สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
วันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างนานาประเทศเพื่อกำหนดภารกิจที่สำคัญที่ต้องดำเนินการ ในการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปอย่างเร่งด่วน การใช้แรงงานเด็กนั้นถือว่าเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมานั้นกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการประเมินผล ในการดำเนินนโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อจะขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ฉบับที่ 1 ทำมาแล้ว ปีงบประมาณ 2552 - 2557 มี 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือการสร้างความตระหนักรับรู้ให้ชุมชนถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็กและเฝ้าระวัง การสร้างและพัฒนาระบบรับแจ้งเหตุ และรับเรื่องราวร้องทุกข์ในภาคต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นแรงงานเด็ก การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การให้ความรู้ด้านกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติ การพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ เพื่อขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผลประเมินดังกล่าวก็จะนำมาวิเคราะห์เพื่อจะนำไปจัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายฉบับที่ 2 ในรัฐบาลนี้ ปีงบประมาณ 2558 - 2563 ต่อไป เรื่องนี้สำคัญ เพราะว่าเราจะต้องปรับปรุงทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพ ใน 5 ประการที่กล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ และทำให้เป็นรูปธรรม มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ ไม่อย่างนั้นร่างกันไว้ ทำกันไว้ แล้วก็ไม่ได้ทำให้ได้เกิดเป็นผลสำเร็จ
เรื่องการค้ามนุษย์ เช่นเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคนได้ช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา เห็นอะไรที่อาจจะเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็ก ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ตามโรงงาน ตามสถานประกอบการต่าง ๆ นั้น ก็ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ขอให้แจ้งหน่วยงานรัฐด้วย
สำหรับปีนี้นั้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศจะมุ่งเน้นไปที่การรณรงค์พัฒนาประสิทธิภาพด้านการศึกษา ซึ่งตรงกับนโยบายที่รัฐบาลนี้ได้กำหนดไว้ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ เรามองเห็นว่าการศึกษานั้นเป็นรากฐานที่สำคัญ ในการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของชาติ
เรื่องการปฏิรูปการศึกษา รัฐบาลให้ความสำคัญและความเร่งด่วนกับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้กำกับดูแล โดยงานของ สพฐ. นั้น จะมีผลโดยตรงต่อนักเรียนทั้งประเทศหลายล้านคน มีผลต่ออนาคตของชาติเพราะฉะนั้น ผมได้กำชับให้รีบดำเนินการเพื่อจะให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานของการศึกษาในขั้นตอนต่อไปทั้งหมด
