สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
พรุ่งนี้ วันที่ 18 กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตครบ 20 ปี ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย" ผู้ทรงมีพระวิริยอุตสาหะสูงในการทำงาน เพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการหน่วยแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) โครงการมูลนิธิขาเทียม และโครงการพัฒนาดอยตุง ฯลฯ พระองค์มีส่วนร่วม และช่วยให้ชาวเขาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือได้เลิกการทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกฝิ่น เปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่
ผมอยากจะเชิญชวนให้พวกเราทุกคน ได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน อยากให้ผู้ใหญ่ได้เล่าให้เด็ก ๆ ฟัง ที่อาจเกิดไม่ทันได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย มีความสุข และก็สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามตามรอยพระองค์ท่าน
ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์จะจัดงาน "20 ปี เราไม่ลืม" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสนองพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อราชเลขานุการในพระองค์ฯ และเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในขณะนั้น ว่า "ทำอย่างไรอย่าให้คนลืมแม่" โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปีทั่วประเทศ เช่น กิจกรรมเผยแพร่พระสาทิสลักษณ์ ที่จังหวัดเชียงราย ที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว จะมีเพลงเทิดพระเกียรติสมเด็จย่าที่คุณบอย โกสิยพงษ์ ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อโอกาสนี้ และอีกมากมาย รายละเอียดติดตามได้ในเพจ facebook "สมเด็จย่า" ครับ
สำหรับพี่น้องชาวมุสลิม เดือนรอมฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อวานนี้ วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 พร้อมกับการเฉลิมฉลอง “วันอิดิลฟิตรี” ฮิจเราะฮ์ศักราช 1436 ตลอดหนึ่งเดือนเต็ม พี่น้องชาวมุสลิมได้ร่วมการปฏิบัติศาสนกิจ ตามบัญญัติของศาสดา ด้วยการถือศีลอด ดำรงศาสนกิจด้วยความมุ่งมั่น และด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยศรัทธา มุ่งแสวงหาความดีงาม ตามแนวทางศาสนาอย่างเข้มแข็ง
ในโอกาสนี้ ผมในนามของรัฐบาลขอส่งความปรารถนาดี มายังพี่น้องชาวมุสลิมที่รักทุกท่าน ขออำนาจเอกองค์ พระผู้บริบาล ได้ประทานความสุข ความจำเริญ และสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ มีจิตใจที่มั่นคง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความดีความงาม และปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์สุขต่อสังคมตลอดไป
เมื่อวันพุธที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้แทนนักกีฬา ผู้พิการทางสติปัญญา ทีมชาติไทย จำนวน 53 คน ก่อนเดินทางไปแข่งขัน The Special Olympics World Summer Games 2015 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในห้วง 21 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2558 ผมถือว่าทรัพยากรมนุษย์นั้น เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของชาติ และการกีฬาก็เป็นเครื่องมือ เพื่อจะฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้ทุกคนเข้มแข็ง นักกีฬาทุกคนนั้น ถือว่าเป็นตัวแทนประเทศ เป็นทูตพิเศษ ในการที่จะแสดงศักยภาพของประเทศด้านการกีฬา รัฐบาลให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม อย่างเท่าเทียมกัน ผมก็ขอให้ทุกท่านทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ประสบความสำเร็จ สมที่มุ่งหวังไว้ทุกคน
