พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2558

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2558

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ส.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,904 view
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2558 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน


ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าหลายท่านคงได้เห็นข่าว การที่มีพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ไปเข้าแถวรอรับเสื้อและเข็มกลัดพระราชทาน เพื่อจะเตรียมการ ในการเข้าร่วมกิจกรรม “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” ก็เป็นที่น่ายินดี คนจำนวนมากมายที่ไปเข้าแถวรอคอย ตั้งแต่ตี 1 ตี 2 จนกระทั่งบางทีก็ถึงบ่าย เพราะฉะนั้นก็จะแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วร่วมกิจกรรมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาส “วันแม่ของแผ่นดิน” แล้วก็แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของปวงชนชาวไทยของเราด้วย ก็อย่าลืมเตรียมร่างกาย อุปกรณ์ ในเรื่องของความปลอดภัย ศึกษากติกา มารยาทในการปั่นจักรยานด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ท่านทรงเป็นห่วงมากในเรื่องนี้ เรื่องความปลอดภัยของพวกเราทุกคนจะได้มีความสุขกัน และก็ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ที่กำลังจะมาถึงนี้ทุกคนก็คงจะได้ร่วมกิจกรรมที่ว่านั้นด้วยความสุข

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการออกรายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในเรื่อง “สถานการณ์การค้ามนุษย์” ที่เรียกว่า TIP Report ประจำปี 2558 ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามและรับทราบผลก่อนหน้านี้แล้ว เราก็ไม่รู้สึกท้อ ไม่ผิดหวังใด ๆ เราต้องมีความหวัง อย่าไปผิดหวังในเรื่องใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับในกติกาของสากล รัฐบาลไทยก็จะเดินหน้าต่อไป ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะว่าเราก็ต้องสงสารคนเหล่านี้ที่ถูกหลอกลวงที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ มีผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด

รัฐบาลนี้ถือว่าเป็น “วาระแห่งชาติ” เราต้องมีหน้าที่ต่อประชาชนทั่วไปทั้งโลก ไม่เฉพาะคนไทยด้วยกันเท่านั้นเอง เราก็พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกองค์กร ในการที่จะมีการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยให้ได้ แล้วก็สนับสนุนในเรื่องของการต่อต้านแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในอาเซียนทั้งหมดด้วย ในฐานะที่เราเป็นประเทศอาเซียน ด้วยกัน เพราะวันนี้เราว่าบ้านเมืองเรานั้น มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข เพราะฉะนั้นใครจะมาว่าเราอย่างไรก็ตาม เราก็อย่าท้อแท้ เราก็ต้องยึดมั่นในเจตนาของเราในสิ่งที่เราต้องทำให้เพื่อประเทศไทย และเพื่อให้สังคมไทยนั้นปลอดภัย แล้วก็ไม่เสียชื่อเสียงของต่างประเทศด้วย เรื่องความเข้าใจนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ที่จะต้องอธิบายกัน แต่ถ้าคนไทยด้วยกัน ฟังแล้วก็คิดใคร่ครวญให้ดี การที่เราจะทำอะไรให้ใครเขายอมรับได้ ก็ต้องพิสูจน์ทราบให้เขาเห็นให้ได้ก่อน เขาจะได้เข้าใจเรา

การจัดลำดับของเราใน “Tier 3” เราก็ได้รับมาแล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้เราก็ทำอะไรหลายอย่างที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะฉะนั้น การที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กำหนดมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็ทำของเรา เรารู้อยู่แล้วว่าดีขึ้น หรือไม่ดีขึ้นอย่างไร เราไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่เพียงแต่ว่าผลการดำเนินการนั้นไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ในช่วงที่เขามาดู อย่าลืมว่าเขามาดูในช่วงต้น ๆ ที่เราเพิ่งแก้ไขไป วันนี้เราแก้ไขมาหลายเดือนแล้ว แล้วก็ถ้าเลยไปอีกก็ต้องดีขึ้น วันนี้ก็ชัดเจนขึ้นหลายอย่าง การลงโทษเจ้าหน้าที่ การลงโทษผู้เกี่ยวข้อง 100 กว่าราย ลองไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ประเทศอื่น ๆ เขาน้อยกว่าเรามาก คดีความก็นำเข้าสู่ขบวนการพิจารณา วันนี้เราต้องแก้ไขให้ได้ทั้งระบบโดยเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเรามีความพยายามอย่างชัดเจนแล้ว วันหน้านั้น เราก็จะได้มีผลงานปรากฏออกมา แล้วการยกระดับขึ้นมาเป็น “Tier 2” ได้ในอนาคตโดยเร็ว