ต้นเดือนที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มีการหารือถึงยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2558-2563 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 3 ด้านหลัก คือ ด้านการปฏิรูปการเรียนการสอน ด้านปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพ และด้านปฏิรูประบบการบริหารจัดการ โดยยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการไปจนถึงเดือนมีนาคม 2559 นั้น ได้แก่ 1. การอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนในวิชาภาษาไทย ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 โดยการสอนแจกลูกสะกดคำ ก็ลองดูโบราณก็เคยสอนกันมาแล้ว วันนี้การสอนก็มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ช่วยเหลือครู ช่วยเหลือเด็ก ก็ต้องไปดูว่าวิธีการที่สอนมาใช้ได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ย้อนกลับแบบเดิมได้หรือไม่ ก็ต้องไปพิจารณากันดูให้ดี บางครั้งการเริ่มของใหม่ โดยของเก่าก็คือไม่ได้ดีกว่าเก่า ผมว่าของเก่าดีกว่า ไปลองพิจารณาดูแล้วกัน อาจจะดีกว่า วันนี้ผมก็เชื่อมั่นในบุคลากรทางการศึกษา ในเมื่อคิดว่าดีก็ทำ และเรื่องของการจัดทำสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอน 2. การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามทักษะอาชีพ โดยเฉพาะการจัดสอนทักษะอาชีพในโรงเรียนขยายโอกาส และการจัดสอนทักษะอาชีพแบบเต็มระบบในโรงเรียนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด 3. การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น จัดระบบเทียบระดับ จัดทำความร่วมมือกับประเทศอังกฤษและบริติสเคาท์ซิล เพื่อเป็นการเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ 4. การผลิตและพัฒนาครู จัดการอบรมพัฒนาผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์ 5. ยกระดับการศึกษาทางไกล และ 6. การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน
ผมอยากเห็นการศึกษาไทยพัฒนา คงไม่ใช่เน้นแต่เรื่องความฉลาดทางเชาว์ปัญญา แต่ต้องเน้นถึงเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ด้วย ปัจจุบันหลักสูตรและการเรียนการสอนของไทย มุ่งแต่การพัฒนาสติปัญญาของเด็กอย่างเดียว ทำให้ต้องเรียนหนัก ต้องไปกวดวิชา ไปเรียนพิเศษ ซึ่งก็เน้นแต่การท่องจำเป็นหลัก ทำให้เด็ก ๆ ไม่มีเวลาพอที่จะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามวัย ซึ่งจะทำให้เขารับรู้และเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดน้อยลง เพราะฉะนั้นหากเด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ที่เหมาะสมตามวัย ก็จะมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสุข รู้จักการควบคุมอารมณ์ แต่ก็สามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างถูกกาลเทศะ วันนี้ก็ต้องทบทวนทั้งหมด มาจากพื้นฐานทั้งสิ้น เขาจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมอย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระต่อสังคม วันนี้ก็มาใช้กฎหมาย ใช้เจ้าหน้าที่มากมาย เพื่อจะดูแลเด็กเหล่านี้ ในที่ออกนอกลู่นอกทาง ก็กลับเข้ามาซะ เพราะฉะนั้นคือสิ่งที่เป็นอนาคตของชาติที่ผมอยากเห็น รัฐบาลนี้อยากเห็น ผมคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองก็อยากเห็นแบบนี้ เราต้องการคนที่มีความฉลาด และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ไม่ใช่ขัดแย้งเขาทั่วไปหมด ใช้ชีวิตการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เห็นต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ใช้ความรุนแรง
ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษา ต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้า สถาบันอุดมศึกษาในปีนี้ เท่าที่ผมทราบนั้น คณะและสาขาวิชาที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นคณะศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ ซึ่งผมถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา และวิชาชีพครูด้วย เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาของประเทศไทยเรา
ส่วนคณะและสาขาวิชาที่มีผู้สมัครมากที่สุด ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ ดีเพราะแสดงให้เห็นว่าเยาวชนของไทย มีความสนใจในหลากหลายสาขาวิชาชีพ และก็เชื่อว่าไม่ว่าจะเรียนอะไร ถ้ามีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ มีความสุข ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ และมีขีดความสามรถในการที่จะช่วยเหลือสังคม พัฒนาประเทศชาติได้ทั้งสิ้น
ในทางกลับกัน ถ้าเรียนไปแล้ว และไม่นำความรู้ ความสามารถมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเราจะเสียคนเหล่านี้ไปเปล่า ๆ เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการศึกษา นอกการศึกษา มาดูแลเรื่องพวกนี้ นำคนมาใช้ประโยชน์ เอาพลังศักยภาพมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ ไปขัดแย้ง ไปประท้วงต่าง ๆ ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจ ปรับอารมณ์ตัวเองให้ได้ เรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เรียนรู้ว่าประเทศชาติอยู่ในสถานะอะไร วันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าทำได้อย่างนี้ ผมว่าประเทศไทยไปได้ ไม่ใช่ว่าผมจะไปปิดกั้นอะไรใครทั้งสิ้น
เรื่องผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุด น.ส. ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา ได้เลือกที่จะเรียนนิเทศศาสตร์ ก็ขอแสดงความยินดีในความสำเร็จครั้งนี้ ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ปกครองและครูอาจารย์ด้วย สำหรับคุณพ่อของ น.ส. ศิรดาฯ ก็ได้ออกมาให้ข้อคิดที่ว่า “หากลูกได้เรียนในสิ่งที่รัก จะยากดีมีจนก็คงมีความสุข และความภูมิใจ และความสำเร็จจะตามมาเอง อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ก็อยากให้ทุกคนได้ทำตามนี้ ซึ่งลูกเรียนนิเทศฯ ก็สามารถจะทำสื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนทั่วไป ปรับทัศนคติ หรือค่านิยมไปในทางที่ถูกต้องได้เช่นกัน ลูกสาวก็บอกว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้น ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์อะไรอย่างเดียว อาชีพอื่นก็ทำได้ เพียงแต่ไม่เลือกสอบเข้าแพทย์ ก็เท่ากับไม่ไปแย่งที่นั่งคนอื่นที่อยากเรียนแพทย์ ” อันนี้เป็นแนวคิดที่มีเหตุมีผลของเด็กเอง ของผู้ปกครองก็มีส่วนในการที่จะให้เด็กได้ตัดสินใจในสิ่งที่เขาชอบ และสิ่งที่เขาอยากทำ อย่าไปบังคับเขามาก แต่เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่เพื่ออนาคตเขาอย่างไรในวันหน้า เพราะว่าเราก็ไม่ได้อยู่กับเขาอีกแล้ว วันหน้ามีครอบครัวไปอะไรไป เขาก็ต้องไปเรียนรู้ของเขาเองด้วย
