พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2558

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2558

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ส.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,468 view
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2558 เวลา 20.20 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

อีก 2 วัน ประชาชนชนชาวไทยก็จะได้ร่วมใจกันทำกิจกรรม “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเป็นเสมือน “แม่ของแผ่นดิน” อีกทั้งเป็นการแสดงพลังความรู้รักสามัคคีของคนไทยทุกคนโดยพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งประเทศ ในวันที่ 16 สิงหาคม วันอาทิตย์นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

เราจะร่วมกิจกรรมประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ ทางกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับ “กินเนสส์บุ๊ค เวิลด์ เรคคอร์ด” ได้มีการจัดทำสถิติ ความร่วมมือร่วมใจของปวงชนชาวไทย ในกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้อีกด้วย ทั้งนี้จะเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าคนไทยรัก “แม่ของแผ่นดิน” ของเรามากเพียงใด

อีกกิจกรรมหนึ่ง “คู่ขนาน” ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดขึ้นสำหรับพี่น้องประชาชน ที่อาจจะไม่ถนัดในเรื่องของการปั่นจักรยาน แต่ก็มีใจรักในงานศิลปะ ภาพถ่ายได้ให้มามีส่วนร่วม ในการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติ และของโลกในครั้งนี้ โดยการร่วมส่งภาพ ในกิจกรรม “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” ที่ถ่ายทอดแนวคิด และก็สื่อความหมายภายใต้แนวคิด “ความรัก ความสามัคคี ความกตัญญู ลูกทำเพื่อแม่ และความมุ่งมั่น” เพื่อชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ภายในวันที่ 23 สิงหาคม 2558 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ด้านล่างนี้ (www.Bikeformom2015.com และเฟซบุ๊ค bikeformom2015 )

สำหรับการจราจรบนเส้นทางและพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้วงเวลาจัดกิจกรรมครั้งนี้ อาจจะมีผลกระทบบ้างต่อการจราจร แม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ วันอาทิตย์ ก็ขอทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือ จากพี่น้องประชาชน ในการสนับสนุนกิจกรรมฯ หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทาง ของการปั่นจักรยานในช่วงนั้นด้วย โดยท่านสามารถขึ้นทางยกระดับอุตราภิมุข (ทางด่วนโทลล์เวย์) ฟรี ระหว่างเวลา 12.00-23.00 น. และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางรถประจำทาง จำนวน 36 เส้นทาง มีการจัดรถเสริมในจุดต่าง ๆ ด้วย ขอให้ตรวจสอบเส้นทาง และวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 1348 ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทยและประเทศไทย ก็คือการที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เตรียมทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความเป็นเลิศด้าน การสร้างสรรค์” แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 27 สิงหาคม นี้ โดย WIPO ได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถ ด้านการสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการพัฒนา อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ทรงมีผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการจดข้อมูลด้านลิขสิทธิ์  ถึง 354 ผลงาน ซึ่งรวมถึงงานด้านศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ งานพระราชนิพนธ์ กลอน หนังสือ เพลง การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนงานฝีมือของชนเผ่าพื้นเมืองของไทย การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรม อีกทั้งยังทรงเป็นนักดนตรีที่เปี่ยมความสามารถและพรสวรรค์ ทั้งดนตรีพื้นบ้านและดนตรีพื้นเมือง ซึ่งนับว่าทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์แรกของโลก ที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าว ที่สำคัญคือปีนี้เป็นปีมหามงคลที่พระองค์เจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา และที่ผ่านมา เมื่อปี 2552 WIPO ได้เคยทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล “ผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา” ให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้วด้วยเช่นกัน

สำหรับเรื่องที่สำคัญที่ผมอยากจะทำความเข้าใจ เรื่องแรกคือ เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะกรรมาธิการ ได้เสนอไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะมีความสำคัญในการที่จะกำหนดแนวทางในการปฏิรูป ปรองดอง ขจัดความขัดแย้ง ซึ่งคงจะต้องมีทั้งอำนาจและหน้าที่ และกลไกที่จะสามารถอำนวยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการขจัดความขัดแย้ง ความรุนแรง ที่รัฐบาลปกติ กฎหมายปกติ อาจจะไม่สามารถแก้ไข ขับเคลื่อนประเทศได้ อย่างเช่น สถานการณ์ในห้วงที่ผ่านมา

เรื่องการทำประชามติ เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญมาก เป็นเรื่องของประชาชนทุกคนต้องร่วมกันในการตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินใจเพื่อผม เพื่อรัฐบาล  เพื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ให้ทุกคนคำนึงถึงเพื่อประเทศชาติ และอนาคตของลูกหลานต่อไป เราจะปฏิรูปบ้านเมืองกันได้อย่างไรด้วย

