พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,410 view
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมได้ประชุมเรื่องการจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ “ ปั่นเพื่อแม่ Bike for mom” ซึ่งเป็นกิจกรรมตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงแสดงความกตัญญูกตเวที แด่ “ แม่ของแผ่นดิน ” กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 15.00 เป็นต้นไป ระยะทางทั้งสิ้น 43 กิโลเมตร เริ่มต้นจากพระลานพระราชวังดุสิต ไปยัง กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และวนกลับมายังพระลานพระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะทรงจักรยานร่วมในกิจกรรมด้วย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทย สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ นั้น รวมถึงการร่วมกิจกรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด ขอให้ประชาชนได้ติดตามการชี้แจงประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น ได้เป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยทุกคน จัดงานเลี้ยงต้อนรับและแสดงความยินดีกับนักกีฬาไทยที่ไปร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ผ่านมา และได้ทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ สร้างความสุข ความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทุกคน ผมขอชื่นชม เป็นการส่วนตัวด้วย ในนามรัฐบาลด้วย ขอขอบคุณทั้งนักกีฬา โค้ช ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน และทำให้การแข่งขันครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้น ผมยังได้พบกับคณะนักเรียนและอาจารย์ที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศประจำปี 2558 ผมได้กล่าวชื่นชมและชมเชยทุกคนที่มีความตั้งใจและมีความพยายามที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยของเรา เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา ผมย้ำไปว่าขอให้ใช้โอกาสนี้ในการที่จะเพิ่มประสบการณ์ หาเพื่อนหาเครือข่ายใหม่ ๆ ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น และขอให้ทุกคนเดินทางไปที่ไหนก็ตาม ขอให้คิดว่าเราเป็น “ทูตทางวิชาการ” ของคนไทยด้วย นอกจากจะต้องแสดงความสามารถด้านวิชาการแล้วก็ยังคงต้องพระพฤติปฏิบัติตน และแสดงออกให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยเราด้วย ขอให้คนไทยทุกคนได้ร่วมกันเป็นกำลังใจให้กับทัพนักวิชาการของไทยในครั้งนี้ด้วย

สำหรับเรื่องที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญมาก นอกเหนือจากภัยคุกคามด้านความมั่นคง ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และเก่าแล้ว สิ่งที่เราเข้มงวดหรือว่าเร่งรัดมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น มีผมสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว ได้แก่

เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เร่งด่วนในปัจจุบัน ได้แก่

เรื่องภัยแล้ง ผมและรัฐบาลเข้าใจดีในความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในขณะนี้ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ด้วย ซึ่งประสบปัญหากับความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำในการทำการเกษตร ผมได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ฝนจะตกน้อยอย่างต่อเนื่อง และทิ้งช่วงไปจนถึงประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน มีการประชุม สั่งการ รวมทั้งให้กองทัพมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดระเบียบการส่งน้ำในคลองชลประทานให้กับพี่น้องเกษตรกร ให้เกิดความทั่วถึงและเป็นธรรม ขอความร่วมมือด้วย อย่าทะเลาะเบาะแว้งกันเลยในเรื่องนี้ รวมถึงการให้ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้วางแผนการช่วยเหลือเร่งด่วนร่วมกันในขั้นต้น

นอกจากการจัดระเบียบการส่งน้ำแล้ว ภาครัฐและท้องถิ่น จะเร่งดำเนินการในเรื่องของการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และบ่อตอก โดยจะให้ความเร่งด่วนกับพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ที่ดอนก่อน ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีอยู่ประมาณ 850,000 ไร่  ขอให้เข้าใจ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝนตกน้อยเวลานี้ เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่เรียกว่า เอลนีโญ โดยหน่วยงานได้รายงานว่าเป็นปรากฏการณ์ที่กระทบต่อสภาพอากาศมากที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนั้นก็เกิดจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก Climate Change ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้เลย

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ การรักษาทรัพยากรป่าไม้ก็เป็นเรื่องสำคัญ บ้านเรานั้น ไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ ผมพูดหลายครั้งแล้ว ต้องช่วยกัน ทั้งรักษาและฟื้นฟู สิ่งที่บุกรุกไปแล้วด้วย ขอความร่วมมือด้วย สำหรับในการวางแผนระยะยาว รัฐบาลได้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ สำหรับปี 2558 – 2569 หลายปี ไว้ 6 เรื่องด้วยกัน เพื่อจะครอบคลุมทั้งหมดในทุกมิติ ได้แก่

1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งจะต้องมีการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน ในการพัฒนาทำประปาหมู่บ้านอีกประมาณ 7,500 หมู่บ้าน ซึ่งยังไม่ครบ และพัฒนาประปาในเขตเมืองถึงเกือบ 700 แห่ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีนี้ และจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2560  รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประปาที่มีอยู่เดิมอีกกว่า 9,000 แห่ง ได้แก่ การจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้แก่โรงเรียนและชุมชนกว่า 6,000 แห่งด้วย

2. เรื่องการสร้างความมั่นคงของน้ำในภาคการผลิต จะมีการสร้างแหล่งกักน้ำแห่งใหม่ 369 แห่ง ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ 895 แห่ง ขุดสระน้ำในไร่นา 50,000 แห่ง ขุดบ่อบาดาล 1,285 แห่ง เพื่อเตรียมไว้ใช้สำหรับการผลิต ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยในปี 2559 เราตั้งไว้ว่าจะสามารถเพิ่มเขตชลประทานได้ 2.2 ล้านไร่ และในปี 2569 จะเพิ่มได้ถึง 8.7 ล้านไร่ และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ เราจะมีพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศ จากเดิม 30 ล้านไร่ เป็นประมาณ 40 ล้านไร่ จะเพิ่มประมาณ 10 ล้านไร่ ก็ถือว่าพอสมควร

3. เรื่องการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จะมีการปรับปรุงทางน้ำสายหลักและสาขา 30 แห่ง ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและทางผันน้ำ 3 แห่ง การพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม การทำคันเขื่อนป้องกันตลิ่ง 13 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ กำลังดำเนินการ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปี จึงจะแล้วเสร็จ

4. เรื่องการจัดการคุณภาพน้ำ ทั้งการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 36 แห่ง การลดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด การกำจัดวัชพืชและขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำ 399 แห่ง ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี

5. เรื่องของการผลักดันน้ำเค็ม จะมีการดำเนินการต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อไม่ให้ค่าความเค็มเกินมาตรฐาน อันนี้ก็เป็นปัญหาในเรื่องของน้ำต้นทุนที่จะระบายไปอีก ในขณะนี้

6. เรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน จะมีการปลูกป่าทดแทน 25,000 ไร่ และปลูกหญ้าแฝก 645,000 ไร่ จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกันยายนนี้

ขอเรียนว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาและเราจัดลำดับความเร่งด่วน มีการดำเนินการเป็นระยะ ๆ ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงบประมาด้วย ก็คงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนด้วย

เรื่องต่อไป เรื่องที่เป็นปัญหาหนัก ๆ ก็คือเรื่องของ  ICAO เรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องประมง เรื่อง TIP REPORT ผมอยากจะเรียนว่ารัฐบาลนี้พยายามอย่างเต็มที่ในการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีหลายอย่างด้วยกัน เรื่องกฎหมาย เรื่องวิธีบริหารจัดการ เรื่องการลงโทษ เรื่องการดูแลเหยื่อต่าง ๆ เหล่านั้น ในเรื่องของการค้ามนุษย์ การประมง