เรื่องการต่อต้านการทุจริต ถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เรื้อรังของประเทศ ที่คอยทำลายสังคมไทยของเรา เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงวิกฤตการณ์ด้านคุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคม ส่งผลกระทบในทางลบในทุกแวดวง ทั้งราชการและเอกชน ซึ่งการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยการปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมให้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ให้เห็นว่าการโกงนั้นเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่ยอมรับพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันและการโกงทุกรูปแบบ
ผมเชื่อว่าการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องนี้ จะเป็นรากฐานที่สำคัญเพื่อให้เด็กได้เจริญเติบโตขึ้น เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่น่าจะได้ผลที่สุด โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะดำเนินงานโครงการ “โตไปไม่โกง” ก็ได้เริ่ม “โครงการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือในการเรียนการสอนหลักสูตรโตไปไม่โกง” ซึ่งเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อให้การอบรมครูทั่วประเทศกว่า 600 คน ซึ่งจะกลายเป็นบุคคลสำคัญในการทำหน้าที่ส่งต่อและขยายแนวความคิดเหล่านี้ไปสู่กว่า 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ
ผมขอย้ำว่ารัฐบาลนี้ มีความจริงจังที่จะดำเนินการลงโทษคนที่ทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ใครทำผิดจะต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ใครที่ไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัว ก็ทำงานให้ดีที่สุดต่อไป ส่วนใครที่กำลังคิดจะทำก็ขอให้กลับไปคิดใหม่ ถ้าทุกคนไม่ทุจริต และรู้จักการแบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้ไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง สังคมก็อยู่อย่างมีความสุข ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ สังคมดีขึ้น งบประมาณที่หายไปก็จะมาแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ เหล่านั้น ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะลดลงไปได้มากพอสมควร
วันนี้ผมอยากพูดถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการทุจริต เรื่องแรกคือการปฏิรูปการให้บริการภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมความเข้มแข็งให้เข้าถึงบริการภาครัฐ ให้ “เร็วขึ้น ง่ายขึ้น แต่ถูกลง” ช่วยขจัดการทุจริตไปพร้อมกับการให้ความสะดวกให้กับประชาชน ในการเข้าถึงการบริการของรัฐ ที่ไม่ยากจนเกินไป ทั้งนี้ รัฐบาลก็ได้ออกพระราชบัญญัติ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ไปแล้ว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป หน่วยงานภาครัฐจะต้องจัดทำ “คู่มือสำหรับประชาชน” ที่จะอธิบายรายละเอียดของการบริการอย่างถูกต้อง ชัดเจน ซึ่งจะรวมถึง วิธีการ ค่าธรรมเนียม เอกสารหลักฐานและระยะเวลาการทำการ สำหรับการตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้อง ครบถ้วน ก็จะต้องดำเนินการทันที หากมีปัญหาหรือต้องการเอกสารเพิ่มเติมต้องแจ้งไปในครั้งเดียว ไม่ล่าช้า ไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องรอ หากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เป็นไปตามคู่มือฯ ก็แสดงถึงการส่อทุจริต หรือการไม่มีประสิทธิภาพ พี่น้องประชาชนก็สามารถร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน (OSS) เพื่อขอให้ได้มีการสอบสวน หรือบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกได้ โดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะติดตามอำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
