องถิ่นช่วยดูด้วย พยายามที่จะตัดกลไกพ่อค้าคนกลาง เขาจะได้รู้ว่าเขาควรจะเอากำไรเท่าไหร่ เขาควรจะมีรายได้เท่าไหร่ ถ้าพ่อค้าคนกลางรวยอย่างเดียว เกษตรกรก็จนอยู่แบบนี้กี่ปีกี่ชาติ แล้วก็โทษรัฐบาล โทษอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่ได้ เกษตรกรต้องมีความรู้ มีความเข้าใจด้านการตลาด แล้วมีความรู้เรื่องเกษตรสมัยใหม่ การรวมกลุ่มเกษตรกร แล้วก็รู้ราคา รู้ว่าการขายสินค้าจะทำอย่างไร ราคาควรจะเป็นอย่างไร จะได้รู้ ไม่ต้องทะเลาะกันต่อไป
เรื่องของที่ดินทำกิน รัฐบาลได้ทยอยมอบเอกสารในการขอใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับเกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เราจัดทำอย่างเป็นระบบ บูรณาการ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร สำรวจใช้สอยที่ดินทั่วประเทศ ทั้งจากภาพถ่ายดาวเทียม และในเรื่องของการเข้าไปสำรวจในพื้นที่ โดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล เราก็จะรู้ว่าพื้นที่ตรงไหน เป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกอยู่แล้วบ้าง ถ้าบุกรุกมาเป็นเวลานานแล้ว 10 ปี 20 ปีขึ้นไป ก็เป็นป่าที่เสื่อมโทรมอยู่แล้วแต่ผิดกฎหมาย ทำอย่างไรให้เขาอยู่ที่นั้น แล้วก็กำกับให้เขาทำให้ได้ตรงนั้น แล้วไม่ไปขายต่อ อันนี้เราก็ใช้มาตรา 44 ดูแล ไม่เช่นนั้นไปไม่ได้ เราจะอพยพให้เขาไปอยู่ที่ไหน แล้วที่ตรงนั้นก็มีการบุกรุกมานานแล้ว และไม่ได้มีสภาพที่เป็นป่า มีการทำชัดเจน ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับใคร ขึ้นอยู่กับผู้ที่เขาสรุปขึ้นมา การโซนนิ่ง การทำข้อมูล ปัญหาเราคือการทำข้อมูลยังไม่พร้อมเลย เราก็ค่อย ๆ ทำไป
มีหลายระยะ แต่ข้อสำคัญคือ เราจะไม่ให้มีการซื้อขายสิทธิ์อีกต่อไป ที่ดินเหล่านั้นยังคงเป็นของรัฐอยู่ อันนี้ก็จะทำให้ทั่วประเทศ ก็มีระยะหนึ่ง ระยะสอง มีอยู่หลายจังหวัดที่ต้องนำคนส่วนที่หนึ่งที่ต้องนำออกมาทันที โดยเร็ว และด้วยความสมัครใจ จากป่าต้นน้ำออกมาหาที่ให้เขาอยู่ ถ้าอยู่ต่อไปก็เป็นอย่างนี้ชำรุดทรุดโทรมไปเรื่อย แล้วก็ต้องทำถนนหนทาง ทำไฟฟ้า ทำประปาเข้าไป แล้วก็มาเรียกร้องว่า ทำไมไม่ได้สักที ก็เพราะอยู่ในเขตพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ก็ต้องขยายพื้นที่ต่อไป จนมีลูกมีหลานเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าก็หมดอีก เหมือนเดิม ต้องนำออกมาอยู่ข้างนอก ในพื้นที่ที่ผมกำหนดไว้แล้ว คณะกรรมการเขาเลือกมาแล้ว มีพื้นทีที่บุกรุกอยู่แล้วเดิม มีพื้นที่ที่ว่างเปล่าเป็นที่ราชพัสดุที่ของราชการ เราก็จะใช้มาตรา 44 ให้สามารถอยู่ได้ เมื่ออยู่ได้ก็ต้องทำกิน ห้ามขายหรือขยายพื้นที่ลุกลามไปเหมือนเดิมอีก ไม่ได้ ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาเรื่องความเดือดร้อนทางสังคม ความเป็นธรรม ยุติธรรม
ระยะที่หนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย 6 แห่ง 4 จังหวัด 53,691 ไร่ ระยะที่สอง พื้นที่เป้าหมายอีก 8 แห่ง ในอีก 8 จังหวัดอีก 51,929 ไร่ จะเห็นว่าพื้นที่ก็มีไม่มากนักทั้งหมด 12 จังหวัด เราก็ต้องนำคนที่ผิดกฎหมายและไม่มีที่ทำกินจริง ๆ เข้ามาอยู่อาศัย คนที่เดือดร้อนมากมายไป ถูกเขาหลอกบ้างอะไรบ้าง บางทีก็มีคนไปหลอกมาว่าให้มาทำกินที่นี่ แล้วก็จ่ายเงินให้เขา เขาก็จะมาทำให้ เสร็จแล้วก็ทำไม่ได้ วันนี้ที่รัฐเข้าไปสำรวจส่วนใหญ่ที่ประชาชนเข้าไปไม่รู้เรื่อง มีคนไปชี้นำเขามา ก็ผิดกฎหมายอยู่อย่างนี้พอเราเข้าไปจัดการอะไรก็กลายเป็นว่า เราไปรังแกประชาชนคนจน นี่ไงประเทศไทย ก็มีคนไปใช้ประโยชน์อย่างนี้มากมาย