ในส่วนของ ICAO ก็ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ในเรื่องของกรมการบินพลเรือน เข้ามาตรวจสอบดำเนินการในข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน วันนี้ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ก็ต้องเคารพในการตัดสินของคณะกรรมการ ขององค์กรระหว่างประเทศทั้งหมด เราก็ต้องปรับปรุงแก้ไข สิ่งใดก็ตามที่เราเป็นความบกพร่อง เราก็ต้องแก้ให้ได้ รัฐบาลนี้ทำงานอย่างหนัก แทบจะทุกวัน ทุกสัปดาห์ ต้องมีการพูดถึงในเรื่องเหล่านี้ และติดตามความก้าวหน้า ทุกอย่างยังคงก้าวหน้าอยู่ไปตามลำดับ ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องมีการจัดผู้สังเกตการณ์เข้ามาเป็นระยะ ดูความก้าวหน้าในแต่ละเรื่อง ที่ผมกล่าวไปแล้วเมื่อสักครู่ ซึ่งแนวโน้มก็น่าจะทำให้เราสบายใจขึ้นได้บ้าง ในส่วนของการพูดจา ขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือมิตรประเทศเราเหล่านั้น เขาก็ให้ความร่วมมือกับเราดี ขณะนี้ก็ยังไม่มีผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้น ว่าบกพร่องเรื่องอะไร และนำสิ่งที่เขาเอาเป็นบรรทัดฐาน มาตรฐาน ข้อบกพร่องกี่ข้อ เอามาดู ว่าเกี่ยวพันกับเรื่องอะไรบ้าง ก็ต้องแก้ไขทั้งหมด มีการบูรณาการ วันนี้ก็นำ คสช. ไปร่วมด้วย ช่วยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการค้ามนุษย์ การประมง เพื่อจะแก้ไขปัญหาในเรื่องของ TIP REPORT ในเรื่องของICAO กระทรวงคมนาคม ก็ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. เข้าไปแก้ไขในระยะแรกด้วย อื่น ๆ นั้นก็ต้องใช้กฎหมาย ซึ่งจะต้องนำเสนอเข้าไปใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่าง ๆ การแก้ไขกฎกระทรวงต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ดำเนินการทั้งสิ้น ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็พูดกันทุกครั้ง

ด้านเศรษฐกิจ วันนี้ผมก็มุ่งเน้นในเรื่องของการดูแลเศรษฐกิจชุมชน ในเรื่องของ Social Business และในเรื่องของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ว่าจะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร จะต่อไปต่อเนื่องกับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม SMEs ได้อย่างไร และไปโยงกับธุรกิจระดับประเทศ ธุรกิจข้ามชาติ ที่เราค้าขายกับโลกภายนอกเขาอยู่ จะเชื่อมโยงอย่างไร ภาคการเกษตรของประชาชนจะเข้มแข็งอย่างไร บ้านเราก็มีทั้งพ่อค้าคนกลาง มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ถ้าเราสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรขึ้นมา ให้มีความรู้ด้านการค้า การลงทุน หรือเรื่องการตลาดเอง ก็จะทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น วันหน้าก็จะเป็นเถ้าแก่ใหม่ได้

สำหรับในด้านเทคโนโลยี การวิจัย และการพัฒนาเหล่านี้เป็นการเพื่อจะเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ของประเทศ ต้องนำไปสู่ความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ใช้การวิจัยพัฒนาที่เป็นรูปธรรม วันนี้ต้องกำหนดหัวข้อในการวิจัยพัฒนา เรื่องที่เราต้อง ประเทศเราต้องการอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการแปรรูป หรือการใช้ประโยชน์จากด้านเกษตรกรรม ในการที่จะ ทำให้เกิดเป็นสินค้า และมีความแปลกใหม่ มีนวัตกรรม เพื่อจะไปแข่งขันกับโลกภายนอกเขาได้

วันนี้การส่งออกของเราค่อนข้างมีปัญหา เราต้องปรับปรุงด้านการวิจัย และพัฒนา และจัดหาธุรกิจใหม่ ๆ หรือว่าสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งแปลกกว่าเขา ขายได้ราคากว่าเขา น่าสนใจกว่าเขาเหล่านี้ อยู่ในขั้นการที่เราเริ่มต้นดำเนินการทั้งสิ้น ที่ผ่านมาก็อาจจะยังไม่ทันต่อสถานการณ์ในวันนี้ ทำให้มูลค่าในการส่งออกลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตผลทางด้านการเกษตร วันนี้ก็ต้องปรับทุกอัน เรื่องการค้า การลงทุน การตลาด ในกลุ่มต่าง ๆ ของโลกนี้ มีตั้งหลายกลุ่มด้วยกัน เราก็จัดวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนขึ้น เราจะขายใครที่ไหน ตลาดบน ตลาดล่าง อย่างไร ทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องผูกพันเชื่อมโยงกัน สร้างห่วงโซ่ของอุปทาน ห่วงโซ่ของคุณค่า เพื่อจะเชื่อมโยงให้แข็งแรงทั้งประชาชน เอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ง่าย ๆ ก็คือชุมชนต้องเข้มแข็ง จังหวัดเข้มแข็ง ภูมิภาคเข้มแข็ง และไปเชื่อมโยงด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เราดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และรวมความไปถึงพื้นที่ตอนในที่มีศักยภาพด้วย

อันนี้ก็อยากจะกราบเรียนว่าเป็น คลัสเตอร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่าไปกังวล เราก็จะส่งเสริมในพื้นที่ก่อนให้ได้ เพราะฉะนั้นในตรงนี้ เดี๋ยวจะไม่เข้าใจกันอีก ในพื้นที่ก็จะกลัวว่านอกพื้นที่จะไปลงทุน ทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้ง เราจะให้โอกาสในพื้นที่ก่อนด้วย มาพิจารณาดูว่าจะลงทุนกันอย่างไร จะส่งเสริมกันอย่างไร มีกองทุนอะไรให้หรือไม่ ในส่วนของที่มีศักยภาพ ในส่วนข้างนอกก็ไปเติมอยู่บ้าง แต่ครั้งนี้ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป เป็น คลัสเตอร์ ก็คือหลาย ๆ กิจการ ไม่ใช่ในเรื่องของระบบงานอุตสาหกรรมอย่างเดียว เดี๋ยวจะกังวลเข้าไปอีก มีทั้งธุรกิจการแปรรูป คลังสินค้า คลังกระจายสินค้า มีทั้งธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม การบริการต่าง ๆ ทั้งหมด ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคของเรา ปีนี้ก็เกิดในระยะที่หนึ่ง 6 จังหวัด ปีหน้าก็จะเกิดอีก 4 จังหวัด อันนี้ยังไม่รวมถึงพื้นที่ที่มีศักภาพในพื้นที่ตอนใน รวมความไปถึงการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ด้วย ทั้งหมดผูกพันกันทั้งระบบ เราก็นำทุกอย่างมาบูรณาการร่วมกัน