เรื่องโครงการดูงานต่างประเทศของพี่น้องเกษตรกร รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันภายใต้ “โครงการศึกษาดูงานเพื่อการสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร” โดยจะเริ่มการคัดเลือกผู้แทนกลุ่ม องค์กรเกษตรกร จำนวน 45 รุ่น ๆ ละ 20 คน รวม 900 คน จากทั่วประเทศ ในสาขาต่าง ๆ อาทิ ทำนา ทำไร่ อ้อย มันสำปะหลัง ทำสวน ไม้ผล ยางพารา ไม้ดอกไม้ประดับ ผัก หรืออื่น ๆ เกษตรกรรุ่นใหม่ แม่บ้านเกษตรกร เยาวชน ยุวชนการเกษตร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อจะไปดูงานต่างประเทศ เกี่ยวกับสาขาของตน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย จีน ไต้หวัน และมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อได้มีโอกาสไปเห็น ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เทคโนโลยีในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีการผลิต วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการองค์กร ระบบโลจิสติกส์ การสร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ การบรรจุภัณฑ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาจากศักยภาพชุมชน เป็นต้น เหล่านี้ สิ่งใดที่เห็นว่าดี เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบ้านเรา ก็นำมาต่อยอด นำมาขยาย นำมาประยุกต์ และถ่ายทอดให้คนในชุมชนด้วย สิ่งใดที่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมเรา หรืออย่างไรก็ไปไม่เหมือนกัน หรือเป็นไปไม่ได้ก็ไม่ต้องนำมาที่มาเป็นระบบ และใช้ได้นำมาประยุกต์ ไม่ใช่นำมาทั้งหมด ก็ทำไม่ได้อยู่ได้ สอดคล้องกับบ้านเราด้วย น่าที่จะเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลนี้มีความตั้งใจ ในการที่ประยุกต์ ในการที่พัฒนาต่าง ๆ ทั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบประกอบการต่าง ๆ ทั้งหมด ให้กับคนไทยที่เป็นเกษตรกร ซึ่งมีรายได้น้อย ถ้าเป็นไปได้เราก็เป็นการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของทางด้านการเกษตรด้วย อย่างน้อยก็เพิ่มวิสัยทัศน์ เห็นเขาบ้าง เขาทำอะไรกันบ้าง ผู้นำกลุ่ม องค์กรการเกษตร จะได้นำกลับมาพัฒนาท้องถิ่น แบ่ง ๆ กันไป ไม่ใช่ไปเที่ยว ไปศึกษาดูงาน และเก็บอะไรกลับมา กลับมาก็รายงานรัฐบาลด้วย ว่าไปดูแล้วเห็นอะไร อะไรที่เป็นประโยชน์
การไปดูงานอยากให้ตั้งเป้าว่าจะไปดูอะไร เมื่อไปดูแล้วเราต้องจับอะไรไว้บ้าง เตรียมการไว้ก่อน เราจะไปถามคำถามอะไร จะไปดูเรื่องการผลิต จะไปดูการตลาด จะไปดูเรื่องการบริหารจัดการหรืออะไร เตรียมคำถามของตัวเองไว้ แล้วก็คิดว่าเมืองไทยมีปัญหาตรงไหนนี่ เวลาไปดูงานต้องตั้งอะไรไว้ ไม่ใช่ไปลอย ๆ ไปแล้วกลับมาถามว่าได้อะไรบ้างไหม ไม่ได้อะไร ได้แต่ไปเที่ยวซื้อของ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญในวันนี้ก็ให้เกิดความเป็นธรรม กระบวนการคัดสรรก็ไปด้วยความยุติธรรม โปร่งใส ก็อาจจะให้สมาชิกของเกษตรกรเขาคัดเลือกมาก่อนในขั้นต้นอะไรทำนองนี้ แต่ก็อย่าทำให้เขาเสียใจก็มีรุ่น 1 รุ่น 2 รุ่น 3 ก็ว่าไปเรื่อย ๆ อันนี้ผมพูดไปทุกกระทรวงแล้ว ถ้าทุกกระทรวงมีโอกาสแบบนี้ก็ดูแลคนรุ่นหลังเราด้วย เยาวชนต่าง ๆ ในกิจการของทุกกระทรวงมีส่วนร่วมมากบ้าง น้อยบ้างอะไรก็ว่ากันไป คัดเลือกเข้าไปร่วมโครงการ ถ้าสามารถที่จะนำมาจากพื้นที่ได้ ภูมิภาคนี้ได้มีผลิตผลทางการเกษตรอะไร ก็ไปดูสาขานั้น ๆ ไปดูการตลาด ไปดูตั้งแต่การผลิต การปลูก การดูแลต่าง ๆ ทั้งหมดต้องมาพัฒนาถ้าเราไม่เห็นเขาเราทำไม่ได้หรอก วันนี้รัฐอย่างเดียวไปนำไม่ไหวทุกคนต้องไปดูด้วยตาตัวเอง