เพราะฉะนั้น วันนี้ในเรื่องของที่เราจะเร่งรัดให้มากขึ้น เพราะว่าเป็นแหล่งรายได้ของประเทศที่สำคัญในปัจจุบัน คือในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น มีความสดใสแล้วจะใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราด้วยในขณะนี้ เพราะว่าเราลงทุนไม่มากนัก ถ้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนเศรษฐกิจเหล่านั้น ต้องใช้เวลา ใช้เงินจำนวนมา อันนี้เราก็สร้างให้ปลอดภัย ให้สะอาด มีส้วม มีสุขา
วันนี้ก็เห็นหลายที่ มีการประกวดห้องน้ำ ห้องสุขา สถานที่ท่องเที่ยวกัน ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ริเริ่มอย่างนี้ดีกว่า คนที่เขามาเที่ยวจะได้พอใจ มีความสุข ถ้ามาแล้วแน่นก็แน่น มองอะไรก็ไม่เห็น ส้วม ห้องน้ำก็สกปรกอีก แถมมีโจร ผู้ร้ายอีก มีหลอกลวงเข้าไปอีก มีของปลอมเข้าไปอีก แล้วจะมีรายได้เข้าประเทศได้อย่างไร ผมไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ทุกส่วนทุกฝ่าย ก็จะเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้ อย่าทำอีกเลย จะทำลายประเทศกันไปถึงไหน
เพราะฉะนั้นกลุ่มนักท่องเที่ยวปัจจุบันนั้นมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องทั้งจีน มาเลเซีย เกาหลี รัสเซีย ญี่ปุ่น ไตรมาสแรก มกราคม – มีนาคม 2558 นี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศเราประมาณ 8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 23 จากปีที่แล้ว ใครบอกว่าลดลงมาหาผมนี่ เพราะฉะนั้นอย่าไปพูดในสื่อ ตัวเลขที่กระทรวงเขาคุม ท้องถิ่นพื้นที่เขารายงานกันขึ้นมา ถ้าท่านไม่ฟังทางวิทยาศาสตร์ ท่านไปเชื่อใครข้างนอกพูดมาไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่ได้
เดือนเมษายนนี้ห้วงเทศกาลสงกรานต์ เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในบ้านเรา ประมาณ 500,000 คน ในขณะที่คนไทยเอง ก็จะมีการเฉลิมฉลอง พักผ่อนท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย เดินทางกลับภูมิลำเนากัน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ มีเงินมากใช้มาก มีเงินน้อยใช้น้อย ถ้ามีน้อยใช้มากก็ไม่ใช่อีก เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช้เลยก็ไม่ได้อีก ต้องเผื่อแผ่ ถ้าไม่มีเงินมาใช้จ่ายกัน คนไม่กล้าใช้เงิน แล้วจะให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างไร เศรษฐกิจต้องต่อกันและเป็นห่วงโซ่กัน รัฐบาลก็ทำขนาดใหญ่ลงมาถึงเล็ก เล็กก็ต้องช่วยเล็กดันขึ้นไปใหญ่ สร้างเถ้าแก่ใหม่ อะไรต่าง ๆ ก็ว่ากันมา ต้องมองในภาพรวมด้วย อย่ามุ่งแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องทำกันเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้ เศรษฐกิจท้องถิ่น ตลาดชุมชนก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนค้าขาย แล้วก็ดูแลซึ่งกันและกัน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้ามีมากก็ขาย ถ้าอะไรที่ขาย แล้วไม่ได้ราคาก็ต้องมีภูมิคุ้มกันว่าอย่าปลูกให้มากนัก
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการแข่งขันของประเทศนั้น จะทำให้เข้มแข็งในเวทีโลกนั้น เราต้องทำหลายอย่างการว่างระบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ราง ทางน้ำ ทางอากาศ เราต้องพยายามให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนเชื่อมโยงขนถ่ายสินค้าในภูมิภาค แล้วก็โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ จะได้ส่งเสริมภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดเสถียรภาพ น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำประปา ปัญหาของเราก็คือว่า การบริการน้ำ ไม่ได้ทำทั้งระบบมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง เราทำเป็นปี ๆ ไปแบบเรื่อย ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องนำมาผูกโยงกัน วันนี้เริ่มต้นได้สมัยนี้ ระยะที่หนึ่งเอง ต้องมีอีกกี่ระยะ ถึงจะมีแหล่งน้ำให้กับประปาหมู่บ้านครบ มีประปาหมู่บ้านกันอีก 6,000 กว่าแห่งในปี พ.