เรื่องการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ผมเรียนไปแล้วว่าคือการสร้างห่วงโซ่มูลค่าให้ได้ กับทุกกิจการที่ผมกล่าวไปแล้วเมื่อสักครู่ ที่ผ่านมาเป็นท่อน ๆ กันหมด เพราะฉะนั้นต้องเชื่อมโยง วันนี้เราก็ไม่ต้องการประโยชน์ตรงขั้นตอนใด อยากให้ประโยชน์ทั้งหมดกลับมาสู่ผู้ประกอบการ ซึ่งมีทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนของเกษตรกรด้วย ที่ผมเน้นก็คือ การนำ Social Business เข้ามาด้วย เป็นส่วนหนึ่งของ Social Enterprise ซึ่งเอกชนทำธุรกิจขนาดใหญ่อยู่แล้ว

ถ้าเราทำให้ภาคประชาชนแข็งแรง โดยเสริมระบบ Social Business เข้าไป ก็จะเชื่อมโยงกับ SMEs เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชายแดน และไปเชื่อมโยงกับตลาดค้าชายแดน และไปมีผลส่งต่อไปถึงการค้าใน CLMV ในอาเซียน และในประชาคมอื่น ๆ อีกด้วย ต้องวาดตรงนี้ออกมาให้ต่อเนื่องกัน และทำงานร่วมกัน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่กระทรวงใด กระทรวงหนึ่งมาทำเอง หรือให้หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง มากำหนดให้ เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีการพูดคุยทุกคณะ มีอนุกรรมการหลายคณะด้วยกัน กว่าจะขึ้นมาถึงคณะกรรมการนโยบาย

การวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเอกชน ได้รับรู้ รับทราบ ได้รู้อนาคต ประชาชนก็ต้องรู้อนาคตของตนเองด้วย ชุมชนของตนเองจะเป็นอย่างไร ในวันข้างหน้า เพื่อจะได้จัดเตรียมการลงทุน การสร้างความเข้มแข็ง ต้องใช้เวลา จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงในพื้นที่ของชุมชนและในภูมิภาคด้วย เป็นการสร้างอนาคตให้กับเยาวชนรุ่นหลังในทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขบางกฎหมาย บาง พ.ร.บ. หรือกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อย่าไปเอารัดเอาเปรียบกันในขณะนี้

เรื่องการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ปัจจุบันอยากจะเรียนว่าเรามีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐไปมากกว่าทุกปี ในห่วงเดียวกันที่ผ่านมา ในเรื่องของการดำเนินการในส่วนของงบลงทุนนั้นยังต้องเร่งดำเนินการในหลาย ๆ โครงการ โดยเฉพาะโครงการการก่อสร้างต่าง ๆ ปัญหาก็คือติดตรงที่ว่า บางโครงการนั้นต้องทำประชาพิจารณ์ผ่านการเห็นชอบ บางพื้นที่ยังทำไม่ได้หลายอย่าง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการกำจัดขยะหรืออะไรหลาย ๆ อย่างที่เราจะทำให้เป็นความเข้มแข็ง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถ้าเราไม่สร้างตรงนี้ไว้ อย่างไรเศรษฐกิจของเราก็ไปไม่ได้ เราจะค้าขายแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกแล้ว

เรื่องการศึกษา ระยะ 3 ปีแรก 2557 – 2559 การศึกษาเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นอนาคตของประเทศ เพราะฉะนั้นแผนพัฒนาการศึกษาของรัฐบาล ระยะที่ 1 ระยะแรกนั้น คสช. ก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ยกเลิกโครงการที่ไม่คุ้มค่าแก้ไขปัญหาการขาดแคลน การดึงครูออกจากห้องเรียน การขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อจะส่งต่อในเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของในเชิงโครงสร้าง ในเรื่องการบริหารจัดการ ในเรื่องของการทำให้เกิดความต่อเนื่อง ผลิตคนให้ตรงความต้องการของประเทศกับความต้องการในเรื่อง AEC ซึ่งจะต้องเร่งในระยะแรก เพราะฉะนั้นทุกอย่างกำลังทำทั้งหมดแข่งกับเวลา กระทรวงศึกษากำลังดำเนินอยู่ทั้งสิ้น จะเชื่อมต่อไปกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะกำหนดความต้องการในแต่ละกิจการในประเทศไทยที่จะต้องเกิดขึ้นในปีหน้า AEC ต้องเตรียมให้พร้อมทั้งแรงงาน ประเภทใช้แรงงาน

อันที่สองคือแรงงานที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีการพูดภาษาต่างประเทศได้ที่มาลงทุน อันนี้กำลังเร่งทั้งหมด โดยเริ่มจากการต่อยอดไปก่อน ซึ่งปีต่อ ๆ ไปก็คงนำเรื่องเหล่านี้เข้ามาบรรจุในแผนค่าใช้จ่ายงบประมาณในการผลิตคนให้ทันต่อความต้องการของประเทศ

วันนี้ต้องเห็นใจในส่วนของพี่น้องกรรมกรต่าง ๆ ทั้งหลาย ก็ขออีกสักระยะหนึ่งก่อนในช่วงนี้ก็ขอให้ไปรับการทดสอบฝีมือที่กรมแรงงานว่าเขามีอะไรอย่างไรที่ไหน ถ้าต่อไปถ้าเป็นไปได้ก็คือในส่วนของค่าแรงต่าง ๆ ก็คงเพิ่มไปตามนี้ก่อนส่วนที่มีการปรับปรุงพัฒนา ส่วนอื่นคงต้องรอให้งานเกิดให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนดีขึ้น ผมเป็นห่วงท่านอยู่แล้วช่วงนี้ก็ขอให้ระมัดระวังการใช้จ่าย ผมคิดว่าก็เดือดร้อนกันทั้งประเทศอยู่แล้วในขณะนี้คงไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรอก

เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรามีการเพิ่มโอกาสให้การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เร่งการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาประเทศเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และพัฒนาระบบการบริหารจัดการครูรวมไปถึงการวางแนวทางพัฒนานโยบายการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้มีความต่อเนื่อง เพื่อจะเตรียมเข้าสู่ระยะที่สามก็คือส่งต่อรัฐบาลใหม่ผ่านสภาปฏิรูปเข้าไปในการที่จะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต

เรื่องของการศึกษานั้น สิ่งที่ผมให้แนวทางไว้ ง่าย ๆ ก็คือ ทำอย่างไรเด็กจะมีความสุข เด็กจะมีเวลาที่จะคิด อ่านของตัวเอง มีเวลาที่ใช้ความพัฒนาเรียนรู้ตามวัยของตัวเองแล้วก็มีความสุขในการเรียน สรุปง่าย ๆ ในส่วนของผู้ปกครองก็ลดค่าใช้จ่ายของเขา ลดความกังวลในเรื่องของอาชีพต่อไปของลูกหลานของเขา ในเรื่องของค่าเรียน ค่าอุปกรณ์ การเรียนการสอนเพิ่มเติมเหล่านี้ การกวดวิชาด้วยก็สั่งไปแล้ว ในส่วนของโรงเรียนก็ต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน อันไหนที่ยังไปไม่ได้ ก็ใช้ทางไกลผ่านดาวเทียมไปก่อน เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนาทั้งระบบทั้งสิ้น