2. เรื่องการยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางปกครอง วินัย ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยงาน หากไม่บังคับใช้ก็ถือเป็นความผิดทางวินัย ที่ผ่านมานั้น มาตรา 44 นั้น ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจะเข้าไปบริหารดำเนินการ คลี่คลายปมปัญหา ในการบริหารราชการของเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยการชี้มูลของ 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งผลการสอบสวนเป็นอย่างไรก็จะมีการรายงาน เป็นระยะ ๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ถูกปรับย้ายออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดช่องทางให้มีการสอบสวน โดยเรายังถือว่าไม่มีความผิดใด ๆ เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว มีความผิดจริงก็ต้องรับโทษทั้งวินัยและอาญา หาก “ไม่ผิด” ก็สามารถกลับมารับราชการได้เหมือนเดิม ในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ระดับล่าง มีหลักฐานเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนเช่นกัน ผมถือว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยให้สังคมของเราปลอดการทุจริตได้ในอนาคต
3. การใช้มาตรการทางภาษี จะเป็นเครื่องมือการตรวจสอบเชิงรุกสำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหา หรือในส่วนของเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ในการกระทำความผิดที่เสนอขายสินค้า บริการให้กับภาครัฐ โดยไม่ผ่านการดำเนินการทางภาษีให้ถูกต้อง กรมสรรพากรจะตรวจสอบการแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่มีบุคคล นิติบุคคล เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และตามประมวลรัษฎากร ตรวจสอบบุคคลผู้มีเงินได้เสียภาษีว่าครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่
4. การปรับปรุง แก้ไข และยกระดับกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง เดิมเรามีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ปรับปรุงเมื่อปี 2549 ซึ่งอาจจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ นักธุรกิจต่างชาติ ที่อยากให้เราออกเป็น “กฎหมาย” เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการทุจริต ไม่ให้นักการเมืองทุจริต ข้าราชการคอรัปชั่น และมีการแก้ไขรายละเอียดระเบียบการจัดซื้อได้โดยง่าย รัฐบาลเร่งผลักดันให้มี พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย 1. มีขอบเขตการบังคับใช้ กว้างกว่าเดิม ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงาน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น 2. ยึดหลักสำคัญ 4 ประการ คือ ความคุ้มค่า ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้ โดยกำหนดให้ทำ “สัญญาคุณธรรม (IP)” ในสัญญาว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน และใช้ “ระบบ CoST” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ได้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ลดช่องทางการหาประโยชน์จากผู้มีอำนาจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล รวมทั้ง ให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน และ 3. คือการกำหนดบทลงโทษ กรณีทำความผิด โดยครอบคลุมการลงโทษผู้สั่งการให้จัดซื้อจัดจ้าง เช่น นักการเมือง หรือหัวหน้าส่วนราชการ ที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ทั้งหมดนั้น ถือว่าเป็นการสร้างระบบในการแก้ปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งให้กับประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ผมก็มีแนวคิด ในการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมธรรมาภิบาลและขจัดการทุจริต” โดยจะขอการจัดสรรงบประมาณบางส่วน อาจจะจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อนำมาใช้ในการรณรงค์ต่อต้านการทุจิตต่าง ๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
การสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจองค์รวม โดยการเชื่อมโยง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” กับ “ชุมชน” ในส่วนตัวนั้น ผมเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเรา ต้องไปพร้อม ๆ กันกับประเทศเพื่อนบ้าน ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ในกรอบระเบียงเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงอาเซียน (Connectivity) อาศัยจุดแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ในภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ กิจกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะมีทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคบริการ การขนส่ง โลจิสติกส์ คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า รวมถึง การบริหารจัดการในการอำนวยความสะดวก ในการเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ แรงงาน ทุน และปัจจัยการผลิต เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น ต้องสอดคล้องกับชุมชน ชุมชนต้องได้รับประโยชน์โดยตรงจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้วย