ศ. 2560 แล้วก็มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดย่อย แหล่งน้ำในที่นา ไม่ใช่มีเงิน แล้วก็ไปลงในพื้นที่ ที่ขุดไปแล้วไม่มีน้ำน้ำเก็บน้ำไม่อยู่ก็ต้องไปขุดที่มีน้ำแล้วก็จัดระบบส่งน้ำไปที่ไปได้ ที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้หมดเลย ลงตามฐานคะแนนเสียงบ้าง อะไรบ้าง นั่นคือปัญหาของเรา ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ก็ไปไม่ได้ แล้วก็เหมือนเดิมกลับไปแบบเก่า
การวางรากฐาน Digital Economy วันนี้ก็มีการจดทะเบียนนวัตกรรมจากการวิจัยในประเทศ และนำไปสู่สายการผลิต ผมได้สั่งการแก้ไขระเบียบหลายอย่าง ราชการก็ต้องนำไปทดลองใช้งานจากงบประมาณของหน่วยงานเอง 10% – 30% ต้องทดลองไปใช้ก่อน เพราะว่าต้องมีการทดลองต้องมีมาตรฐาน เรามีมาตรฐานในประเทศ โอเค เราก็ต้องผ่อนผันกติกาอื่น ๆ ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างมากมาย ซึ่งเราต้องทำ ไม่เช่นนั้นก็ซื้อไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น อีกแบบหนึ่งก็คือว่า ถ้าจะไปขายต่างประเทศ ก็ต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศให้เขายอมรับในมาตรฐาน ไม่ใช่ คิดจะทำอะไรก็ขายได้หมด ไม่ได้หมดหรอก ต้องผ่านมาตรการกีดกันทางการค้าเข้าไปอีก ข้อตกลง (World Trade Organization : WTO) มากมายไปหมดที่เขากำหนดไว้
ปีนี้ก็ต้องเจรจา (Free Trade Area : FTA) อีกหลายประเทศเหมือนกัน เพราะเราถูกปรับเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เพราะฉะนั้นระบบภาษีอะไรต่าง ๆ เปลี่ยนไปหมด เราก็ต้องไปเปิดเจรจากับประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม ทำให้เราสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ในประเทศที่ไม่ได้จำกัดหรือจำกัดเราในด้านเหล่านี้
การลงทะเบียนผู้ที่มีรายได้น้อยตามกลุ่มอาชีพ การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว เหล่านี้ก็การลงทะเบียนคนงานต่างด้าวค่อยข้างจะก้าวหน้ามากขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ตรงลงทะเบียนจะต้องไปดูเรื่องพิสูจน์สัญชาติอีก ต้องมีการรับรองโดยประเทศคู่สัญญา เช่น ประเทศรอบบ้านเราใน (Cambodia Laos Myanmar Vietnam : CLMV) เขาต้องจัดชุดพิสูจน์สัญชาติเข้ามา ตรวจสอบที่เราจดทะเบียนไปแล้ว คงไม่ทัน บางประเทศก็จดทะเบียนได้ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องต่ออายุของการถือใบอนุญาตชั่วคราว ผ่อนผันไปก่อน ให้ทำงานได้ก่อน แต่ก็ขอร้องว่า พวกนี้อย่าพึ่งย้ายไปที่ไหน เพราะฉะนั้นต่อไปจะมีการสำรวจด้วยว่า ผู้ประกอบการที่ขอจดทะเบียนไปแล้ว คนที่จดทะเบียนไปแล้วยังอยู่หรือไม่ ไม่ใช่คนนี้หายไปไหนหมดก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันดูแล ส่วนใหญ่ถูกซื้อตัวไปอีก ทำที่นี่เสร็จ พอทางนี้ให้รายได้สูงขึ้นก็ไปทางด้านอื่น ไม่มีกติกากันเลย
การปฏิรูปการศึกษาก็สำคัญ ผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาก เพราะคนในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพของคน คุณภาพของคนมาจากการศึกษา ผมเองก็ต้องพัฒนาตนเอง หลาย ๆ คนต้องพัฒนาตนเอง ประชาชนต้องเรียนรู้ ต้องมีความรู้ ต้องเรียนหนังสือ ต้องส่งลูกเรียน เรียนอะไรที่เป็นประโยชน์ มีงานทำ ถ้าทุกคนมองแต่เพียงว่าจะหาเงินอย่างไรก็ได้ จะถูกจะผิดก็ได้ ไม่ถูก เป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดกับประเทศ ประเทศก็ไปไม่ได้ วันหน้าก็ทุจริตกันแบบเดิมอีกมากมาย ไม่ได้ ต้องพัฒนาคนให้มากที่สุด พัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ตรงกับความต้องการของตลาด