เรื่องแนวทางการปฏิรูป 11 ด้าน ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ และจะส่งต่อให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป 200 คน ที่เราจะต้องจัดตั้งขึ้นใหม่ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว (ฉบับแก้ไข) ให้พิจารณาอีกครั้ง และคงจะต้องลงลึกในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดระดับ ความสำคัญ ความเร่งด่วนว่าจะทำทันที ปานกลาง หรือระยะยาว ให้มีความเหมาะสม จากนั้นจะต้องมีผลในทางกฎหมายด้วย ก็คงจะต้องนำเข้าไปพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อจะได้ให้รัฐบาลต่อไป ได้นำไปสู่การปฏิบัติ เราคงจำเป็นจะต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ อำนวยการ ปฏิบัติ และคงไม่สามารถที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการปกติของรัฐบาล

สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมและผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลได้มีโอกาสให้การต้อนรับ และหารือกับผู้แทนคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯอาเซียนกว่า 70 คน จากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา 29 บริษัท ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงาน การเงิน โลจิสติกส์ ยานยนต์ การก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ ยา และเวชภัณฑ์ ยาสูบ เป็นต้น

โดยนักธุรกิจเอกชนสหรัฐฯ เห็นพ้องกันว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่นในภูมิภาค พร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิรูปประเทศของไทย และต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยของเราอีกด้วย

สิ่งที่ผมเห็นจากนักลงทุนชาวต่างชาติที่เขาต้องการหลัก ๆ คือความมั่นคง ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น และการปรับกฎ ระเบียบ กติกา มาตรการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อจะทำให้การดำเนินธุรกรรมนั้นง่ายขึ้น ลดขั้นตอน รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ของชาติที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นเครื่องสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจ ในการประกอบธุรกิจภายในประเทศของเรา ซึ่ง คสช. กับรัฐบาลนี้ ได้พยายามวางรากฐานเอาไว้ให้แล้ว อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ  พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยได้นำ “สัญญาคุณธรรม” ระบบ CoST และ ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อการบูรณาการมาใช้ด้วย

ผมได้แสดงให้นักลงทุนต่างชาติเหล่านั้นทุกประเทศ ให้เขาเห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน จุดแข็ง และศักยภาพของประเทศไทย ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่น และพยายามให้เขาเห็นว่าไทยมีความพร้อมในการรองรับการลงทุนต่าง ๆ  ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในอาเซียน และด้านการค้า การลงทุนและกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงในประเทศกับภูมิภาค ทั้งทางบก – ทะเล –อากาศ

เรื่องต่อไปคือการเตรียมการปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Infrastructure)  การปรับโครงสร้างทางภาษี และมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ)  และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) ในบ้านเรา การส่งเสริมและขยายความร่วมมือภาคเอกชนกับภาครัฐ ในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วน (Public-Private Partnership : PPP)  ทั้งในด้านการลงทุน การศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และด้านนวัตกรรม และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของศักยภาพของประเทศด้านการเกษตรและสินค้าเกษตร การบริการ การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้านสาธารณสุข และอัญมณี ฯลฯ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ก็สามารถผลักดันให้เราเป็นศูนย์กลางในอาเซียนได้เช่นกัน

ช่วงที่ผ่านมา ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจประเทศไทยเรานั้น ยังคงต้องเร่งพัฒนาหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้เพื่อจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการผลักดันมาตรการและงบประมาณ ในการที่จะนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science based) ไปสู่ภาคการผลิต หรือห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้นอกจากการสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าหรือบริการแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเจริญเติบโตเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน ซึ่งจะเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนให้เรานั้นสามารถที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้

ทั้งนี้ ในการประชุมของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ (กพน.) ที่ผ่านมา ได้ผลักดันมาตรการสำคัญ ๆ หลายอย่าง เช่น 1. การจับคู่ระหว่างความต้องการและนวัตกรรมที่ผลิตในประเทศ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาสู่การใช้งานจริง 2. การจัดตั้งกองทุนเงินร่วมลงทุนเพื่อธุรกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Fund of Funds) ในรูปแบบของ Private Equity หรือ Venture Capital เพื่อสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี 3. เรื่องการจัดทำบัญชีนวัตกรรมของไทย โดยมี พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ รองรับให้สามารถนำผลงานที่วิจัยในประเทศ มาสู่การรับรองมาตรฐาน สามารถนำมาผลิตใช้ในหน่วยงานภาครัฐได้ และ 4. การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อจะผลิตเอง ใช้เอง และจำหน่ายต่อไปในอนาคต

สำหรับ เรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน ปัจจุบันอาจจะไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจหรือผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ “กระแสวัตถุนิยม” ซึ่งอาจจะทำให้พี่น้องประชาชนก่อหนี้สินผูกพันโดยไม่จำเป็น หาทางออกไม่ได้ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” แก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว – ชุมชน – ประเทศ รัฐบาลนี้ได้น้อมนำมาเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาและบริหารประเทศ เพื่อให้ดำเนินการไปได้ใน “ทางสายกลาง” ด้วย

ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้การดูแลหนี้สินกับพี่น้องเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ตามเราก็ยังห่วงใยพี่น้อง “ข้าราชการ” ที่เรียกว่ามนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับเอกชน ทั้งนี้ ภาระหนี้สินของกำลังพลของลูกน้อง ผมเห็นว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของหัวหน้าหน่วยงาน – ผู้บังคับบัญชา ที่ตื่นเช้าขึ้นมาในแต่ละวัน นอกจากจะต้องคิดว่าจะทำงานอย่างไร จะรับใช้ประเทศชาติอย่างไร และดูแลประชาชนได้มากเพียงใด ก็ต้องคิดเสมอว่า เราจะช่วยลูกน้องเราให้สามารถทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไรด้วย

โครงการหนึ่งที่ผมอยากเอามาเล่าให้ฟัง เป็นโครงการที่กองทัพบกตั้งแต่อดีตและปัจจุบันได้ดำเนินการเพื่อช่วยบริหารจัดการหนี้สินครอบครัวกำลังพลในกองทัพ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยการนำหลักพื้นฐานของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มาใช้ในการดำเนินการ สำหรับวิธีการดำเนินโครงการแบ่งเป็นส่วน ๆ ดังนี้  1. การสร้างความตระหนักต่อตนและครอบครัวถึงภาระหนี้สิน เพื่อให้รู้ด้วยตนเองว่าภาระที่จะต้องจ่าย ในแต่ละเดือน มีอะไรบ้าง 2. การจัดทำ“บัญชีครัวเรือน” อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อช่วยในการปรับปรุงพฤติกรรม “ลดรายจ่าย” ที่ไม่จำเป็น และ “เพิ่มรายได้” ด้วยอาชีพเสริม โดยไม่เบียดบังเวลาราชการ และไม่เป็นงานที่หนักเกินไป ไม่กระทบกับสุขภาพและการทำงานราชการ 3. การ       รีไฟแนนซ์ โดยหาแหล่งเงินทุนที่ดอกเบี้ยถูกกว่า หรือการเลือกชำระดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าก่อน 4. การขายสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป คือการตัดภาระสิ่งที่ไม่จำเป็น รวมถึงการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน และ 5. ที่สำคัญคือ การควบคุมตนเองไม่ให้มีการก่อหนี้ซ้ำอีก

ทั้งนี้ หากข้าราชการสามารถแก้ปัญหาหนี้สินของตนเองได้ในระดับครอบครัว  และหัวหน้าส่วนราชการสามารถดูแลให้ข้าราชการในสังกัดได้แก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นส่วนรวมได้แล้ว  รัฐบาลก็จะมีทรัพยากรบุคคล ที่มีความพร้อมในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน อย่างเต็มความสามารถ ปราศจากเรื่องกังวล หนี้สิน ภาระ ซึ่งอาจจะคอยฉุดรั้งประสิทธิภาพในการทำงานให้กับประเทศชาติ

รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและ “การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยได้กำหนดให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งมีกรอบแนวคิดหลักในการสร้างสังคมรีไซเคิล ตามหลักการ 3R (Reduce + Reuse + Recycle) โดยเฉพาะการรณรงค์ “ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม” ซึ่งจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก มีระยะเวลานานกว่า 450 ปี  ยิ่งกว่านั้นข้อมูลทางสถิติที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ มีขยะพลาสติกและโฟม จำนวน 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตัน/วัน เกิดจากน้ำมือพวกเรา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์ สิ่งที่มีชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยรวม ตลอดกระบวนการผลิต ไปจนถึงการกำจัด โดยก่อให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก” อันเป็นสาเหตุหนึ่งของ “ภาวะโลกร้อน” ในปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างวินัยคนในชาติ ที่จะมุ่งไปสู่การจัดการขยะที่ยั่งยืน ผมในนามของรัฐบาล พร้อมทั้งภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ 15 หน่วยงาน  อยากจะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการเตรียมถุงผ้า กระเป๋า สำหรับหอบหิ้วสินค้า แทนการขอรับถุงพลาสติกในวันที่ 15 ของทุกเดือน หรือมากกว่านั้น หรือทุก ๆ วันก็ได้ เราจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันในวันพรุ่งนี้ (15 สิงหาคม 2558) ทั้งนี้ การปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเพียงคนละ 1 ใบ/วัน ก็จะทำให้ประเทศไทยลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติกได้ราว70 ล้านใบ/วัน

ผมขอขอบคุณ และขอชื่นชมผู้ประกอบการทั้ง 15 หน่วยงาน ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เห็นคุณค่าของการสร้างวินัยการปลูกจิตสำนึกในการจัดการขยะของบ้านเมืองอย่างจริงจัง เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืน พี่น้องประชาชนก็ต้องช่วยกัน สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุตรหลานด้วย

ขอให้ทุกมีความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขี่จักรยาน “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แม่แห่งแผ่นดิน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี 2558 ขอให้ทุกคนปั่นจักรยานด้วยความสุข ข้อสำคัญคือความปลอดภัยด้วย ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

----------------------

ที่มา : http://www.thaigov.go.th/