ในส่วนของปัญหาที่มีซับซ้อนกันอยู่ วันนี้หลายเรื่องด้วยกัน ทั้งค้ามนุษย์ ICAO เหล่านี้ แล้วก็ IUU ก็เช่นเดียวกัน ปัญหาเดียวกัน เพราะฉะนั้น เขาจะตัดสินอย่างไรก็เรื่องของเขา เราก็ต้องทำของเราให้ดีที่สุดแล้วกัน เพื่อคนไทย เพื่อทรัพยากรไทย เพื่อสิทธิมนุษยชน ดูแลทุกคนในโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียนด้วยกัน ที่มีผลกระทบโดยรวมทั้งสิ้น ใครจะว่าเราก็แก้ไข ใครชมเราเราก็ดีใจชื่นใจ แล้วก็เก็บไว้เงียบ ๆ เพราะปัญหาหลายอย่างทับซ้อนกันอยู่ เรารู้ตัวเองเราดีอยู่แล้ว ก็ขอความร่วมมือ ความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชน คนไทยทุกคน ก็อย่าพูดกันถึงเรื่องนี้อีกเลย เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วก็ส่วนที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบการ รวมทั้งแรงงานด้วย ก็อย่าตกเป็นเหยื่อเขา ก็ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใกล้ตัวเรามาก ประเทศเรามีผลกระทบหลายอย่าง การค้า การลงทุนต่าง ๆ ต้องทำให้สิ่งเหล่านี้หายไปให้ได้จากสังคมไทย ก็ขอเน้นย้ำเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ ว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นต่อไปทุกเรื่อง การต่อต้านการค้ามนุษย์ IUU, ICAO อะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ที่มีปัญหาทับซ้อนมายาวนานที่ผ่านมาจากหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลนี้จะจริงจังทุกเรื่อง ให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมของโลก และในเรื่องของการรักษาความมั่นคงของประเทศด้วย ลดบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งคนไทยและคนอาเซียนทั้งหมด ก็ขอร้องให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ต้องเข้าใจเรา เรากำลังแก้ปัญหาอยู่ แล้วก็มีการขยายความร่วมมือกับนานาประเทศด้วย องค์การระหว่างประเทศ ชี้แจง ทำความเข้าใจ ส่งหลักฐาน ผลการดำเนินงานให้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนที่รัฐบาลให้ความเร่งด่วนอีกอันหนึ่งก็คือ การแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ วันนี้เราจำเป็นต้องวางรากฐานการสร้างความเข้มแข็งในภาคเศรษฐกิจ แล้วก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตให้ได้ ทั้งนี้ ก็จะทำให้ประเทศไทยนั้น ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนานนั้น แล้วเราก็ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญในเรื่องของรายได้ที่เข้ามาสู่รัฐ เพราะฉะนั้น เราต้องแสวงประโยชน์จาก “ภูมิรัฐศาสตร์” ที่เรามีอยู่แล้วเดิมในการเชื่อมโยง ในการจะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันของไทยและของมิตรประเทศ เข้ากับภูมิภาคหลาย ๆ ภูมิภาคด้วยกัน ทิศทางเดียวกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย เราก็ต้องหันมามองตัวเองก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องทำความเข้าใจ แล้วก็จัดระบบ ระเบียบต่าง ๆ ให้ได้ กฎหมาย พันธกรณี ขีดความสามารถของเราเอง เราก็มุ่งเน้นการลงทุนโดยเอกชนไทยก่อน ต่างประเทศเราก็มาเสริมให้ แต่จำเป็น ถ้าเราไม่นำต่างประเทศมาเลยก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราก็ต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักอยู่แล้ว แล้วก็ประชาชนโดยรวม ในการแข่งขันในเรื่องทางด้านเศรษฐกิจนี้ วันนี้ถ้าจะสังเกตดูจะเห็นว่าทุกประเทศ เขาปรับรูปแบบทางด้านธุรกิจใหม่แล้ว เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ คือไม่พึ่งพากิจการที่มีรายได้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เพียงอย่างเดียว เช่น ไปพึ่งการส่งออกอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องไปดูในคลัสเตอร์อื่น ๆ ด้วย การท่องเที่ยว การลงทุนในเรื่องของการขนส่งขั้นพื้นฐานอะไรต่าง ๆ ที่เราต้องเชื่อมโยงทั้งหมด จะทำให้ทุกคนเพิ่มการลงทุนมา เมื่อลงทุนมาก็มีภาษี มีผลประโยชน์ที่เป็นธุรกิจต่อเนื่อง ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันหมด เรามีศักยภาพหลายอย่างเป็นภูมิรัฐศาสตร์ตรงกลาง เรามีเส้นทางการคมนาคมที่ถือว่าดีมากในอาเซียนในวันนี้ตรงกลาง แล้วเรากำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัยอีกด้วย รถไฟ รถไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่