อันนี้ก็ฝากไปถึงเรื่องพลังงานเรื่องของอะไรต่าง ๆ ที่มีปัญหาทั้งหมด บ้านเมืองเราถ้าเขามีได้เราก็ต้องมีได้ แต่จะมีอย่างไรไปว่ากันมา วันนี้ก็ต่อต้านกันทุกเรื่องก็ไม่ไหวนะ บ้านเมืองวันหน้าเราจะไม่เข้มแข็ง ทำไม่ได้ในการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความรู้ มีวิสัยทัศน์ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในการที่กลับมาแล้วทำให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ ในอาชีพของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรหากเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม ในองค์กร ในชุมชนของตนคนเหล่านี้ก็สามารถที่จะมาเป็นครูหรือเป็นวิทยากร แล้วนำสาระที่ได้จากการดูงานนี้มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการของเรานำมาถ่ายทอดขยายผล
ผมคิดว่าวันนี้เราต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้นำที่ต้องการให้ประเทศของเรามีการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะประเทศอย่างเดียว ในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน อำเภอต้องมีคนเหล่านี้ แต่นำการเปลี่ยนแปลงในทางที่ถูกต้อง ภายใต้กฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกต้องเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ใช่เสรีภาพจนไร้ขีดจำกัด ต้องมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยเหล่านี้ เชื่อฟังผู้ใหญ่ เคารพกฎหมาย วันนี้มีปัญหาทั้งหมด
วันนี้ต้องกำหนดทิศทาง อนาคตแล้วก็เตรียมการในการสร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไปด้วย เยาวชน ยุวชนเกษตรสำคัญ วันนี้ผมได้สั่งการไปมากพอสมควรในเรื่องนี้ ถ้าสร้างได้วันหน้าเราก็มีความสบายใจที่ชุมชนจะมีความเข้มแข็งเกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการแข่งขันแล้วก็สร้างจุดแข็งของตนเองให้ตรงกับพื้นที่ ตรงกับวัฒนธรรมอะไรของตนเองในแต่ละภูมิภาค ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเรียนรู้หมดทุกอันคงไม่ได้ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง แล้วจะได้ทำงานในพื้นที่ ในจังหวัดที่ตนเองเกิดเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ส่งเสริมให้คนไปหากินในพื้นที่อื่น ๆ บ้านเมืองตัวเองก็ไม่ได้พัฒนาก็ไปแออัดในเมืองใหญ่ ๆ
วันนี้ต้องมาขยายเมือง ผมอยากให้มีการขยายเมืองไป 4 มุมเมือง ไม่ใช่ขยายใหญ่โตอะไรเพียงแต่ไปสร้างชุมชนขึ้นมา การที่เราย้ายคนออกไป ไปมีเส้นทางการสัญจรไป-มา การค้าขายมีตลาดมีอะไรต่าง ๆ มีที่อยู่ที่ไม่ใช่สลัม เหล่านี้ต้องคิดต่อ แล้วจะทำอย่างไรก็ไปว่ากัน ผมใช่ไม่จะไปบังคับใครแต่ถ้ามีโอกาสผมว่าคนเราก็ต้องเลือกโอกาสที่ดีกว่าเดิม
เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถทำเครือข่ายได้ในทุกมิติให้มาร่วมกันได้ ไม่ใช่เศรษฐกิจก็ทำเศรษฐกิจ มั่นคงก็มั่นคง สังคมก็ทำสังคม ไม่ได้ทั้งหมดเชื่อมโยง Cluster กันทั้งหมด คือเกิดเป็นประเทศขึ้นมา จากแหล่งผลิตสู่ตลาด จะทำอย่างไร จะตัดพ่อค้าคนกลางได้อย่างไร คือตัดทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการค้าขายระบบเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาค เศรษฐกิจประชาคมอาเซียน แต่ทำอย่างไรจะมีเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้นมาโดยสหกรณ์ โดยประชาชนมีการจัดตั้งขึ้นมาเอง ร้านค้าชุมชน การที่จะทำ Social Business คือการทำธุรกิจเพื่อสังคม ไม่หวังผลกำไรมีเงินทุนมาซื้อจากเกษตรกรโดยตรงมาปรับปรุงแล้วจำหน่าย กำไรกลับมา ทำในเรื่องของเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มเติมเป็นของชุมชนตัวเองอะไรเหล่านี้ตั้งสร้างความเข้มแข็งแบบนี้