วันนี้ก็เร่งทุกอัน และจะต้องรองรับภาคการผลิตในกรอบอาเซียนที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้เราผูกโยงห่วงโซ่มากมายไปหมด ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ สร้างความเข้มแข็งระหว่างกัน ความเชื่อมโยงระหว่างกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน ไปดูแลเรื่องการศึกษาด้วย สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบในพื้นที่ด้วย ต้องไปดูแลการวิจัย พัฒนา นำคนไปเรียนรู้ในสถานประกอบการ ทำทั้งหมดในรัฐบาลนี้ ในระหว่างนี้เราก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต เพื่อยกระดับความร่วมมือเศรษฐกิจตลาดใหม่ ผมเรียนไปแล้วว่าตลาดที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจจะอยู่ในขั้นของประเทศที่มีรายได้น้อย รายได้ต่ำ ไม่ได้ไปดูถูกเขา วันหน้าถ้าเขาทำดีเขาอาจจะแซงเราก็ได้ ถ้าเราทะเลาะกันอยู่ เช่น แอฟริกา เอเชียใต้ ก็ต้องดูแลเขา ผมอยากให้มองว่า ต้องดีทั้งคู่ เราดีขึ้น เขาก็ต้องดีขึ้น ไม่ใช่เราไปสูบเลือดสูบเนื้อเขามา ไม่มีความสุข ถือว่าไม่ได้เผื่อแผ่แบ่งปันประชาคมโลก
ตลาดที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจปานกลาง ศักยภาพสูง เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และรัสเซีย ประเทศหมู่เกาะ และการเพิ่มมูลค่าสินค้า การค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Hub ทางด้านการบิน การท่องเที่ยว Hub ในเรื่องการรักษาพยาบาล การแพทย์ โรงพยาบาล ทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศเรามีรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงในอนาคต รองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลา รัฐบาลไหนก็ต้องทำแบบนี้ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล นึกถึงประชาชนเป็นหลัก
การร่างรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญ ปัจจุบันก็อยู่ในกระบวนการ ก็ยังไม่เสร็จสิ้น แต่อยากจะบอกให้ทุกคนว่า อย่าไปตำหนิติเตียนกันนักเลย ก็น่าดีใจที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ ติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามในประเด็นที่ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่ได้ข้อยุตินั้นก็อย่าพึ่งไปขัดแย้งกันเลย ประเทศเราต้องดูก่อนว่าเราจำเป็นต้องปฏิรูปหรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นก็จบ ไม่ต้องไปร่างใหม่นำฉบับเก่ามาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าทุกคนคิดว่าต้องปฏิรูปแล้ว ต้องดูว่าจะเขียนอย่างไร ให้คนในประเทศยอมรับ ให้นักการเมืองยอมรับด้วย ประเทศเราจำเป็นต้องปฏิรูปหรือไม่ แล้วที่ผ่านมากฎ กติกาบ้านเมืองมีช่องว่างตรงไหน เราก็แก้ตรงนั้น ไม่ใช่ต้องแก้กันทั้งหมด เพราะเขาทำอยู่ เขาก็เป็นห่วง ประเด็นสำคัญก็คือในเรื่องของกลุ่มการเมือง การเข้าสู่อำนาจ การเป็นรัฐบาล อะไรก็แล้วแต่ การแก้ปัญหา เมื่อมีเหตุการณ์แบบครั้งที่ผ่านมา เขาห่วงตรงนั้น เขาก็เลยเขียนอะไรออกมาแบบนั้น ปัญหาอยู่ที่เรายอมรับได้หรือไม่ ยอมรับไม่ได้เพราะอะไร ถ้าได้ ได้เพราะอะไร ถ้าเป็นผมในฐานะที่ผมเป็นคนไทย ถ้าได้ ก็คือเราอยากให้ปฏิรูปได้ อยากให้การเมืองโปร่งใส อยากให้การเมืองมีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ไขอาจจะไม่ตรงกับประเทศอื่น ๆ เพราะประเทศอื่น ๆ เขาพัฒนาไปแล้ว แต่ติดอยู่ตรงนี้ เราเอาตรงโน้นมาทำตรงนี้ได้หรือไม่ แล้วต่างประเทศเขาว่าอย่างไร เราแก้ตรงนี้ช้ากว่าเขา ท่านไปคิดใหม่ ไปดูว่าเขาทำอย่างไร ถ้าท่านคิดว่าไม่ต้องปฏิรูป อยากให้เป็นแบบเดิม มีการใช้กำลัง ใช้อาวุธ มีเสถียรภาพและข้อจำกัด กฎหมายใช้ไม่ได้ ก็ตามใจท่านแล้วกัน ผมไม่รู้จะว่าอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเขาด้วย ประชาคมโลก ให้เขายอมรับว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ผมว่าไม่ต้องอาย ถ้าทำแล้วอย่าอาย รัฐบาลไหนก็ตาม ถ้าทำแล้วยอมรับกันบ้าง ยอมรับกติกา ยอมรับกฎหมายบ้าง