ในส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น เป็นสิ่งสำคัญจะต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ถ้าเราไม่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เรียนรู้วันนี้ ไม่ได้ วันนี้เกษตรกรจะรู้จักเฉพาะการปลูกข้าวปลูกพืชเหล่านี้ ไม่ได้ ต้องรู้การตลาด รู้ว่าราคาสินค้าในอาเซียนเป็นอย่างไร ประจำวันเป็นอย่างไร ลม ฟ้า อากาศเป็นอย่างไร วิธีการที่จะปลูกพืชโดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีช่วยทำอย่างไร ต้องเรียนรู้ วันนี้ต้องเปิดเว็บเป็นแล้ว  วันนี้เขาให้ข้อมูลมาแล้วตรงไหนมีน้ำ ตรงไหนควรจะปลูกพืชอะไร พื้นที่ไหนควรจะทำอะไรเหล่านี้ท่านดูถ้าท่านไม่ดูแล้วเราแนะนำไปอะไรไปก็ไม่เกิดขึ้นก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย อย่างวันนี้หลายคนก็ตำหนิมาว่ารัฐบาลไม่เห็นช่วยเหลืออะไรจริง ๆ ช่วยมีสวนการเรียนรู้ทั้ง 800 กว่าแห่ง แล้วก็ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอเหล่านั้นเขาก็มาช่วยกันดูอยู่ ขับเคลื่อนอยู่ผ่านในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็ไปให้คำแนะนำทั้งในส่วนของปราชญ์ชาวบ้าน ในส่วนของการเดินไปสอนไปอบรมเหล่านี้ต้องให้ทุกคนให้ความร่วมมือ  ถ้าท่านไม่เปลี่ยนแปลงในเรื่องของการรับความรู้ การเปลี่ยนแนวความคิด การเปลี่ยนวิสัยทัศน์เหล่านี้ไปไม่ได้ ประเทศไปไม่ได้ เกษตรกรเราก็ไม่มีวันที่จะลืมตาอ้าปากได้อีกต่อไปในอนาคตจะแย่ลง ๆ เรื่อย ๆ วันนี้เราทำทั้งระบบอยู่นะครับ แต่ไม่เกิดขึ้นในวันเดียว นี่คือปัญหาของผม ของท่าน

ในส่วนของเกษตรกรนั้น วันนี้ก็น้ำแล้งผมก็บอกว่าให้มีการปรับการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศแล้วก็พื้นที่ด้วย วันนี้ฝนตก ฝนน้อย ไม่เท่ากัน ระบบการส่งน้ำของชลประทานส่งได้ไม่เพียงพอน้ำต้นทุนไม่มี ท่านก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชน้ำน้อย มีหลายพื้นที่ผมเห็นเลี้ยงจิ้งหรีดก็มี ปลูกถั่ว ปลูกผัก ปลูกอะไรมากมายไปหมดแล้วก็มีรายได้ดีกว่าปลูกข้าวด้วยซ้ำไป เพราะบางทีปลูกข้าวแล้วก็ตาย พอน้ำขาดตอนจะออกร่วงก็ไม่ออกไม่มีน้ำก็ไม่ออกก็แห้งตายก็เป็นอย่างนี้ทุกปี เสร็จแล้วก็ต้องเยียวยาช่วยเหลือ ท่านต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วย ถ้าท่านรู้ว่าท่านทำต่อไปแล้วเป็นหนี้เป็นสินมาก ๆ ท่านก็ต้องมาหาความรู้ เราไม่สามารถจะไปเดินบอกทุกบ้านได้ ทุกครอบครัวได้ท่านต้องฟัง       เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า นี่คือสิ่งที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะต้องเข้าใจนโยบายของรัฐบาลแล้วก็นำไปบอกเล่ากันในการประชุมประจำเดือนของแต่ละตำบล แต่หมู่บ้าน หน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน้าที่ของสมาชิกต่าง ๆ  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) นี้ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าท่านไม่มีความรู้ ถ้าท่านไม่เอาสิ่งที่นโยบายกำลังถ่ายทอดอยู่ กำลังทำอยู่นี่ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ สร้างความเข้าใจประชาชนไม่ได้  ก็จะเกิดปัญหาอยู่แบบนี้ วันหน้าความเดือดร้อนกลับมาใหม่อีกแล้วก็เกิดปัญหาความขัดแย้งกับความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมมาตลอด

เพราะฉะนั้นขอความกรุณา ผมขอตรงนี้ก็คงต้องร่วมมือกันต่อไปอย่าไปขัดแย้งกันอีกเลย เรื่องน้ำเรื่องท่า การปล่อยน้ำ ไม่ใช่ให้ทหารไปดูทุกเรื่อง ดูเหมือนต้องใช้อำนาจตลอดเลยในการทำงาน ไม่ได้ก็ต้องช่วยกัน รวมถึงการปลูกพืชหรือการผลิตอะไรก็แล้วแต่ ต้องตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในชุมชน ในจังหวัด ในภูมิภาคแล้วก็ในต่างประเทศ ถ้าเราปลูกเกินความต้องการตลาดจะไปขายให้ใครได้ราคาก็ตกอยู่แบบนี้แล้วก็ตัดราคากันไปเรื่อย ๆ

วันนี้กำลังหารือกับทุกประเทศในอาเซียน ในเมื่อเราเป็นอาเซียนด้วยกันว่าทำอย่างไร เราจะยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ผมเสนอในที่ประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เสนอเป็นประเด็นในการประชุมที่ผ่านมาที่เมียนมาร์ ก็รับกันว่าเดี๋ยวจะคุยกันคราวหน้าครั้งต่อไปโดยเร็วที่สุดในเรื่องของการดูแลสิ้นค้าการเกษตร โดยเฉพาะข้าวว่าทำอย่างไรจะทำให้ข้าวของเรา ของอาเซียนมีราคาที่ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพราะเราเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกเหมือนกัน ในส่วนของการปลูกพืชประหยัดน้ำ ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้เราบอกแล้วมีทั้งในเขตชลประทาน นอกเขตชลประทาน เขตชลประทานวันนี้เราทำได้แค่ 30% เอง ถ้าเพิ่มมากกว่านั้นก็เพิ่มได้อีกไม่เกิน 10%

เพราะฉะนั้นต้องมาดูแล้วว่าอันไหนที่ในเขตชลประทานมีน้ำส่งน้ำได้ นอกเขตอย่างไรก็ส่งไม่ได้ ใช้น้ำฝน พื้นที่ดอนก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก เพราะฉะนั้นต้องมาจัดสัดส่วนการผลิตให้ดีจะผลิตข้าวอะไรอย่างไร อันไหนจะเป็นข้าวคุณภาพ อันจะเป็นข้าวในเชิงอุปโภคบริโภคราคาต่ำ แต่อย่างไรก็ต้องมีคุณภาพที่ดีในการทำให้คนเจริญเติบโตและมีสติปัญญา มีความเข้มแข็งเหล่านี้ข้าวทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมีความแตกต่างในการบริหารจัดการ