ในส่วนของพ่อค้าคนกลางก็ว่าไป เขาค้าเสรี เราไปอะไรเขามากก็ไม่ได้ ทำอย่างไรจะไปถ่วงดุลกันตรงนี้กับของชุมชน ทั้งหมดก็ต้องเชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจพิเศษ หรือนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือการค้าชายแดนหรืออาเซียน หรือประชาคมโลก เหล่านี้เป็นเสี้ยวกันทั้งหมด เป็นเสี้ยวเล็ก ๆ อยู่ในแต่ละอัน ถ้าทุกคนดูแลกัน ช่วยเหลือกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันก็ไม่มีปัญหา รัฐก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่อย่างนั้นเราต้องคอยแก้ปัญหาเดิม ๆ ทุกปี ๆ ไป ก็เหมือนกับคนเป็นไข้ให้ยาไปก็กินยาไปเรื่อย ๆ แต่ยาก็ไม่มีคุณภาพ ยาก็อ่อนบ้าง ยาก็ปลอมบ้าง ก็เลยทำให้เกิดนโยบายประชานิยมเข้ามาอีก วันนี้แก้อะไรไม่ได้ ถ้ายังเป็นอย่างนั้นอยู่
เขตเศรษฐกิจพิเศษ วันนี้มีความคืบหน้าการดำเนินการพอสมควร วันนี้ต้องกราบเรียนว่า วันนี้ก็เดินหน้ามากที่ผ่านมาไม่มีการเริ่มต้นที่ดีพอ เราใช้เวลาประมาณ 1 ปี ทำเรื่องแผนงานการ “เครือข่าย” Connectivity ถนนหนทางด่าน ศุลกากร เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาต้องเห็นใจเวลามีเพียงแค่นี้เข้ามา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดไปครึ่งหนึ่งแล้ว เรื่องความขัดแย้งอะไรต่าง ๆ อีกครึ่งหนึ่งอีก 6 เดือนจริง ๆ ก็ใช้ในเรื่องของการเป็นรัฐบาลในการเริ่มต้น ในการทำแผนอะไรต่าง ๆ แล้วก็จัดสรรงบประมาณคือหลายจังหวัดก็บอกว่ามีโอกาส มีศักยภาพมาก เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเร่งอนุมัติงบประมาณมา จังหวัดนี้ต้องการ 3,000 ล้าน จังหวัดนี้ต้องการ 5,000 ล้าน ขอให้รัฐบาลอนุมัติ ผมพร้อมอนุมัติแต่มีเงินให้ผมอนุมัติหรือเปล่าที่ผ่านมายังไม่เริ่มต้นกันเลย
วันนี้ผมก็มาเริ่มให้แล้วมาทำเรื่องเร่งด่านตรวจ ศุลกากร ถนนขยาย ทุกคนจะเอาวันนี้หมด สะพานก็สร้าง กำลังสร้าง กำลังอนุมัติงบประมาณ ถามว่าผมจะนำเงินมาจากที่ไหนถ้าไม่มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น วันนี้ก็ต้องทยอยไปอะไรก่อน สำคัญกว่าก็ทำอันนั้น อะไรต้องใช้เงินกู้ ก็กู้เท่าที่จำเป็น แต่ถ้าทุกคนต้องการโครงการ ๆ ทั้งหมด แล้วเอาแต่จะต้องเร็วต้องได้อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ ในการทำแล้วประโยชน์จะกลับมาก็ภายใน 2 – 3 ปีด้วยซ้ำไป ปีเดียวก็คงได้เฉพาะเศรษฐกิจในท้องที่ ท้องถิ่นก็ว่าไป แต่เศรษฐกิจในมหภาค ในใหญ่ ๆ จะเกิดประโยชน์ในประเทศอย่างน้อยก็ 2 -3 ปี อันนั้นวันนี้นั้นจะได้มีเงินไปทำตรงอื่นเพิ่มปีหน้าก็ต้องเพิ่มอีกตั้ง 6 แห่ง ปีหน้าก็ต้องไปทำอีก
วันนี้ก็กำลังเร่งแบบแผนงาน หรือ Blueprint ออกมา เรื่องพื้นที่ เรื่องสิทธิประโยชน์ก็บางคนบอกสิทธิประโยชน์ไม่เพียงพอ ผมถามว่าเท่าไหร่จะเพียงพอ ถ้าเพียงพอคือให้ทุกอย่างแล้วรัฐจะหาตรงไหนมา รัฐก็ลงทุนไปแต่ก็ไม่มีอะไรกลับมา ในขณะนี้แล้วจะเอาเงินที่ไหน เพราะฉะนั้นก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน รัฐก็ให้เท่านี้ไปก่อน วันหน้าพอดีขึ้น ก็ค่อยมากขึ้นได้ไหม ถ้าทุกคนบอกว่ารัฐต้องให้ ๆ นี่คือปัญหาของการเป็นประชาธิปไตยด้วย การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหาหมดทุกคนอยากได้ก็ได้ไม่ครบ ได้ไม่ทุกคน ก็ได้บางกลุ่มบางพวก เพราะฉะนั้นก็ต้องปรับตัวเองด้วย