ผมได้มอบนโยบายไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ให้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของต่างประเทศที่เขาเกิดเหตุการณ์แบบเรา มีการปฏิวัติ รัฐประหาร มีการใช้อาวุธสงคราม มีการต่อสู้กันในเมือง แล้วขั้นตอนเหล่านั้น จากตรงนั้นมา จนถึงวันนี้ เขาทำอะไรมาบ้าง ใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วแต่ละขั้นเขาทำอย่างไร จะต้องถามเขาแบบนี้ ไม่ได้ให้เขามาวิเคราะห์มาตรา รัฐธรรมนูญไทยอย่างไร ไม่ใช่ ให้คนไทยได้รับรู้ว่า ถ้าจะเป็นอย่างที่เขาเป็นวันนี้ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง วันนี้ทุกคนไม่ได้มองอะไรเลย มองแค่ว่าทำอย่างไรจะมีสตางค์ ทำอย่างไรจะแก้ปัญหานู่นนี่ได้ ทำอย่างไรจะร่ำรวย ไม่ได้คิดว่าแล้วประเทศชาติอยู่ตรงไหน แล้วขั้นตอนเป็นอย่างไร ใจร้อนทุกคน ก็เลยต้องเปลี่ยนแปลง ต้องใช้กำลัง ใช้อาวุธสงคราม ผมว่าไม่ใช่ ดูเขาสิ เราเคยเลิกทาสมาไม่ได้เสียชีวิต เสียอะไรกันเลย ต่างประเทศเขาก็มีเหมือนกัน ที่ผมอยากให้เอามาก็คือ ฝรั่งเศส และเยอรมัน สถานการณ์คล้าย ๆ ประเทศไทย อย่าไปบอกว่าเขาเกิดนานมาแล้ว ไม่ใช้กับวันนี้ วันนี้ต้องย้อนกับมาดูที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นำแบบอย่างของเขามาดูแล้วเราก็ย่อมาว่าจะทำอย่างไร เราก็มาต่อ จากนั้นเราก็มาถามกันเองว่า เราต้องการอะไร เขาเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ต้องถามเขาดู การมีมาตรา 16 มาตรา 17 อะไรของเขา ทำไมถึงต้องมี ทำไมต้องมีอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ประธานาธิบดี ไม่ใช่มานั่งเถียงของเรา แล้วไม่ดูของเขา ขณะเดียวกันคนเก่าก็ต้องการแบบเดิม ไม่เกิดประโยชน์
เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปได้หรือไม่ได้อยู่กับคนไทยทุกคน อยากจะปฏิรูปหรือไม่อยากให้ดีกว่าเดิมหรือไม่ อยากอยู่ในความขัดแย้งอีกหรือไม่ อยากมีการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและ เป็นธรรมหรือไม่ สร้างความเข้มแข็งประเทศหรือไม่ เกษตรกรจะต้องมีเงิน มีรายได้มากขึ้นหรือไม่ในอนาคต ทุกอย่างต้องพัฒนาหมด ไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็อ่อนด้อยอยู่แบบนี้ตลอดไป เพราะฉะนั้นก็จะเร่งดำเนินการ อย่ามาหาว่าผมไม่นำใครเข้ามาเลย มีหลายคนต่อว่าผมว่า ไปเอาคนอื่นมายุ่ง ท่านไปเอามายุ่งมากกว่าผม ท่านเอามาวิจารณ์ มาว่าประเทศ มาใช้กฎหมาย ใช้อะไรต่างประเทศมาใช้กำลังกับประเทศไทย สิ่งเหล่านั้นหนักยิ่งกว่าผม ผมนำมาเพื่อศึกษาเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญของเรา ไม่เกี่ยว บ้านเราคือบ้านเรา แต่เราจะถามเหตุผลของเขาว่า ทำไมเขามีอย่างนั้น แล้วมาดูว่าทำไมเขาถึงมี เราจะมีบ้างได้หรือไม่ ไปดูก็แล้วกันต่อไป