จากแนวคิดดังกล่าวนั้น ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิด “ธุรกิจชุมชน” ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของการรวมกลุ่มกันเอง ของประชาชนในชุมชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ และนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไรกับมาสู่ชมชุนของตนเอง ภายใต้ “ระบบสหกรณ์ชุมชุน” ที่ไม่ใช่ระบบสหกรณ์ปันผลทั่วไป หัวใจสำคัญก็คือการนำธุรกิจชุมชนนั้น ไปทำกำไรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นด้วย โดยจะต้องอาศัยแนวคิดที่เรียกว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” จะเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้มุ่งหวังทำกำไร ผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจดังกล่าวนั้น ก็ดำเนินการโดยชุมชน หลังจากหักค่าจ้าง ค่าแรง ต้นทุน การบริหารจัดการแล้ว ก็จะถูกนำกลับมาสู่สังคม ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สวัสดิการสังคม การศึกษา สาธารณสุข หรือเพิ่มกองทุนเพื่อจะไปดำเนินการต่อให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ก็นับว่าน่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงที่ได้จากการพัฒนาที่เชื่อมต่อเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยตรง
นอกจากนั้นแล้ว จะทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ถ้าหากจะทำให้มีความเข้มแข็งได้นั้น ก็จำเป็นจะต้องมี “วิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) รองรับ เช่น โรงสีชุมชน สถานีจำหน่ายน้ำมันชุมชน โดยชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน บริหารจัดการกันเอง และหากมีความพร้อม ก็อาจสามารถพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการในรูปแบบของ “บรรษัทชุมชน” โดยผลกำไรจะนำกลับไปสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนในที่สุด ก็เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง
ผมขอยกตัวอย่างพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสระแก้ว ก็จะเป็นจุดเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศกัมพูชา ในเขตปอยเปต โอเนียง ก็สามารถพัฒนาเป็นศูนย์อุสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร คลังสินค้า และการขนส่ง ถือว่าสามารถสร้างโอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ชุมชนในพื้นที่ที่มีความพร้อม รวมตัวกันเป็นเครือข่ายทางสังคม มีหน่วยราชการ มีฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เชื่อมประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน รวมทั้งกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ชุมชนจะมีการกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ ในการบริหารจัดการเพื่อให้ได้ผลกำไรกลับคืนสู่ชุมชนและสังคมเองอย่างเหมาะสม ชัดเจนตั้งแต่ต้น ในรูปแบบของทุน สวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุขของชุมชน ลดการพึ่งพาจากส่วนกลาง สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นของตนได้เป็นอย่างดี
