พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 29 ของประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 29 ของประเทศไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,698 view

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 29 ของประเทศไทย โดย นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นต่อประชาชนว่าจะมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มที่ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน นำความสุข ความร่มเย็นมาสู่พี่น้องประชาชน และทำให้ประเทศชาติมีความเป็นปึกแผ่นมีความมั่นคงตลอดไป

 

วันนี้ (25ส.ค.57)  เวลา 10.49 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เชิญพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งได้มีการจัดเตรียมสถานที่ในการรับสนองพระบรมราชโองการฯ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคู่สมรส รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร รักษาราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงต่าง ๆ           นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  รออยู่ ณ บริเวณห้องพิธี จากนั้น นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ความว่า

พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พระปรมาภิไธยภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มีพระบรมราชโองการให้ประกาศว่า

โดยที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช  2557 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  จึงทรงพระราชดำริว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี  บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายพรเพชร วิชิตชลชัย

ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

เสร็จแล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถวายคำนับพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เปิดกรวยกระทงดอกไม้แล้วถวายบังคม และถวายคำนับพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เป็นเสร็จพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

โอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและกล่าวขอบคุณว่า ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และนับเป็นเกียรติอันสูงสุดในชีวิตแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ตระหนักดีถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง ต่อจากนี้ต่อไป ต้องรับผิดชอบในการนำพาประเทศชาติและประชาชน เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่งได้มีการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ได้แก่ การคัดเลือกรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เพื่อบริหารราชการแผ่นดินโดยเร็วที่สุด โดยจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายในเดือนกันยายน 2557

การบริหารประเทศในทุก ๆ ด้าน ในบทบาทของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนงานเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องการความรวดเร็วในการแก้ปัญหา โดยรัฐบาล และ คสช.  ต้องมีการหารือในการปฏิบัติ  ตลอดจนวิธีการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องระมัดระวังการก้าวล่วงซึ่งกันและกัน แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลกัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ขอให้ทุกคนอย่าได้กังวลกับตัวบุคคลมากนัก

วันนี้เราจะต้องสร้างระบบทุกระบบให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   ในระบบข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ส่วนราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ต้องเข้มแข็งพัฒนาปรับปรุงตนเองในทุกมิติ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการและรองรับการปฏิรูปที่จะต้องทำให้ฝ่ายการเมืองมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศในระยะต่อไป และจะได้ร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคต อย่างไรก็ตามประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้ สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้ ทั้งในงานด้านความมั่นคง  เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัญหาสำคัญอยู่หลายประการด้วยกัน ทั้งภาคเกษตรกร รัฐ ประชาชนโดยทั่วไป ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน บ้านเมืองเรามีปัญหาสะสมสำคัญ ๆ มากมายมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้ด้วย

ด้านความมั่นคง ยังมีปัญหาอยู่หลายประการ อาทิ  ปัญหาชายแดน ทั้งในเรื่องการปักปันเขตแดน การหลบหนี   เข้าเมือง สินค้าหนีภาษี ปัญหาความมั่นคงภายใน ในเรื่องยาเสพติด อาชญากรรม อาวุธสงคราม การพนัน แรงงานต่างด้าว และอื่น ๆ

ด้านเศรษฐกิจ การเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม การส่งเสริมการลงทุนในภาคต่าง ๆ การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และประชาชนผู้มีรายได้น้อย โครงสร้างภาษี พลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน ปัญหาปากท้องประชาชน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้  ซึ่งพวกเราจะพยายามแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อไปในอนาคต

ด้านสังคมและวัฒนธรรม ระบบการศึกษา การปลูกจิตสำนึก การปลูกฝังอุดมการณ์ การดำรงซึ่งวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ  การป้องกันการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปลูกฝังค่านิยม ต่าง ๆ เหล่านั้น และอุดมการณ์ให้กับคนในชาตินั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้การแก้ปัญหานั้นเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ       ในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับพันธะสัญญาต่าง ๆ รวมทั้งกฎหมายที่ส่วนราชการต้องแก้ไข เพื่อความสะดวกและความถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมานั้น ยังดำเนินการไม่เรียบร้อย

สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น รัฐบาล คสช. และประชาชนทุกคน ต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา  ซึ่งเราไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือต้องการกำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าในสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปฯ  ไม่ได้มีข้อกำหนด ข้อห้ามต่าง ๆ เหมือนกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทุกประการ และต้องยึดหลักการหลายอย่างในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ในส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้องการให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน       ทั้งกลุ่มการเมือง กลุ่มพลังประชาชน นักเศรษฐกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ สื่อมวลชน และผู้แทนส่วนต่าง ๆ  ทั้งนี้ไม่ต้องการให้ส่วนหนึ่งส่วนใดตกขบวนประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนาคตของชาติให้มั่นคงและยั่งยืน ไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้คำมั่นต่อประชาชนว่า จะมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน นำความสุข ความร่มเย็นมาสู่พี่น้องประชาชน และทำให้ประเทศชาติมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงพร้อมไปกับการสร้างความรักสามัคคีในทุกกลุ่มทุกฝ่าย พร้อมขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่ทุกคนในชาติจะมอบให้กับรัฐบาล และ คสช. ในการปฏิบัติงานในห้วงต่อไป

ที่มา : http://www.thaigov.go.th/th

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