สำหรับวันนี้ก็มีหลายเรื่อง เนื่องจากเป็นช่วงสงกรานต์ ผมไม่อยากจะพูดอะไรที่แรง ๆ แต่ก็อดไม่ได้ ขออนุญาตพูด เนื่องจากเป็นวันส่งท้ายของปี วันนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเดินหน้าประเทศ ที่ผมพูดมาทั้งหมดตลอดระยะเวลาการเป็นรัฐบาล การเป็น คสช. 6 เดือน กับ 5 เดือน เป็น 11 เดือน จะ 1 ปีแล้ว ก็พูดตลอด ความก้าวหน้าก็มีตามลำดับ แต่ผมบอกแล้วว่ามีระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย วันนี้เราทำระยะต้น และระยะกลาง 1 ปีแรก กับ 1 ปีที่ 2 เป็นรัฐบาล รวมกันแล้ว 2 ปี แค่นั้น ต่อไปก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่โรดแมป ถ้าทำได้ก็ทำไป แต่เราก็ต้องเดินหน้าประเทศไปสู่การปฏิรูปให้ได้ วางแผนการปฏิรูปพื้นฐานให้ได้ มีกลไกในการที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง เป็นรูปธรรม การร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดตรงนั้น หรือกฎหมายลูก หรือบทเฉพาะกาลจะทำอย่างไร ปัญหาก็คือประชาชน ถ้ายอมรับประเทศไปข้างหน้าแน่ ถ้าไม่ยอมรับกัน ประเทศถอยหลังกลับที่เดิม ผมสรุปง่าย ๆ แค่นี้
การเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส มีรัฐธรรมนูญที่ดี มีธรรมาภิบาล มีคุณธรรม และจริยธรรม ก็ต้องเข้าใจถึงความตั้งใจของเขา ของ สนช. สปช. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ทุกคน ทุกหน่วยงานมีความตั้งใจ มีความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ได้อย่างที่ผมพูด แต่แน่นอนต้องมีความขัดแย้งมีคนไม่เห็นด้วยอะไรต่าง ๆ ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างความรับรู้ ให้ได้ ให้เร็วที่สุดเพื่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อจะได้ปลอดภัยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน วันนี้ผมถือว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านหรือส่งผ่าน ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อย่างที่โลกต้องการ อย่างที่โลกเขาไม่มีปัญหา หลายประเทศผ่านเวลาแบบเรามาก่อน ผมว่าอาจจะทุกประเทศ วันนี้ขอเวลาเล็กน้อย อาจจะนานสักหน่อย ไม่ได้พูดมาหลายครั้ง
เรื่องของการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่า ๆ ทุกคนต้องอดทนต้องช่วยเหลือกัน มีมาตรการที่จะทำให้เกิดการเอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปให้ได้อย่างแท้จริง ไม่อย่างนั้นก็พูดแต่ปาก ทำอะไรไม่ได้ วันหน้าก็กลับที่เก่า เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งของข้าราชการ ข้าราชการท้องถิ่น ประชาชน เราต้องทำให้เขาแข็งแรงในอนาคต ทุกภาคส่วนไม่มีความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทุกคน มีเงินมีทองใช้อย่างถูกต้อง เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ก็พูดมาถึงแต่สิ่งที่ทำมาแล้ว และมีปัญหาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม บอกว่าไม่เป็นธรรมอะไรเหล่านี้ ผมว่าท่านหยุดพูดได้แล้ว พอผมไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายท่านก็บอกว่า ผมไปปิดกั้นเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพที่ผ่านมาเป็นอย่างไร บริหารประเทศได้หรือไม่ มีการประท้วงหรือไม่ ไม่มีการประท้วงแล้วใครใช้อาวุธสงครามยิงต่อผู้ที่มาประท้วง ก็เกิดอย่างนี้ ปี 2553 ก็ชุดเดิม พอปี 2556 -2557 ก็ชุดเก่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านก็ทำแบบเดิม สังคมเข้าใจบ้าง ฟังอยู่ได้ อย่าไปฟังเขาตามสื่อวิทยุ โทรทัศน์ วันนี้ผมเรียกปิดสถานีวิทยุ 6,000 กว่าแห่ง ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ไม่เคยปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะสนับสนุนฝ่ายพรรคการเมือง ส่วนใหญ่เป็นของนักการเมืองที่ไม่ค่อยดีนัก ที่ดีผมไม่พูด ผมไม่ได้ว่าทุกคน ก็มีมากมาย ผมไม่ได้เข้าข้างใครทั้งสิ้น ใครที่รู้ตัวว่าดีก็ไม่ได้ว่ากัน ถ้าใครรู้ตัวว่าไม่ดีผมว่าท่าน