สำหรับวิกฤตภัยแล้ง แม้เราจะมีวิกฤตน้ำแต่ผมเชื่อว่าคนไทยเราไม่เคยแล้งน้ำใจที่เราจะมีต่อกัน ผมกลับมองว่าน่าจะเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมมือกันแสดงให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทุกข์ด้วยกัน สุขด้วยกัน พร้อมที่จะร่วมฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้พร้อม ๆ กัน ด้วยการเข้าใจในปัญหาว่ามาจากที่ใด ปัญหาอยู่ที่ไหนบ้างแล้วก็พร้อมที่จะเสียสละแบ่งปันกันเพื่อส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน บางอย่างนั้นอาจจะต้องเสียสละ บางอย่างก็จะได้เพิ่มเติมแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนถ้าได้เหมือนกันพร้อมกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ซึ่งต้นทุนน้ำเรามีน้อยมาก ฝนก็ไม่ตกน้ำในเขื่อนก็มีน้อยมาก เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องมีการประหยัดน้ำ เพราะฉะนั้นคนเมืองชุมชนก็ต้องช่วยกันประหยัดน้ำจนถึงเกษตรกรที่เราไม่สามารถสูบน้ำให้เขาได้ เพราะเราต้องเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าเราทำให้เขาลำบากอยู่เหมือนกัน แต่ทุกคนต้องใช้น้ำหมด เพราะฉะนั้นต้องใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด รักษาน้ำให้ได้ไปถึงเดือนสิงหาคม ถ้าฝนไม่ตกอีกก็จะเป็นปัญหาต่อไปอีกขอให้ฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของราชการ ผู้ที่เสียหาย เรากำลังหาทางพิจารณาดูแลสัปดาห์หน้าคงชัดเจนขึ้น
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ดร. มาร์กาเร็ต ชาน (Dr. Magaret Chan) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีหนังสือมาถึงผมแสดงความชื่นชม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ มีการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ระหว่างภาครัฐและเอกชน ประชาชนด้วย ประชาชนก็ไม่ตื่นตระหนก เข้าถึงข้อมูล และสามารถจำกัดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้โดยเร็ว เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ น่ายินดี เป็นสิ่งดี ๆ ที่อยากจะเล่าให้พี่น้องประชาชนฟัง ต้องขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ร่วมกันทำงานกันอย่างเต็มที่ นอกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วก็ยังมีอีกหลายกระทรวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคมนาคม การสัญจรไปมาทางอากาศต่าง ๆ มีการตรวจสอบ มากมายไปหมด ทุกส่วนราชการ ขอบคุณทุกคนแล้วก็ขอบคุณไปถึงพี่น้องประชาชนด้วยที่ให้ความร่วมมืออย่างดี
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คืออยากจะเรียนว่า การเดินหน้าของรัฐบาลนี้ ของ (คสช.) ก็เดินหน้าเข้ามาสู่ระยะที่ 2 แล้วก็เหลือระยะที่ 3 ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งเป็นเรื่องของการมีรัฐบาลในโอกาสต่อไป เมื่อมีความพร้อมของรัฐธรรมนูญของการทำประชามติของการเลือกตั้งก็เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้วเดิม แต่สิ่งที่ผมเร่งรัดอยู่ขณะนี้ก็คือเร่งรัดการดำเนินการทุกกระทรวง ทบวง กรมให้ทำงานให้ได้ผลสัมฤทธิ์ในทุกกิจกรรมที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปแล้วหรือที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการได้ อันนี้จะต้องสามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความพึงพอใจของประชาชนหรือตรงความต้องการของประชาชนโดยรับฟังความคิดเห็นทุกประการแล้วก็หาความร่วมมือให้ได้ อย่าให้มีความขัดแย้งกันอีกต่อไป
ในเรื่องของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลทางเรื่องของเศรษฐกิจประเทศ การลงทุนประเทศด้วยแล้วก็ป้องกันปัญหาในอนาคต ในระยะยาว อันนี้ก็อยากจะให้ทางรัฐมนตรี ทางข้าราชการตั้งแต่ปลัดกระทรวงลงไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้ปฏิบัติ ทุกกระทรวง ทุกฝ่ายนั้นได้ไปเร่งรัดการดำเนินการ ที่ผ่านมานั้นเราได้แก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ลดขั้นตอน ลดเวลาต่าง ๆ ไปเรียบร้อยหมดแล้ว วันนี้ก็ต้องมาจับต้องดูว่ากิจกรรมที่สั่งไปแล้วไม่ว่าเป็นในเรื่องของการศึกษา ในเรื่องของเศรษฐกิจ ในเรื่องของการลงทุน ในเรื่องของเทคโนโลยี หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาของประเทศทั้งหมด ทั้ง 5 กลุ่มงานแล้วก็ทุกกระทรวงจะต้องไปจับต้องกิจกรรมเหล่านี้มาแล้วก็สรุปรายงานผลให้ผมทราบได้ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อจะจับต้องได้เป็นรูปธรรมและผมจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเรื่องของการดำเนินการในระยะต่อไป ในเรื่องการบริหารราชการ ในเรื่องของกำหนดนโยบายเพิ่มเติมทั้งนี้เพื่อให้ทันเวลาที่มีอยู่ในขณะนี้แล้วก็จะต้องเตรียมส่งมอบรายละเอียดที่เหลือไว้แล้วให้กับคณะปฏิรูปหรือ สปช. อะไรก็แล้วแต่ที่ยังอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้ ใครอยู่ก็ต้องรับไปแล้วไปทำต่อให้เรียบร้อยในเรื่องของแผนการปฏิรูปในอนาคต ในรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