นอกจากนั้นแล้ว เรามีศักยภาพหลายอย่าง เรื่องผลิตผลทางการเกษตร เรื่องการรักษาพยาบาล เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องเครื่องสำอาง เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร แล้วก็การบริการต่าง ๆ  เพราะฉะนั้นเหล่านี้ ต้องนำมาหาว่าจะทำกันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีรายได้เข้าประเทศให้มาก ๆ จะได้ไปลด ในกรณีที่เศรษฐกิจโลก มีปัญหา ทำให้รายได้เราตกต่ำ ถ้าเราพึ่งการส่งออกอย่างเดียว แล้วก็ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเกษตรกรรมด้วย มีปัญหาหมด

เพราฉะนั้น เราได้ตั้งคณะทำงานแล้ว คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรียกว่า กพข. ก็ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน เป็นแผนปฏิบัติการ 6  ด้าน คือ 1. ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เน้นการแสวงหาพันธมิตรและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสร้างความสอดคล้องในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2. ก็คือด้านการพัฒนา คลัสเตอร์ ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ผมกล่าวไปแล้วเมื่อสักครู่ เช่น ภาคการเกษตร ท่องเที่ยว การบิน การรักษาพยาบาล นำมาเชื่อมโยงกัน และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน ในระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาคให้เกื้อกูลต่อกัน 3. คือการพัฒนาเชิงศักยภาพ ประกอบด้วยการจัดทำศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Center) เพื่อจะให้มีการพัฒนาการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง และส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์ ในด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การส่งเสริมประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และการวิจัยและพัฒนา ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา  เราอยากให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัย” ซึ่งมีทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษา และในส่วนของ “ศูนย์ส่งเสริมการลงทุน” ภาคเอกชน ร่วมกับสถานศึกษาในปัจจุบัน หรือของรัฐอยู่แล้วในปัจจุบันนี้ด้วย จะได้ใช้เงินที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน แล้วก็สามารถที่จะบังคับวิถีได้ว่าเราจะเดินหน้าประเทศไปอย่างไร วิจัยเรื่องอะไร แล้วนำสู่การผลิตในเรื่องอะไร ให้ชัดเจนขึ้น 4. คือในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราต้องปฏิรูปการศึกษาให้ผลิตคนให้ตรงกับความต้องของตลาดแรงงาน รวมทั้ง การพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งด้านทักษะและวิชาชีพ รวมความถึงด้านภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้านหรือภาษาของประเทศที่มาลงทุนในบ้านเราที่มีหลายประเทศ หลายภาษาด้วยกัน เพื่อจะรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในปีหน้านี้ในการลงทุนของประชาคมอาเซียนด้วย กระทรวงศึกษาธิการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางรากฐานการปฏิรูปและการศึกษาของประเทศไว้แล้ว ก็คือใช้คำว่า เน้นการ “สร้างคนดี มีคุณธรรม” คนดีนี้บางทีก็ตอนนี้กำลังไม่ชัดเจน จะดีอย่างไรอีก เอาง่าย ๆ มีคุณธรรมแล้วกัน รู้อะไรดีไม่ดีถึงจะเป็นคนดี ถ้าเป็นคนดีแล้วไม่รู้อะไรดี ไม่ดี ก็คงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นผมเลยให้เติมคำว่า มีคุณธรรมเข้าไปด้วย ดีก็ทำ ไม่ดีก็อย่าทำแล้วก็ห้ามคนอื่นเขาไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ดีด้วย 5. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ อาทิ มาตรการอำนวยความสะดวก – ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) วันนี้ก็ก้าวหน้าไปตามลำดับในทุกกิจกรรมการให้บริการภาครัฐ สำหรับประชาชนทั่วไป ก็ดูแลเจ้าหน้าที่เขาด้วย เพราะว่าเหน็ดเหนื่อย เรื่องเข้ามาวัน ๆ เป็นหลายร้อย หลายพันเรื่องรวม ๆ กันแล้วจะหลายแสนเรื่องแล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนชาวไทย ชาวต่างชาติ รวมทั้ง การพัฒนากระบวนการทางศุลกากร อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษี มีการเชื่อมโยงบัตรประชาชนกับข้อมูลการเสียภาษี 6.ด้านการจัดการข้อมูลภายใต้แผนปฏิบัติการ เพื่อบริหารจัดการข้อมูล ในการที่จะสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลภาครัฐ สร้างความรู้ – ความเข้าใจ ในลักษณะเชิงรุก เพื่อจะใช้ในการบูรณาการแล้วเพื่อสร้างความประสานสอดคล้องเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทุกมิติที่กล่าวมา

เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพี่น้องเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในการที่จะยกระดับประเทศจากประเทศที่ทำเกษตรกรรมอย่างเดียว ให้พัฒนาไปเป็นประเทศ “อุตสาหกรรมการเกษตร” หรืออื่น ๆ นั้น ทรัพยากร “น้ำ” มีความสำคัญยิ่ง เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องสร้างความยั่งยืน ความมั่นใจ โดยการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม ปัจจุบันคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ของรัฐบาล ระยะแรกเป็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันนี้ได้ส่งแผนมาแล้ว ก็ปรับปรุงแผนดังกล่าวในการประชุมไปเรียบร้อยแล้วก็ได้รับช่วงแผนยุทธศาสตร์มาจากของ คสช. ที่เราทำไว้ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ พ.ศ. 2558-2569 ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยให้กระทรวง – หน่วยงานปกติของรัฐ  ได้มีการบูรณาการ ขับเคลื่อน “แผนน้ำ” ทั้งหมด ทั้ง 6 เรื่อง และ 12 กิจกรรม อันที่จริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้ก็ทำงานมากับ คสช. ด้วยตลอดอยู่แล้ว วันนี้ปรับให้ตรงเข้ามาในกรอบของรัฐบาลเท่านั้นเองก็ต่อเนื่องกันไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลย เราก็ต้องครอบคลุมทั้ง 6 เรื่อง น้ำทุกประเภท ทั้ง 12 กิจกรรม มากกว่าเราจะมุ่งเน้นการป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียวหรือขาดน้ำอย่างเดียวต้องแก้ทั้งทุกกิจกรรม ทุก 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน

เพราะฉะนั้น เราจะประกอบไปด้วยเรื่องของการดูแลการประปาหมู่บ้านให้ครบ ของชุมชน ของโรงเรียน การขุดสระน้ำในไร่นา การบริหารแหล่งน้ำในและนอกเขตชลประทาน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร – ช่วยภัยแล้ง  การขุดลอกลำน้ำสายหลัก การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การฟื้นฟูผืนป่า รวมทั้ง การทำพื้นที่ป้องกันและลดการพังทลาย เหล่านี้เป็นต้น หลายเรื่องที่เรานำปัญหาที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมามีน้ำท่วม ช่วงแรก ๆ ช่วงครั้งที่แล้ว มหาศาล เสียหายมาก เราก็นำอันนั้นมาแก้ไขหมดเพียงแต่ว่าต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณแล้วเดินไปตามสเต็ป ตามขั้นตอนของเรา โรดแมปของเราการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน ครั้งนี้ก็เป็นปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยที่เราก็คาดการณ์มาแล้วว่าจะเกิดแต่ไม่คิดว่าจะมากขนาดนี้เผอิญเป็นเรื่องของเอลนีโญเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นทุกประเทศเดือดร้อนหมด รอบบ้านเราเดือดร้อน เว้นเมียนมาร์ที่ฝนตกเพราะว่าป่าไม้เขายังดีอยู่ เราก็ต้องเตรียมการให้พร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งให้ได้ในปีนี้และในอนาคต อันนี้เป็นงานเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ สำหรับปานกลาง ระยะยาวที่ต้องไปถึงปี 2569 ก็ได้จัดให้มีคณะอนุกรรมการที่เหมาะสมให้สามารถจะวิเคราะห์แนวโน้ม – ติดตาม – ประเมินสถานการณ์น้ำ ในการที่กำหนดนโยบายระดับชาติ ทั้งในเรื่องของ “อุปสงค์และอุปทาน” ให้มีความสอดคล้องกันก็เป็นไปตามสถานการณ์ของภูมิอากาศโลกด้วย ต้องศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอใหม่ ๆ สำหรับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ อย่างบูรณาการ อาทิ 1. การนำน้ำจากฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อแทนการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา  2. การตัดน้ำโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปที่คลองสำแล ที่จะสามารถช่วยลดน้ำที่จะผลักดันน้ำเค็มเพื่อรักษาระบบนิเวศ 3.การหาแหล่งน้ำต้นทุนมาเพิ่มให้การประปานครหลวง  4.  การกำหนดมาตรการ – ข้อพิจารณาในการใช้ “น้ำก้นอ่าง” (Dead Storage) ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีรวมกันราว 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อมีความจำเป็น  5. การเจรจา – ทำความตกลง ในการขอผันน้ำ จากแม่น้ำสาละวิน – เมย –โขง ในฤดูน้ำหลาก มาใช้ประโยชน์สูงสุดภายในประเทศด้วย

รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย ในทุกกลุ่มที่ยังประสบปัญหาปากท้อง ขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าในเรื่องของกองทุนการออมแห่งชาติ ที่เรียกว่า กอช. ก็จะเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ของกองทุนฯ ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เป็นวันแรก เพื่อจะดูแลพี่น้องประชาชน ช่วงอายุ 15 – 60 ปี ราว 30 ล้านคน  ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น  รวมทั้ง ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ แต่ยังไม่มีระบบใด ๆ มารองรับด้วยในขณะนี้ หวังเพื่อจะสร้าง “นิสัยการออม” ทุกช่วงวัย อันนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่รัฐจะช่วยจ่าย “เงินสมทบ” ให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปีแล้ว ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็น “รายเดือนตลอดชีพ” ถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิต ในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ เป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล สอบถามได้ที่ “เงินสะสม – เงินสมทบจากภาครัฐ – อัตราผลตอบแทนต่าง ๆ” และสมัครเข้าร่วมกองทุนฯ ได้ที่ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสิน  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ

ผมได้รับรายงานความคืบหน้า ในการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง และในส่วนของ คสช. ในส่วนของกระทรวงกลาโหมก็มาช่วยกันผนึกกำลังกันอยู่ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจภาระหนี้สินของเกษตรกร ทั้งหนี้ใน – นอกระบบ  มีเกษตรกรที่เป็นหนี้ทั้งหมด ณ 10 กรกฎาคม 2558 จำนวนประมาณ 1.6 ล้านราย  มูลหนี้ราว 4 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 240,000 บาท จากนั้น เราก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายอย่างด้วยกันให้เป็นรูปธรรม ทั้งรูปแบบการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ ทั้งในด้านกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้  และการปลดเปลื้องหนี้สิน  ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียสิทธิ หรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง อาทิ 1) ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ทุกประเภท 2) กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่จำเป็นเร่งด่วน ได้ให้ “ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม” กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการโดยกรมบังคับคดี กับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งจะเป็นหนี้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม หรือเจ้าหนี้ผู้ที่มีอิทธิพล หรือเครือข่าย เพื่อจะให้การช่วยเหลือด้านกฎหมาย เมื่อเสร็จแล้วก็จะจัดส่งให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปลดเปลื้องหนี้สินต่อไป 3) กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน ก็ได้ให้กองทุนหมุนเวียน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินการแล้วก็จะให้ในเรื่องการดำเนินการช่วยเหลือไกล่เกลี่ย – ประนอมหนี้ – ปลดเปลื้องหนี้สินระยะต่อไป 4) กลุ่มลูกหนี้ในระบบ ให้กระทรวงการคลัง ได้กำหนดมาตรการให้กับสถาบันการเงินและสหกรณ์ ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ ก็เพื่อจะให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยเร็ว กลไกหลักที่สำคัญในพื้นที่ก็คือคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดจะดำเนินการโดยการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ในแต่ละพื้นที่ตามจำนวนที่สำรวจไว้แล้ว และจะมีการคัดกรองหนี้สินดังกล่าวส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการต่อไป และได้มอบให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเจรจาหนี้ให้ครบทุกรายภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2558  ตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของหนี้ แล้วก็ให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปใช้หนี้ ก็จะให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดงาน “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน” ช่วงนี้ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดงาน  “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน” มาแล้วกว่า 20 วัน มีประชาชน ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากให้ความสนใจผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ เกาหลี จีน กัมพูชามียอดขายและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากน้ำมันเปลือกส้มโอและมะกรูด เครื่องดื่มสมุนไพร และเครื่องสำอาง ซึ่งมีผู้มาเที่ยวงานกว่า 95,000 คน และมียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพกว่า 22 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในร้านนวดและสปา  มีบริการนวดแผนโบราณ กดจุด ตอกเส้น ตรวจวัดอีคิว ตรวจคัดกรองอัลไซเมอร์ ตรวจวัดไขมันในร่างกาย เรียกว่า “ครบวงจร” ที่นี่ ข้างทำเนียบรัฐบาล