เราจะต้องนำพาประเทศไปสู่อนาคต ท่านพยายามจะพูดอะไรก็ตามให้กลับไปที่เก่าให้ได้ สร้างการรับรู้ที่ผิด ๆ เหมือนเดิม ต้องการมีสิทธิเสรีภาพอย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ได้พูดถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อประเทศชาติไม่มีเลย กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย บริหารราชการที่อ้างด้วยความเป็นธรรม แล้วก็ทำไม่ได้ สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการประท้วง แล้วที่ผ่านมาครั้งก่อนประท้วงหรือเปล่า ก็ประท้วงอีกเหมือนกัน มีการใช้อาวุธสงครามเหมือนกัน ไม่รู้ ต้องกลับไปดูของเก่าแล้วกัน สื่อต่าง ๆ ต้องช่วยกัน
หลักฐานอย่าไปทิ้งหมด ผมเห็นถ่ายรูป ถ่ายอะไรมากมายไปหมด VDO หนังสือพิมพ์ ทั้งหมดเดินตามเป็นร้อย ตามทหารเข้าไปแล้วหลบกระสุน ทำไมไม่พูดให้ผมบ้าง ใครอยากจะทำร้ายประชาชน เขาก็มีชีวิตจิตใจ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ รัฐบาลต้องดูแล เมื่อสถานการณ์ไม่สงบ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ได้ มีวิธีไหนก็ต้องว่ากันไป ถ้าผิดหรือถูกก็ไปว่ากันตามกระบวนการกฎหมาย แต่อย่ามาบิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อายเขา เดี๋ยวพอออกมาปรากฏจริง ๆ แล้วท่านจะว่าอย่างไร ผมไม่รู้
ประเด็นสำคัญคือ การใช้งบประมาณในการทำประชานิยม วันนี้มาบอกว่ารัฐบาลมีประชานิยมมากกว่า มากกว่าตรงไหน ผมไม่เข้าใจ บอกว่าเรานำเงินไปให้สวนยาง ชาวไร่ ก็ช่วยปัจจัยการผลิตเขา ผมไม่ได้ไปซื้อของเขามา การรับซื้อของก็เป็นเรื่องของระบบสหกรณ์ และใช้เงินน้อยกว่าท่านมหาศาล ท่านบอกว่า แล้วทำไมไปขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จ่ายเงินให้เกษตรกรเป็นแสนล้านบาท ข้าราชการเขาไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมากี่ปีแล้ว ในห้วงที่ผ่านมา ไม่เคยได้ขึ้นเงินเดือน แล้วเพิ่มขึ้นคนละ 300 500 บาท ให้เกษตรกรเดือดร้อนก็ขออีก
ผมต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกษตรกรก็ไม่ไปรังแก ไม่ไปเรียกร้องให้ข้าราชการที่ดี ๆ ปัญหาที่ผ่านมาคือการเมืองบิดเบือนทุกอย่างไปหมด ผมก็ต้องโทษ เพราะว่าที่ผ่านมาก็เป็นการเมือง ผมไม่เคยไปโต้แย้งกับรัฐบาลใดเลย สั่งมาผมก็ทำให้หมด ประเด็นสำคัญก็คือ สิ่งที่ทำวันนี้ ทำให้เกิดความเป็นธรรม ดูแลทุกคนให้ทั่วถึง ให้เกิดความรัก ความสามัคคี วันนี้บอกว่าใช้เงินไปมาก แต่รัฐบาลก็ยังทำรถไฟ รถไฟฟ้าตั้งมากมาย ผมถามว่าถ้าไม่เสียเงิน เรื่องที่อยู่ในคดี ตั้งหลายแสนล้านบาท เราก็คงไม่ต้องไปกู้เงินเขามาอีก เอาเงินตรงนี้มา ลงทุนตรงนี้ได้ต่อ หนี้สิน หนี้สาธารณะทั้งหมดเกิดขึ้นมาโดยไม่มีรูปธรรม ไม่มีอะไรที่สำเร็จเป็นเรื่องเป็นราวชัดเจน เราก็ต้องทำต่อ หนี้เก่าก็ต้องผ่อนชำระ เดินหน้าประเทศก็ต้องทำ ลงทุนใหม่ก็ต้องลงทุน แต่ติดด้วยวงเงินเหล่านี้ ไปคิดเอาเอง
เรื่องการดูแลพี่น้องเกษตรกร บอกว่าการประชานิยมในสมัยที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรมกับราษฎร ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมถามว่าดีขึ้นหรือไม่ ตอนนี้ชาวนาเป็นหนี้อยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือนยังมากขึ้นเหมือนเดิมหรือเปล่า วันนี้ชาวนาเป็นหนี้มากขึ้น ไหนบอกว่าดีขึ้น ดีขึ้นต้องหนี้ลดลง ใช่หรือไม่ หรือเป็นหนี้ที่มีคุณค่า เป็นหนี้ที่เป็นทุน เป็นหนี้ที่มีบ้านหรือต่อเติมบ้าน หรือว่าซื้อยานพาหนะ หรืออะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว แต่นี่หายไปหมด เพราะไปใช้หนี้เก่า ก็วนอยู่อย่างนี้ ถ้านั้นโอเค เราบรรเทาความเดือดร้อนได้ก้อนหนึ่ง อีกก้อนหนึ่งต้องให้เขาเข้มแข็ง ให้เขามีรายได้ที่เพียงพอ ต้องมาสร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตร การขาย การตลาดอีกมากมาย ไม่ทำแบบนี้ ทำเป็นปี ๆ ไป ก็ใช้เข้าไป ทุกปีหนี้ก็ขึ้นทุกปี แล้วทุกวันนี้เราพอจะเดินหน้า ก็ติดไปหมด เงินก็ต้องไปก็เขา ผมก็ไม่ได้กู้ก้อนใหญ่ ก็กู้เป็นปี ๆ ไป กู้เป็นโครงการ ๆ ไป ถ้าเห็นชอบว่าอยากจะมี ต้องมีเพื่อเป็นอนาคต ถ้าต้องกู้ ก็ต้องกู้ เพราะอดีตไม่ได้ทิ้งเงินไว้ให้ผม