อันนี้ ผมก็เร่งรัดขอให้แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเราได้กำหนดโจทย์ไปแล้ววิธีการบริหารจัดการไปแล้วแก้ไขข้อติดขัดไปให้แล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องอยู่ที่จะทำอย่างไร How to do และจะสำเร็จเมื่อไหร่ ระยะที่ 1 คือ เสร็จไปแล้ว คสช. ระยะที่ 2 คือตอนนี้ถึงกันยายนผมสรุปแค่นั้นก่อนตาม Road Map และที่เหลือหลังจากนั้นแล้วก็ไปเดินหน้าในรัฐบาลต่อไปถ้าเกิดขึ้นในตาม Road Map เพราะฉะนั้นต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ ผมขอแจ้งเตือน ผมจะพิจารณาเป็นรายกระทรวงไปทุกกระทรวงทั้งในส่วนของการเมือง ข้าราชการในการเมือง ข้าราชการประจำด้วยเพราะฉะนั้นต้องชี้แจงได้ทุกอย่าง ขอให้รองรัฐมนตรี รัฐมนตรีแล้วก็ข้าราชการทุกกระทรวงได้ไปรวบรวมขับเคลื่อนมาให้ได้ ตอบคำถามให้ได้ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง
อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมานั้น ทุกคนจะรู้แต่ปัญหาไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รัฐบาลใดก็ตามรู้ปัญหาทั้งหมดแต่ทำไม่ได้หรือทำได้ไม่เท่าที่ควร ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะว่าติดขัดหลายเรื่อง ติดขัดเรื่องกฎหมายหรือกติกาสัญญาอะไรต่าง ๆ ที่เคยมีปัญหาก็แก้ให้หมดแล้วเมื่อแก้ให้หมดแล้วปัญหาต้องหมดไป ต้องตอบคำถามให้ได้อะไรจบไปแล้วบ้าง อะไรหมดไปแล้ว ต้องช่วยกัน ร่วมมือ
อีกเรื่องหนึ่งขอร้องภาคประชาชน ภาคประชาสังคม วันนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราค่อนข้างจะทำได้ยาก ในส่วนของโครงการที่มีขนาดใหญ่ จะมีผลในเรื่องของการลงทุนด้วย มีผลในเรื่องของปัญหาภายหน้าด้วย เช่น การบริหารจัดการพลังงาน ขยะ โรงไฟฟ้า หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ท่าเรืออาจจะมีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ด้วย จากนี้ถ้าเราไปไม่ได้เลย โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ก็จ้างงาน สร้างอาชีพอะไรไม่ได้ ผมขอเรียนว่าถ้าสามารถเกิดได้ในพื้นที่ ผมก็ได้สั่งการไปแล้วว่าขอให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ก่อน ถ้าจำเป็นก็ขยับขยายสักเล็กน้อย ดูแลเยียวยาให้เหมาะสม เมื่อใดก็ตามที่มีประโยชน์เกิดขึ้นจากตรงนั้น ประชาชนเหล่านั้นจะต้องได้รับประโยชน์เป็นลำดับแรก มีสิทธิ์ต่าง ๆ มากกว่าคนอื่นในการที่จะได้รับผลตอบแทนหรือจะประกอบการอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ในกิจการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอันนี้ก็เกิดขึ้น เน้นหนัก 2 พื้นที่ใน 6 พื้นที่ในปี 2557 แต่ถ้าจะสร้างได้ทั้งหมดก็ทำไป ที่มีศักยภาพอยู่ก็ทางภาคตะวันตก ทางเหนือ เช่น แม่สอด จ.ตาก กับที่สระแก้วจะมีศักยภาพสูง ที่เหลือก็ทยอยดำเนินการไปจะเร่งรัดให้ได้โดยเร็ว
เพราะฉะนั้นประชาชนที่อยู่ตรงนั้นอย่ากังวลว่า เราประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว หมายความว่าเขาต้องไปกันหมดเลยหรือ ไม่ใช่หรอกครับ กิจการก็จะลงไปในพื้นที่ดังกล่าวให้ได้เท่านั้นเอง ตรงไหนที่ไม่รบกวนมากมายนักก็เข้าไปได้เลย ตรงไหนที่มีปัญหาประชาชนก็ต้องดูแลประชาชนให้เขามีที่อยู่ที่กิน แล้ววันหน้าพอเกิดขึ้นมาแล้ว ธุรกิจประกอบการดีขึ้นแล้วหรือเป็นการลงทุนในเรื่องของการค้าขาย การประกอบการ ก็จะให้คนเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของธุรกิจที่จะต้องรองรับ เช่น ซักเสื้อผ้า อะไรทำนองนี้ หรือไม่ก็ขายอาหารอะไรต่าง ๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจดังกล่าว คนในพื้นที่จะต้องได้ก่อน