เดือนหน้า ตั้งแต่ 3 – 23 สิงหาคม 2558 จะมีการจัดตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ในเรื่องของการจัดงาน “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของขวัญแด่แม่” ให้ตรงกับเดือนสิงหาคม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีการเชื่อมโยงกิจกรรมร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร เพื่อจะร่วมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องใน “วันแม่แห่งชาติ” และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน  ที่เราได้มีผลงานสร้างสรรค์มาเป็นจำนวนมาก มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่รู้ บางอย่างเราก็คิดมาแล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องทำให้ไปสู่การผลิตให้ได้ ไปสู่การส่งออกให้ได้ และสร้างแบรนด์ของเราเองบ้าง ก็จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากขึ้น เป็นการพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในวันนี้และอนาคตในวันข้างหน้า ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเดิม เศรษฐกิจก็ตกต่ำอยู่แบบนี้ ท่านลองไปทำอะไรใหม่ ๆ เราจะต้องยกระดับกระบวนการความคิด วิจัย พัฒนาไปสู่กระบวนการผลิต และไปสู่การตลาด ในลักษณะเป็นอุตสาหกรรม โดยจะต้องคงคุณค่า คุณภาพที่ดี เป็นความพึงพอใจที่ถูกใจผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไป หลายอย่างมีอนาคต

ผมเห็นว่าเป็นโอกาสดีในห้วงวันสำคัญนี้ “วันแม่ของแผ่นดิน” อยากให้บรรดาคุณลูกที่มีความกตัญญูในการสรรหาของขวัญให้กับคุณแม่ ก็ขอให้มาร่วมรับชมจัดหาสิ่งของเหล่านั้นได้ และมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการงานศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาทิ ผลิตภัณฑ์งานเป่าแก้ว ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาชาววัง ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา ผลิตภัณฑ์งานวาดภาพสีน้ำมัน และนิทรรศการของกระทรวงอุตสาหกรรม นโยบายของรัฐบาลที่ขาดไม่ได้ก็คือ ให้เป็นกิจกรรมการให้คำปรึกษา – แนะนำ ในการที่จะพัฒนาธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจมีความรู้ต่าง ๆ ให้ สร้างเถ้าแก่ใหม่ ในการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้น่าซื้อ น่าใช้ และในเรื่องของการยกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทุกงานเวลารัฐบาลจัด ทุกกระทรวงก็ให้เป็นเรื่องของการจัดงานแสดงด้วย ให้มีการเจรจา/จับคู่ธุรกิจด้วย และในส่วนของรัฐ หรือของพาณิชย์ต่าง ๆ ก็มาให้การสนับสนุน ธนาคารต่าง ๆ ให้การสนับสนุน ส่งเสริมแหล่งเงินทุน  ธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจ Social Business และก็สอนในเรื่องของการทำแผนธุรกิจ ซึ่งก็ตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะบริหารธุรกิจแบบเดิม ๆ แบบครอบครัว ซึ่งวันนี้ไม่ได้แล้ว ต้องมี Good Governance การกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย เราจะมีการให้บริการภายในงานด้วย ขอเชิญทุกท่านมาร่วมงาน ทั้งพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ  ข้าราชการ ช่วยมาร่วมกิจกรรมในงานนี้ด้วย แล้วก็ขอให้นำไปขยายผลความสำเร็จ ถ้าเราไม่เพิ่มพูนไม่เรียนรู้ ความรู้ใหม่ ๆ ก็จะอยู่เท่าเดิม ข้าราชการก็จะรู้เท่าเดิม แต่วันนี้รัฐบาลพยายามที่จะขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ ความทันสมัย เทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ ต้องใช้ความรู้ใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นผมก็ศึกษาด้วย อะไรด้วย ถามผู้รู้บ้าง ไม่ใช่คิดเอาแต่ตัวเอง ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ก็ต้องศึกษาคน ถ้าอะไรทำได้ก็ทำ ถ้ามีปัญหาสั่งไปแล้วไม่ถูก ผมก็ไม่ไปฝืนให้ทำอยู่แล้ว ทุกอย่างที่สั่งไปแล้ว ผมต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากทุกคนใน ครม. ผมบอกแล้วว่าผมสามารถริเริ่มให้ได้ แต่ถ้าผิด ท่านก็อย่าปล่อยให้ผมทำผิด เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติต้องยืนยันว่าเราทำได้หรือไม่ได้ อย่างเช่น ปัญหาในเรื่องพลังงาน เรื่องโรงไฟฟ้า ผมว่าก็ต้องทำให้ชัดเจน ได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ผมไม่ได้บอกว่าผมไปดันทุรังว่าต้องทำให้ได้ หรือไม่ได้ ไม่ใช่ ผมยังไม่พูดถึงตรงนั้นเลย อย่าไปตีความกันผิด ๆ ถูก ๆ ก็เพียงแต่รับฟัง และหาทางออกกันให้ได้ เพื่อประโยชน์ของชาติในอนาคต ถ้าไม่ได้จะไปทำที่ไหน จะทำอะไรแทนก็ต้องตอบกันมาให้ชัดเจนทั้ง 2 ฝ่าย แล้วก็มีบุคคลที่ 3 มาด้วย เราจะไม่ปิดกั้นใครทั้งสิ้น ขอให้เข้ามา ฝากข้าราชการในพื้นที่ด้วย

เรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องของการเร่งในเรื่องปฏิรูปการศึกษา ได้สั่งการไปแล้วเชิงโครงสร้างระยะแรกว่าจะทำอย่างไร ให้เด็กมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข หนี้สินครูดูอยู่ด้วย วันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับในเรื่องของการใช้จ่าย หนี้ กยศ. หนี้ครู การกู้เงินต่าง ๆ ก็ทำกันทั้งหมด

เรื่องเศรษฐกิจ พอดีมีเรื่องภัยแล้งเข้ามาอีก เหมือนกับโรคซ้ำกรรมซัดหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ธรรมดาถ้าเราเผชิญหน้าแบบนี้บ่อย ๆ เราก็จะเข้มแข็งเอง ปัญหาอยู่ที่ว่า “เราเตรียมตัว เตรียมใจ” ได้แค่ไหน อดทนได้แค่ไหน เพราะเราไม่เคยเจอ พอมีปัญหาก็อุด ๆ ช่องกันไป วันนี้ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ถ้าแก้แบบเดิมก็เป็นแบบเก่า แล้วเงินทองเราก็ใช้จ่ายล่วงหน้ามากมาย วันนี้ก็ต้องอดทนและต้องเข้าใจด้วย ผมไม่เคยคิดอะไรโดยไม่นึกถึงคนรายได้น้อยเลย ทุกเรื่อง แต่เราจำเป็นจะต้องส่งเสริมทุกอัน เป็นธุรกิจต่อเนื่อง มีงานเพิ่ม มีรายได้ไปถึงคนรับจ้าง อะไรก็ว่าไป ถ้าไม่มาช่วยกันตรงนี้ อย่างเดียวที่ไปไม่ได้ แล้วนำเงินไปให้ใช้จ่าย ก็หมดเหมือนเดิม ก็จะให้ตามความจำเป็น ตามความเดือดร้อน

เรื่องภัยแล้ง ก็มีปัญหาอยู่พอสมควร ถึงแม้จะมีฝนตกอยู่บ้าง คือน้ำไหลลงอ่างเพิ่มมากขึ้น แต่เปรียบเทียบกับที่เราจ่ายน้ำก็ยังใกล้ ๆ กัน เพราะว่าน้ำเหล่านี้ไม่ได้ส่งจากท่อไปตรงโน้น ตรงนี้ได้ น้ำไหลมาด้วยสายระบบส่งน้ำทางเปิด เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้เรื่องระบบส่งน้ำกันคราวหน้า แต่วันนี้อยากจะบอกทุกกระทรวง ทบวง กรม ว่า ถ้ามีงบประมาณเหลือ มีงบประมาณในเรื่องของการจ้างงาน ก็ลองไปขุดเพิ่มเติมดู ตรงไหนพร้อมจะขุดเก็บกักน้ำไว้ได้ ก็ขุดตอนนี้ ผมเป็นห่วงว่าถ้าระยะต่อไปฝนแล้งอีก หรือทิ้งช่วงอีก จะทำอย่างไร ก็มีผลกระทบกับการปลูกพืชใน Crop 2 อีก ก็จะเกิดผลกระทบเหมือนกับแบบ Crop 1 เพราะฉะนั้นฝากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดูว่า เราจะทำอย่างไรกับ Crop 2 ต่อไป จะแก้ปัญหาอย่างไร