ส่วนพื้นที่ที่น้ำไม่ถึง ยิ่งวันนี้ยิ่งมากกว่าเดิมน้ำน้อย เห็นหรือไม่ว่าในส่วนของลำคลอง แม่น้ำ คู แควต่าง ๆ น้อยไปหมดเลยเพราะน้ำต้นทุนไม่มีไงก็ฝนไม่ตกแล้วก็ส่วนใหญ่ก็ตื้นเขินบ้าง อะไรบ้าง ผมกำลังสั่งการว่าลองดูสิว่า จะขุดลอกอะไรได้บ้างแค่ไหนในขณะนี้ในเมื่อใช้วิกฤตเป็นโอกาสแล้วกันในเมื่อน้ำน้อยก็ขุดเลย ขุดลอก อย่างน้อยถ้าโชคดีฝนตกมาท้องน้ำของคูคลอง แควต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะเก็บน้ำไปได้จำนวนหนึ่ง เหลือเผื่อวันหน้าถ้าน้ำไม่มีอีก เพราะฉะนั้นต้องเก็บกักเป็นช่วง ๆ ไม่เช่นนั้นก็ไหลลงมาข้างล่างหมด บางทีก็ท่วมบ้างอะไรบ้าง ถ้าเราสต๊อกไว้เป็นตอน ๆ ได้ไหม บางส่วนลึก พอเกินตรงนี้เก็บไม่ได้ก็จะล้นมาส่วนที่ 2 ที่ 3 แทนที่เราจะต้องมาทำเขื่อน อาจจะต้องขุดลึกเป็นตอน ๆ ได้หรือเปล่าไม่รู้ ไปดูทางเทคนิคก่อนแล้วกันอย่างไรก็ต้องไม่ไปเปลี่ยนในเรื่องของระบบนิเวศวิทยา

ในส่วนของเรื่องการปรับเปลี่ยนจำนวนการปลูกยางในประเทศ ถ้าวันนี้การใช้ยางในประเทศ การใช้ยางต่างประเทศ ยังมีปัญหาอยู่ อันที่ใช้คำว่าอาจจะเกินความต้องการอยู่บ้าง เพราะว่าวันนี้ในประเทศผลิตได้ไม่ถึง ใช้ประมาณสัก 10% เท่านั้นเอง ต้องเพิ่มให้ได้ 25% อย่างน้อย เรากำลังเร่งให้ได้ภายใน 3 ปี จะต้องเพิ่มมูลค่ามีการแปรรูปในประเทศ ใช้ประโยชน์ในประเทศจาก 10% ให้เป็น 30% ภายใน 3 ปี ก็จะอยู่ในแผนในการจัดตั้ง Rubber City ในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดตั้งนำผลผลิตต่าง ๆ ที่เรามียู่มากมายมาแปรรูปให้มีมูลค่าสูงขึ้นให้ไปเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ ให้ได้  การควบคุมปริมาณยางในช่วงนี้ที่ปลูกในพื้นที่บุกรุกก็จำเป็นต้องขอคืนยางในพื้นที่บุกรุกทั้งหมดที่เป็นนายทุนระยะแรกต้องดำเนินการก่อน ในส่วนของคนจนก็เดี๋ยวกำลังพิจารณาหารือว่าจะดูแลกันอย่างไรให้ทำประโยชน์กันได้อย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ให้รับรู้ว่าทั้งหมดผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่รัฐบาลก็จะไม่ไปทำร้ายประชาชนคนมีรายได้น้อยตั้งแต่บัดนี้

เรื่องของการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ชุมชนแออัดต่าง ๆ เหล่านี้ต้องคิดกันแล้วว่าเราต้องตั้งประเด็นไว้ว่า เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีที่อยู่อาศัย ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอาชีพมีรายได้ มีตลาดค้าขายที่เพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเราจะมีการวางแผนเป็นระยะว่า ปีนี้หรือ 3 ปีควรจะมีที่พักในลักษณะที่เป็นอพาร์ทเม้นท์ เป็นแฟลตอะไรต่าง ๆ ให้คนจน คนมีรายได้น้อยอยู่ ปีหนึ่งคนละเท่าไหร่ สักกี่หน่วย อันนี้เขาให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังไปวางแผนมาอยู่ ก็ต้องไปสอดคล้องกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) สอดคล้องกับกระทรวงมหาดไทยด้วยทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดอันหนึ่งที่อยากให้ไปคิดเพิ่มก็คือว่า ถ้าเรามีเส้นทางรถไฟ เราสามารถที่จะหางาน หาพื้นที่ให้เขาอยู่แถว ๆ นี้ได้หรือไม่ อย่างน้อยก็เป็นการพัฒนาเมืองขยายเมืองต่อไปในอนาคตด้วย

ทุกอย่างต้องนำมาวางแผนสอดคล้องกัน ถ้าเดินแต่ละ ๆ อัน ก็ไม่ต่อกันแล้วก็ใช้งบประมาณสูง ถ้าอยู่ในกติกาการลงทุนร่วมอะไรต่าง ๆ ก็น่าจะดีก็ลองคิดดูแล้วกัน ผมริเริ่มให้ กำหนดนโยบายให้แต่ละกระทรวงก็ต้องไปหารือมาแล้วนำเข้าสู่คณะกรรมการขับเคลื่อน กรรมการนโยบายแล้วก็คณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย จะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนเป็นระยะ ๆ เพราะงบประมาณจำกัดบ้านเราเศรษฐกิจยังไม่ดี แล้วทุกวันนี้รายได้เราก็น้อย แต่เราต้องพัฒนาไง ต้องสร้างความเข้มแข็งดูแลประชาชน คนยากไร้อีก มากมายไปหมด ก็ต้องขอร้อง ขอความร่วมมือกัน ขอเป็นระยะ ๆ ได้ไหม ช่วงนี้ทุกคนต้องสู้กันไปก่อน สู้อย่างที่ผมสู้วันนี้ สู้กับปัญหา สู้กับการเดินหน้าประเทศให้ได้

เรื่องการจัดระเบียบใน กทม. เมืองใหญ่ ชนบท เราต้องสร้างชุมชนเมืองให้ได้ในเขตชนบท เพราะว่าถ้าเรากระจายกันมาก ๆ การลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านั้นลงทุนสูง ถ้าเรามารวมกันแล้วก็ในพื้นที่ไร่นาต่าง ๆ ก็ห่างไปเล็กน้อยพอที่จะเดินไปก็ได้หรือจะไปด้วยรถอีแต๋นอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ไปเป็น 20 – 30 กิโลเมตร คงไม่ใช่แบบนั้น ถ้าเราสร้างชุมชนในชนบทได้เราจะลดภาระในเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐานได้มากพอสมควร แล้วจากนั้นไปสู่ไร่นา เราจะได้มีเงินที่จะพัฒนาในเรื่องของการใช้เครื่องไม้ เครื่องมือ สร้างความทันสมัยในการผลิตอย่างไร

เพราะทุกวันนี้ พี่น้องชาวนาก็อายุมากแล้ว ลูกหลานส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ทำส่วนใหญ่ก็จะจ้างคนทำบ้างหรือใช้จ้างเครื่องไม้เครื่องมือต้นทุนก็สูง วันนี้เราดูแลเรื่องต้นทุนด้วย จะเห็นว่ามีการลดราคาปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และในเรื่องของการที่จะจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือเป็นส่วนรวม เพื่อให้สหกรณ์ได้เข้าไปใช้ บางส่วนให้ทหารเข้าไปดูแล  อันนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนนี้พยายามจะเร่งให้เร็วที่สุด และเรื่องของราคาการเช่าที่ดินขอร้องบรรดาเจ้าของที่ดินอย่าไปเรียกร้องมากนักเลยกับชาวไร่ ชาวนาวันนี้เพราะน่าสงสารน่าเห็นใจเขา เพราะถ้าไม่มีเขาท่านก็ไม่มีรายได้ ถ้าท่านจะต้องการมีรายได้ท่านก็ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันดูแลเขา สร้างบุญสร้างกุศลต่อกัน