ในส่วนของตรงอื่นจำเป็นจะต้องเอาข้างนอกไปเสริมด้วย ข้างนอกก็คือนักลงทุนของเราเอง เริ่มจากในพื้นที่ก่อน ทั้งคน ทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ ถ้ามีศักยภาพก็เสนอมา ก็จะให้สิทธิประโยชน์ แล้วก็ในส่วนที่จะไปจากนอกพื้นที่ อันที่สามเพื่อจะทำให้เข้มแข็งแล้วก็จ้างงานได้มากขึ้น ก็คือต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศด้วย แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ทั้งหมด ส่วนน้อย ๆ ก็ขอไว้ก่อน หลายเรื่องเราต้องทำ ถ้าไม่ทำวันนี้วันหน้าก็เกิดขึ้นไม่ได้ แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันนี้ทุกคนก็บ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี การลงทุนไม่เกิด วันนี้ผมไล่ดูแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณอย่างเดียว งบประมาณจัดไปแล้ว แต่ทำไม่ได้ การทำประชาพิจารณ์ก็ไม่ผ่าน EIA และ HIA ไม่ผ่านจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ โรงไฟฟ้า โรงงานขยะ แล้วก็ในส่วนของการลงทุนสาธารณูปโภคต่าง ๆ ถนนหนทางต้องผ่านความคิดเห็นของประชาชน ผมก็ลองดูอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้น เม็ดเงินที่ลงทุนไปอย่างมหาศาลถึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่พอเบิกเงินไปแล้ว แล้วสร้างได้เลย ต้องทำตัวนี้ด้วย
เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และอื่น ๆ ด้วย ทุกคนต้องเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ใช่บอกว่าเกิดตรงนี้พื้นที่เดือดร้อน แต่ตรงนี้จะต้องเกิดประโยชน์กับทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ด้วย อันนี้จะได้เป็นเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งทั้งภูมิภาคไป ก็ลองคิดดู ผมอยากให้ทุกอย่างแก้ไขได้โดยเร็ว และเดินหน้าประเทศได้ระหว่างที่รัฐบาลนี้ยังอยู่ ผมได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดูกิจการของตนเองที่มีปัญหาข้อขัดข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน พลังงาน เหมืองแร่ อะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ ต้องลงไปดูในพื้นที่แล้วก็แก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็วว่าจะทำอย่างไรต่อไป ได้หรือไม่ได้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นลดลงได้ไหม หาทางเจอกันได้ไหม โดยมองผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก แล้วก็ไม่ไปทำลายวัฒนธรรมหรือทำลายสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เขาอยู่แล้ว ทำอย่างไร ต้องไปด้วยกัน คือเจริญได้ พัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงได้ แต่เขาต้องมีความสุข จะทำอย่างไรตรงนั้น ผมว่าไม่เกินความสามารถของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านกับข้าราชการทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ในทุกกิจกรรม ถ้าเราไม่ทำปีนี้ ล่าช้าไปอีกหนึ่งปี ปีหน้าก็ทำไม่ได้อีก ปีต่อไปก็ทำไม่ได้อีก แล้วจะทำอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างเส้นทาง ทางรถไฟ และเสาส่ง สายส่งไฟฟ้าเหล่านี้ และการขุดลอกแหล่งน้ำต่าง ๆ ติดขัดไปหมด บางคนก็บอกว่าละเมิดในเรื่องของนิเวศวิทยา ผมก็ให้เขาดูอยู่แล้ว ถ้าทำให้ระบบนิเวศวิทยาเสียหายก็ไม่ทำ ไปทำอย่างอื่น วันนี้ค้านทุกอัน เดินหน้าไม่ได้ งบประมาณก็ไม่ออก งานก็ไม่เกิด การก่อสร้างก็ไม่มี แล้วทุกคนบอกว่าเศรษฐกิจต้องดีขึ้น ดีไม่ได้แน่นอน ช่วยไปคิดกันใหม่ หาทางออก ไม่ใช่ผมต้องการที่จะไปบังคับท่าน มัดมือท่านชกอะไรทำนองนี้ หรือใช้อำนาจอะไรต่าง ๆ ผมไม่ต้องการใช้อำนาจ ต้องการความร่วมมือดีที่สุด
ขอขอบคุณอีกครั้งในความร่วมมือ แล้วก็สิ่งที่พ่อแม่พี่น้องเข้าใจที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็หวังว่าเราคงได้รับความร่วมมือ ได้รับความเข้าใจ ได้รับความเมตตา ให้เราได้ทำงานให้ประสบผลสำเร็จอย่างที่ทุกคนต้องการเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน สวัสดีครับ ขอให้มีความสุขในวันสุดสัปดาห์
................................................