วันนี้ข้าราชการทำไมต้องขึ้นเงินเดือนให้เขา เพราะเขาเป็นผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ วันนี้ข้าราชการเป็นผู้เสียภาษี เพราะล็อคด้วยการจ่ายภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย หนีไม่ได้สักคน วันนี้หลาย ๆ คนจ่ายภาษีกันทั้งนั้น ประชาชนที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ก็ไม่ต้องจ่าย บรรดาเศรษฐีก็ต้องไม่โกงภาษี และการเก็บภาษีเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีคุณภาพ กฎหมายภาษีก็ต้องปรับปรุง ที่ผ่านมาต้องดูว่า กฎหมายท้องถิ่นการเก็บเงินภาษีท้องถิ่น บำรุงท้องถิ่นเป็นอย่างไร วันก่อนทองบาทเท่าไหร่ วันนี้ทองบาทเท่าไหร่ ภาษีตัวเดิม แล้วเงินตรงไหนจะนำมาพัฒนา และท่านก็อยากจะได้เงินท้องถิ่นมากขึ้น จะเอามาจากที่ไหน เก็บภาษีไม่ได้
สื่อต่าง ๆ เลือกข้างทั้งหมด สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ต้องไปเตือนกัน 2 – 3 สถานี พูดอยู่นั่นแหละ พูด พูดในสิ่งที่โกหก ผมอยากจะพูดว่าโกหก ผมก็เตือนแล้ว อะไรแล้ว ผมไม่อยากไปยุ่งอะไรกับท่าน ที่ผ่านมาท่านก็ทำแบบนี้ แล้วพอทำแบบนี้ อีกคนก็มาสู้ท่าน ท่านก็ไปรังแกอีกพวกหนึ่ง เพื่อจะพูดข้างเดียว ไม่ใช่ ถ้าจะปิดก็ปิดทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็ระมัดระวังก็แล้วกัน อย่าหาว่าผมไปละเมิดสิทธิสื่อ เพราะสื่อที่มีจรรยาบรรณตั้งมากมาย ฉะนั้นขอตักเตือนให้หยุดการกระทำนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แล้วก็อ้างว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่ใช่ ผมไม่ต้องการ
เพราะฉะนั้น ทำถูกทำผิดอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนรู้ดีแก่ใจว่าใครถูกใครผิด อย่ามาโกหกบิดเบือนกันอีกต่อไป ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คงเข้าใจ คงไม่แรงไป ขอโทษแล้วกันถ้าใครคิดว่าแรง อย่าไปหลบซ่อนอยู่ที่โน่นที่นี่ มาสู้ทางกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น ผมจะอำนวยความเป็นธรรมให้ อย่าไปกล่าวอ้าง ประเทศชาติเสียหาย แล้วนำคนโน่นคนนี้มาแก้ปัญหาให้เราไม่ใช่เรื่อง ขอบคุณ ขอให้มีความสุขในช่วงวันหยุดสงกรานต์หลายวัน ย้ำอีกครั้ง หยุดแค่เสาร์ – อาทิตย์ และต่อจันทร์ อังคาร พุธ มีคนบางคนบอกว่ารัฐบาลนี้ใจดี ไปต่อพฤหัสบดี และศุกร์อีก รวมเป็น 9 วัน ไม่ใช่ หยุดกันนาน ๆ เดี๋ยวก็มีเรื่องอีก มีปัญหาอีก การติดต่อราชการก็มีปัญหา เศรษฐกิจก็แย่อยู่
ระหว่างนี้ ในส่วนของรัฐบาลก็พร้อม ผมไม่ได้ไปไหน พร้อมจะแก้ปัญหา พร้อมจะดูแลประชาชนเมื่อมีเรื่องเดือดร้อน เวลาที่ประชาชนพักผ่อนผมก็ต้องทำงาน เวลาทำงานผมก็ต้องทำงาน เพราะเวลาผมก็มีน้อย มีจำกัด ขอบคุณในความร่วมมือ ขอบคุณทุกคนขอให้มีความสุข เดินทางไป – กลับโดยปลอดภัย พ่อแม่ ลูกหลาน ครอบครัวอยู่กันให้ครบ พร้อมหน้า ไปถึงแล้วกราบคุณพ่อ คุณแม่ ผู้มีพระคุณทั้งหมด นั้นคือค่านิยมของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ของเราที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นเจ้าบ้านที่ดีกับนักท่องเที่ยวด้วย จะเข้ามามากมายอย่าให้เห็นภาพเดิม ๆ อีก เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้มแข็ง หามาตรการให้เหมาะสม อย่าให้เกิดรุนแรง ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
--------------------
ที่มา : http://www.thaigov.go.th/