เรื่องของการพลังงานนั้น เราก็มีแหล่งพลังงานหลายพื้นที่ด้วยกันที่ต้องมีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง กฎหมายก็กำลังออกมา ผมยืนยันไปตามนั้น กฎหมายออกมาก็ทำไปตามกฎหมายที่ออกมาก็ขออย่างเพิ่งเรียกร้องกันอีกเลย วันหน้าก็ต้องว่ากันใหม่ เราต้องดำเนินการในส่วนที่จำเป็นก่อนที่เหลือก็เป็นไปตามกฎหมายตามข้อเรียกร้องทั้งหมดที่เรียกมาเราก็ทำให้ทั้งหมดอยู่แล้ว อย่ากังวล ขอให้เชื่อมั่นและไว้วางใจกันบ้าง และในขณะนี้ผมไม่เข้ามาสร้างปัญหาใหม่ แต่ทั้งหมดทั้งนี้ทั้งนั้นวันหน้าก็ต้องไปพัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมเหมือนที่ผมกำลังทำวันนี้นั้นแหละ

เรื่องของการปรับโครงสร้างสัดส่วนการใช้พลังงาน กราบเรียนแล้วว่า ถ้าใช้แก๊ส ใช้น้ำมันอย่างนี้วันหน้าเราใช้มากขึ้น ๆ ถูกเบียดเบียนมากขึ้นจากภาคครัวเรือนต้องนำมาใช้ภาคขนส่งด้วยเหล่านี้เป็นปัญหาผูกพันทำให้รัฐใช้งบประมาณไปจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัตถุดิบในการเป็นพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน เป็นแก๊สก็ตามมีทั้ง LPG  NGV  ซึ่งจริง ๆ แล้ว LPG ตามหลักการแล้วควรต้องนำไปใช้ในภาคครัวเรือน แต่วันนี้นำไปใช้ในภาคของการขนส่งมากเกินไป และมีการลักลอบ ไปต่างประเทศ ไปใช้ บิดเบือนไปทั้งหมด วันนี้จำเป็นต้องขอความร่วมมือ ในส่วนของ LPG  ก็อย่างที่ว่าควรจะใช้ในภาคครัวเรือน ในส่วน NGV ส่วนใหญ่ก็คงจะต้องไปใช้ในภาคการขนส่ง

เพราะฉะนั้นเราจะต้องหาแหล่งพลังงานมาทดแทนทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องการใช้แก๊สกับน้ำมัน ซึ่งใช้ถึง 70% ผลิตพลังงานไฟฟ้าวันนี้ แล้ววันหน้าถ้ายังใช้อยู่แบบนี้ แล้วราคาสูงขึ้นในอนาคตเราจะแย่ ค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้น แล้วจะทำอย่างไร ต้องเตรียมการวันนี้ให้ได้ ในยุคนี้ ช่วงที่ผมอยู่ ปรับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ แก้ไขกฎหมาย ทำกฎหมายใหม่ ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมในการดำเนินการ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และดูแลประชาชนด้วย ทั้งในเรื่องของการลงทุนร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน การรับซื้อไฟฟ้า ต้องเป็นไปตามแผนพลังงานของประเทศมีคณะกรรมการดูแลตั้งหลายส่วน ทั้งในส่วนคณะกรรมการพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทั้งในส่วนของคณะทำงาน Regulator ที่จะต้องกำหนดจำนวนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละประเภท ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ถ้าทำอันใดอันหนึ่งมากเกินไป ก็มีผลกระทบกับการค้าการลงทุนทั้งสิ้นในอนาคต อันนี้คือปัญหาของพลังงานที่เชื่อมโยงกันทุกอัน

เรื่องการปฏิรูปต่าง ๆ ผมเรียนไปตั้งแต่แรกแล้วว่าที่ คสช. เข้ามานั้น ได้กำหนดไว้ แล้วก็ร่างไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็คือจะมีการปฏิรูปกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง 11 ด้าน ก็มีเรื่องอื่น ๆ อยู่แล้วในนี้ มีเรื่องเฉพาะ การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และมีเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นสรุปไว้แล้ว ผมก็นำแนวทางทั้ง 11 ด้านของผมมาทำระยะที่ 1 คสช. ระยะที่ 2 ในส่วนของรัฐบาลและ คสช. ที่เหลือ คำว่าที่เหลือของผมก็คือที่ผมทำไม่เสร็จในระยะที่ 1 – 2 นี้ ก็จะต้องทำต่อเนื่องไปจนถึงระยะที่ 3 ระยะที่ 3 ที่ว่าอาจจะรัฐบาลเดียวหรือ 2 รัฐบาล 3 รัฐบาลก็แล้วแต่ บางอย่างต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี 20 ปีถึงจะเข้มแข็งได้ เราต้องวางยุทธศาสตร์ชาติให้ได้ในระยะนี้ เพราะฉะนั้นผมจะสรุปและทบทวนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่า ระยะที่ 1 เราทำอะไรเสร็จไปแล้วบ้าง อันนี้เร่งด่วน ความเดือดร้อน ระยะที่ 2 เป็นนโยบายเร่งด่วน เรื่องนโยบายที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว เรื่องสิ่งที่กำหนดไว้ตามที่เราได้ประกาศไว้เป็นวาระแห่งชาติ

นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญหาที่ทับซ้อนมา หมักหมมกันมาแล้วเกิดปัญหาในเวลานี้ เช่น การแก้ปัญหาโครงสร้าง ปัญหาในเรื่องของการบริหารราชการในลักษณะเชิงบูรณาการซึ่งจะต้องเกิดขึ้นให้ได้ จะได้สามารถปฏิรูปต่อไปในระยะที่ 3 ก็คือของรัฐบาลต่อไป ไม่ใช่ว่าผมจะปัดความรับผิดชอบของผม เพราะผมทำเสร็จไม่ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เป็น 100 เรื่อง 11 เรื่อง แต่ละเรื่องมีเป็น 10 กิจกรรม ใน 10 กิจกรรม ผมก็จะเลือกอันไหนสำคัญก่อน สำคัญหลัง อันไหนสำคัญน้อยกว่าหรือต้องใช้เวลามากกว่า ผมก็ต้องส่งไปรัฐบาลต่อไป ขอให้เข้าใจด้วย ทุกคนบอกว่าทำทุกอย่าง ๆ ให้เสร็จ จะไปเสร็จได้อย่างไร แต่ละเรื่องมีกิจกรรมย่อยเป็น 10 เป็น 100 เพราะฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจเราด้วย

เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลเน้นในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ เร่งรัดทุกโครงการ ดูตรวจสอบความโปร่งใส การทุจริต เน้นการบูรณาการทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ไม่ให้เป็นภาระของข้าราชการ ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ต้องชัดเจน  ต้องมีการชี้แจงก่อนมีการทำประชาพิจารณ์ด้วยซ้ำไป วันนี้ก็ต้องบอกว่าเดี๋ยวจะเกิดอะไรขึ้น อะไร อย่างไร ที่ไหน ในภาพรวมไปก่อน ประชาชนจะได้รู้ว่าอนาคตประเทศเป็นอย่างนี้