เรื่องการจ้างงานก็สั่งไปแล้ว เมื่อวันที่ผ่านมาได้เสนอเข้า ครม. แล้ว อนุมัติเงินไปแล้ว เดี๋ยวจะมีการจ้างงานในพื้นที่ที่เดือดร้อนให้ได้ ไม่เดือดร้อนก็คงไม่ได้ ก็ไปสร้างให้เกิดการจ้างงานเกิดขึ้นทุกจังหวัด มากบ้างน้อยบ้างตามความจำเป็น อันที่ 2 คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช โดยกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบไป อันแรกเป็นของกระทรวงมหาดไทย 3. การเตรียมการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย จากการเพาะปลูกพืช กำลังสำรวจอยู่ เราจะไปทุ่มทั้งหมดไม่ได้ เพราะฉะนั้นใครเสียหายก็ว่ากันไป ใครที่ไม่เสียหายก็ต้องสู้ไป และต้องเตรียมการใน Crop หน้าให้ได้ด้วย

เรื่องการปั่นจักรยาน "Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่" ขอขอบคุณทุกคน ขอให้เตรียมร่างกายไว้ให้พร้อมและระมัดระวังช่วงนี้ฝนตกการฝึกต่าง ๆ ก็ระวัง เดี๋ยวจะไม่ได้ร่วมกิจกรรมวันจริง ป่วยไม่ได้ ต้องระวังอย่าให้ล้ม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นห่วงในเรื่องนี้ให้เกิดความปลอดภัยและเกิดความสุข ในวันที่ 16 ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ก็จะมีการซ้อม ผมก็ต้องไปตรวจความเรียบร้อยในเส้นทางในจุดต่าง ๆ ให้มีผลกระทบเรื่องการจราจรน้อยที่สุด ผมก็จะเร่งเวลาให้เร็วขึ้นก็เป็นการภายใน อย่าถือว่าเป็นกิจกรรมหลักเลย กิจกรรมหลักคือวันที่ 16 สิงหาคม ทุกคนก็ไปร่วมเฉลิมพระเกียรติ

เรื่องการท่องเที่ยว วันหยุดราชการนี้ หยุดหลายวัน 4 วัน ผมก็เป็นห่วงเรื่องเดิม คือ อุบัติเหตุขี่รถ ขับรถ การดื่มสุรา อะไรทำนองนี้ แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ ผมฝากไว้หนึ่งคำแล้วกันในปีนี้ ถ้าหากคนที่ชอบกินเหล้าแล้วขับรถ หรือขับรถเร็ว ถ้าท่านไม่รักชีวิตของท่านเอง ท่านก็นึกถึงคนอื่นเขาบ้าง คนอื่นเขารักชีวิตของเขา ท่านไม่รักชีวิตของท่านก็ไม่เป็นไร อย่าทำให้เขาบาดเจ็บสูญเสีย เป็นความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัวเขา ตัวท่านเองผมไม่รู้จะว่าอย่างไร ห้ามไปห้ามมาหลายครั้งแล้วก็ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ ท่านไม่รักตัวท่านก็ไม่เป็นไร อย่าทำความเสียหายให้กับชาติบ้านเมือง ให้กับคนอื่น ๆ เท่านั้นเอง ให้รู้ว่าชีวิตนั้นมีค่าแค่ไหน อย่างไร ขอขอบคุณ ขอให้มีความสุขในวันหยุดราชการหลายวัน ขอให้ปลอดภัย และขอให้ฝนตกมาก ๆ น้ำลงเขื่อนมาก ๆ พืชไร่ พืชสวนต่าง ๆ ประมง น้ำจืด อะไรก็แล้วแต่ ขอให้ผ่านพ้นภัยดังกล่าวเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว ขอขอบคุณครับ ด้วยความเป็นห่วง สวัสดีครับ

 

----------------------

ที่มา : http://www.thaigov.go.th/