ผมเคยบอกว่าอาจจะต้องไปขึ้นเครื่องบินดูกันว่าแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร เจริญต่างกันอย่างไร ตรงไหน ถ้าทุกคนไม่เห็นคนอื่น ก็ไม่รู้ว่าจะต้องพัฒนาตนเองอย่างไรให้ทันคนอื่นเขา ทุกคนก็มองแต่พื้นที่ของตนเอง อันนี้ก็ได้สั่งการไปแล้วให้กระทรวงคมนาคมกำลังจะร่วมมือกับ คสช. ในการถ่ายภาพไปให้ดูว่า พื้นที่ในเขตเมืองทั้งหมดควรจะเป็นอย่างไร ถึงจะเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งมีความทันสมัย ต้องมีทั้งภาคการเกษตร มีทั้งเกษตรอุตสาหกรรม มีทั้งในส่วนที่จะต้องเป็นความภาคภูมิใจในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ต้องเป็น Cluster ในพื้นที่ของทุกจังหวัด อาจจะต้องทุกตำบลด้วยซ้ำไป จะได้เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน รายได้จะได้ต่อเนื่องในพื้นที่ ก็ไม่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในพื้นที่ของตนเองไม่ดีกว่าหรือ

เรื่องการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าตามแนวชายแดน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยควบคุมการค้าชายแดนให้มีความถูกต้อง เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และเรื่องของการปฏิบัติตามข้อตกลงสัญญาทางการค้าของอาเซียน มีอยู่ เราต้องรับซื้อผลิตผลของเขา แต่จะซื้อมาทำอะไรต่อ ต้องมาพูดคุยกันให้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าต่างคนต่างก็ปลูกเหมือนกัน ต้องแลกเปลี่ยนกัน ผมคิดว่าใช้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย JSC (Joint Stock Company)  ของบ้านเขานำมาแปรรูปบ้านเราได้หรือไม่ หรือเข้ามาแล้วก็เป็นศูนย์กระจายสินค้า กระจายสินค้า รวบรวมเอาไว้ แล้วไปแปรรูปเป็นสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น แล้วส่งออก อะไรทำนองนี้ ต้องเชื่อมโยงกัน ก็ดูแลประเทศเพื่อนบ้านเขาด้วย

เรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว วันนี้ได้เดินหน้าไปมากแล้ว ก็ต้องพัฒนาต่อไปอีก วันนี้ในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติล่าช้า เพราะต้องมาจากต้นทางเขา เขาก็พร้อมบ้าง ไม่พร้อมบ้าง แต่เราก็ได้อนุโลม ผ่อนผันในบัตรอนุญาตชั่วคราว แต่ต้องมาต่อในแต่ละปีที่เขาประกาศ ผมเห็นหนังสือพิมพ์ก็ลง ไปต่อ ในการอนุญาตชั่วคราว ไม่อนุญาตให้ข้ามเขต เพราะฉะนั้นบรรดาเจ้าของกิจการที่ชอบไปเอาแรงงานที่อื่นเขามา ที่เขากำลังทำงานอยู่ ให้ราคาดีกว่าแล้วเอาเขาออกมา ตรงนู้นเขาก็ขาดแรงงาน เขาขออนุญาตมาแล้ว เขาอาจจะเสียค่าใช้จ่ายในการที่ออกมาดูแลแรงงานของเขา ปรากฏว่าท่านไปเอาแรงงานเขามาแทน อย่างนี้ไม่เป็นธรรม ท่านอย่าเอาเปรียบคน แรงงานเองก็ต้องรู้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องรู้ แยกแยะให้ออกว่ากฎหมายคืออะไร เขาเขียนไว้แค่ไหน อนุโลมใคร ไม่ใช่ใช้กฎหมายอย่างเดียว จนไม่มีรัฐศาสตร์ ไม่ได้ ต้องไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ให้ได้ พอใจทั้งผู้ประกอบการ อะไรที่เป็นกติกาก็ต้องเข้มงวด อะไรที่ผ่อนผันได้ก็ต้องผ่อนผันตามนโยบายของรัฐบาลที่สั่งการไปแล้วทั้งสิ้น

เรื่องการแก้ไขความขัดแย้งต่าง ๆ มีทุกระดับทั้งประชาชน ข้าราชการในส่วนราชการมีหมด การตรวจสอบการทุจริตต่าง ๆ เราก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน วิธีการ กระบวนการทั้งหมด ไม่ได้ละเว้นใครเลย บัญชีต่าง ๆ ที่ท่านกล่าวถึงทั้ง 2 บัญชี ก็ทบทวน และตรวจสอบในส่วนที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนจำนวนหนึ่ง ที่เหลือแต่ละกระทรวง ทบวง กรม แต่ละหน่วยงานก็จะรับรายชื่อทั้งหมดไป จะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบทุกคน ว่าถูกหรือไม่ถูก ผิดตรงไหน อะไร อย่างไร ถ้าผิดก็ลงโทษทั้งวินัยและอาญา ก็ขอให้รอผลการดำเนินการไป อย่าเร่งด่วน รีบร้อน วันนี้ต้องเดินหน้าไปด้วย ข้างหลังก็แก้ตามไป ถ้านำนี่มาตี อันนี้เดินไม่ได้หมด ขอให้ไว้วางใจผมก็แล้วกัน เพื่อจะให้ความเป็นธรรม ถ้ายังไม่ผิดก็อย่าไปหาว่าเป็นผู้ต้องหา เพราะเสียชื่อเขา ขอให้เป็นไปตามหลักฐานในเชิงประจักษ์ ต้องมีความชัดเจน และมีเหตุผลในการสอบสวนที่ถูกต้อง

เรื่องต่อไปที่ผมให้ความสำคัญก็คือ การวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของการวางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลักษณะเชิงรุก ประเทศไทยต้องเข้มแข็ง เมื่อประเทศไทยเข้มแข็งอาเซียนก็เข้มแข็งด้วย เราเป็น 1 ในอาเซียน เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลเพื่อนเราด้วย เราต้องร่วมมือกัน เป็นผู้นำพาอาเซียนไปสู่ความเข้มแข็ง ผมเรียนกับผู้นำทุกประเทศ เราต้องนำด้วยกัน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง และก็มีการแลกเปลี่ยน ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ท้ายที่สุดก็คือ อยู่ในกรอบของความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ลดความหวาดระแวง และมีพื้นฐานของผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ดูแลประชาชนทุกประเทศ เราจะทำให้อาเซียนเข้มแข็ง มีศักยภาพในเวทีโลกด้วย

เรื่องการปรับปรุงการท่องเที่ยวไทยในแนวใหม่ เป็นสิ่งที่เพิ่มรายได้ให้เราในขณะนี้ ในเมื่อเศรษฐกิจส่งออกตก แต่วันนี้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศสูงขึ้น มากขึ้น อาจจะเป็นโชคดีของเรา เรามีความพร้อมอยู่มากพอสมควร เพราะฉะนั้นเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุด วันนี้ก็ต้องเน้นในเรื่องความปลอดภัย เน้นเรื่องการเชื่อมโยง ทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวในหลาย ๆ ประเภท ทั้งในประเทศเรา ประเทศเพื่อนบ้าน ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ มีการท่องเที่ยวแบบ Package หรือเป็น Cluster ต้องทำ และเพื่อนบ้านเขายอมรับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป เขาเห็นว่าเรามีประสบการณ์สูงมากในเรื่องของการท่องเที่ยว

ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม วันนี้แก้ไขกฎหมายเป็นจำนวนมาก 100 กว่ากฎหมายไปแล้ว ซึ่งจะต้องทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ต้องใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์ ทำให้สังคมเข้มแข็ง สังคมอยู่ร่วมกันได้ ปราศจากความขัดแย้ง คนยาก คนจน มีกองทุนยุติธรรม และทุกกฎหมายจะต้องมีความชัดเจนว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรเป็นอันดับแรก 2 ก็คือเจ้าหน้าที่จะได้มีเครื่องมือในการทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา เป็นไปตามกฎโดยไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐ ข้าราชการ กับประชาชนให้ได้มากที่สุด กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติ ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง จะต้องสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันและที่เรามีพันธะกรณีต่าง ๆ กับสากลด้วย ต้องแก้ไขทั้งหมดที่ล้าสมัย

การบริหารราชการแผ่นดิน ในปัจจุบันรัฐบาลนี้ สิ่งใดที่ยังไม่เสร็จหรือยังไม่ได้เริ่ม แต่เราจะกำหนดหัวข้อไว้ แล้วก็จะส่งต่อให้สภาปฏิรูปฯ ไปทำแผนงาน และกำหนดให้มียุทธศาสตร์ในการดำเนินการบางอย่าง อาจจะปีเดียว 4 ปี รัฐบาล 5 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ หรือก็เป็นการส่งต่อไป 5 ปีต่อไป ทุกอย่างวันนี้เดินทีละ 5 ปีหมดในเวทีประชาคมโลก เพราะฉะนั้นเราต้องกำหนดให้ชัดเจนขึ้นว่า 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เราควรจะเป็นประเทศแบบไหน ประเทศประชาธิปไตยที่เป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ต้องบวกในเรื่องอื่น ๆ ไปด้วย ในเชิงที่เรามีความได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็น HUB ในเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการรักษาพยาบาล อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องเอาสิ่งเรานี้มา แต่ต้องเกื้อกูลเพื่อนบ้านเขาด้วย ไม่อย่างนั้นไปด้วยกันไม่ได้ ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถึงจะยกทั้งหมดขึ้นมาได้ เรารวยคนเดียวไม่ได้ ผมคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในประเทศก็เหมือนกัน คนรวยมากก็ต้องดูแลคนรวยน้อย คนรวยน้อยก็ต้องดูแลคนรวยน้อยกว่า ตามลำดับไป พ่วงกันไปเรื่อย ๆ พี่จูงน้อง พ่อจูงลูก อะไรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ

ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติ ถ้ายาว 20 ปีได้ ก็จะประเมินทุก 5 ปี ทุกรัฐบาลก็ต้องทำตามนี้ในส่วนที่เป็นประเด็นหลัก ๆ ในเรื่องของความมั่นคง ในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม เรื่องพลังงาน เรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน การสร้างความเข้มแข็ง การลดความเหลื่อมล้ำ การให้ความเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ต้องเดินควบคู่ไปเป็นเวลานานแล้วไม่ใช่ผมอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็พยายามจะเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลในส่วนราชการของรัฐให้ได้ สร้างคนที่มีคุณธรรม จริยธรรมทางสังคมด้วย

เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องการให้ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ให้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของราษฎร ของประชาชน ตามพระเนตรพระกรรณ ที่ทรงได้มอบภารกิจเหล่านี้ลงมาให้กับพวกเรา ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ห้วงนี้เป็นห้วงสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล และช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ขัดแย้ง ผู้เห็นต่าง ผมคิดว่ายังไม่ใช่เวลาตอนนี้ ที่ท่านจะออกมาเคลื่อนไหวอะไรต่าง ๆ เพราะว่าเรากำลังทำสิ่งที่มีปัญหามาในอดีต เพราะฉะนั้นถ้าไม่ให้เราแก้ไขวันนี้ ก็จะเกิดขึ้นอีก เรากำลังสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ต้องใช้คำว่าประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ผมไม่เคยปฏิเสธประชาธิปไตย แต่เราต้องมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ มีความยั่งยืน ทุกคนมีความสุข บางอย่างอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนผ่าน ในเวลานี้เปลี่ยนผ่านให้ได้ จะทำอย่างไร จะวางตัวอย่างไร ลำบากไหม เหนื่อยไหม จะต้องอดทนอย่างไร สิ่งเหล่านี้เรียกว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต  ซึ่งก็คือการปฏิรูปจัดระเบียบต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง มีการบูรณาการร่วมกัน มีการกำหนดเป้าหมายล่วงหน้า มีการประเมินทุกห้วงระยะเวลา และประชาชนจะต้องรู้อนาคตของเขา

สำคัญที่สุดคือ อย่าไปปิดบังกัน ไม่อย่างนั้นมีปัญหาหมด ต้องรู้ก่อน แผนใหญ่เป็นอย่างไร แล้วต่อไปก็เป็นเรื่องของการกำหนดโครงการต่าง ๆ ลงไป เป็นการทำประชาพิจารณ์ ก็ไม่ขัดแย้ง ทุกวันนี้ขัดแย้งกันเต็มไปหมด ก็ขอร้องพวกที่ยังเข้าไปสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ให้ขัดแย้งกับการทำงานของรัฐบาล อะไรที่เป็นประโยชน์ กรุณาอย่าขัดแย้งเลย อย่าใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ อธิบายให้เขาเข้าใจ ผมรับได้ถ้าบอกว่า เขาต้องการจะอยู่แบบยากจนแบบนี้ หรือว่าจะอยู่ในชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่า ๆ ต้องร่วมมือกัน

เพราะฉะนั้นถ้าไม่ร่วมมือเลยก็ต้องอยู่แบบนี้ ก็จนอยู่อย่างนี้ รายได้ก็ไม่มี ธุรกิจก็ไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วใครจะทำให้ท่านร่ำรวยขึ้น ลูกหลานท่านจะเอาอะไรเรียนหนังสือ วันหน้าที่อื่นเขาพัฒนาไปแล้ว เขามีโครงการใหญ่ ๆ เข้ามา มีอาชีพ มีรายได้ ก็ดีกว่าพื้นที่ที่ไม่มี ต่างประเทศเขาแยกกันว่าตรงไหนจะเป็นแหล่งการค้าการลงทุน เขาแยกกันไป อยากให้ไปลงในพื้นที่ตัวเองจะได้เจริญ ของเราบางทีก็ถูกชี้แจงในทางที่ไม่เข้าใจกัน หลายอย่างไม่เข้าใจด้วยการเมือง ด้วยอะไรต่าง ๆ แล้วแตกความขัดแย้ง กลุ่มผลประโยชน์มาทำให้ทุกอย่างบิดเบือน ความร่วมมือก็ไม่เกิด ก็ทำไม่ได้ ประเทศก็พัฒนาไม่ได้ ถ้าชุมชนทำไม่ได้ แล้วอะไรจะทำได้ ต้องเริ่มจากชุมชนทั้งสิ้น เริ่มจากประชาชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือพลเมืองก็แล้วแต่ ก็คือคนไทยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ให้ประเทศไทยนั้น ต้องชอกช้ำ ต้องเป็นเช่นในอดีตที่ผ่านมา นั้นคือสิ่งสำคัญที่พวกเรา คสช. และรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน โดยไม่ได้คิดอะไรอื่นใดเลย เพียงแต่ว่าต้องทำภารกิจให้สำเร็จ คือให้ประเทศไทยนั้นมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

………………………………………..

ที่มา : http://www.thaigov.go.th/