เรื่องการพัฒนาเหล่านี้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในจังหวัดที่มีศักยภาพ แล้วก็ในการค้าขายชายแดน การค้าขายอาเซียนวันนี้รัฐบาลนี้เสริมสร้างบทบาทในการนำของไทยในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในเรื่องของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็คือ การสร้างนวัตกรรมการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การใช้เทคโนโลยีในการผลิตแล้วก็ไปแข่งขันกับต่างชาติได้ ประเด็นสำคัญก็คือต้นทุนการผลิต แรงงานบ้าง อะไรบ้าง มีความผูกพันไปหมดก็ขอให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ใช้เวลา เข้าใจกัน
เรื่องของการดำเนินการเหล่านี้ จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่อย่างไรวันนี้ก็เดินหน้ากันไปก่อน ใครช่วยตรงไหนได้ก็เดินไป ตรงไหนทำได้ก็ทำไปก่อน ตรงไหนยังไม่ได้ ติดขัดก็เดี๋ยวคอยเล็กน้อย เงินทองค่อย ๆ มา ค่อย ๆ ลงไป เพราะต้องลงไปทั้งหมด 6 พื้นที่ปีนี้ จะทำอย่างไร สำหรับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลนี้พิจารณาแล้วจะมีส่วนทำให้ประเทศดีขึ้นเราต้องคำนึงถึงศักยภาพของเรา ว่าประเทศเรานั้น มีขีดความสามารถไหนที่สูงอยู่ มีโอกาสอยู่ที่เราจะเร่งสนับสนุนในระยะแรกให้ได้ ซึ่งได้แก่ คลัสเตอร์กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป ยางพารา แล้วก็ด้านสุขภาพ สมุนไพร การแพทย์ กลุ่มอากาศยาน ศูนย์ซ่อม ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ร่วมกันพิจารณา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละเขตพัฒนา
เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ที่ด่านแม่สอด จังหวัดตาก การสร้างถนนเชิงเขาตะนาวศรี – กอกะเร็กทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ทางหลวงเส้น 105 ตาก – แม่สอด การปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด
เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด่านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว ได้แก่ การปรับปรุงทางรถไฟให้มีมาตรฐาน เพิ่มระบบรักษาความปลอดภัย และการสร้างถนนสายทางแยก ทางหลวง 33 – ชายแดนด่านคลองลึก
เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด่านมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ การสร้างทางหลวงหมายเลข 12 กาฬสินธุ์ – บ้านนาไคร้ และทางหลวงชนบท ถนนสาย 22 และ 23
เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด ได้แก่ การสร้างทางหลวงหมายเลข 3 ตราด – หาดเล็ก และโครงการสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์
เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด่านปาดังเบซาร์ และด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ได้แก่ การสร้างทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง สายหาดใหญ่ –ชายแดนไทย/มาเลเซีย โครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 และการปรับปรุงทางรถไฟ ให้ปลอดภัยต่อการเดินรถ ระหว่างชุมทางหาดใหญ่ –สุไหงโกลก และชุมทางทุ่งสง – หาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์
เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด่านหนองคาย จังหวัดหนองคาย ได้แก่ การสร้างทางหลวงหมายเลข 212 หนองคาย – โพนพิสัย และทางหลวงหมายเลข 212 โพนพิสัย – บึงกาฬ
ทั้งหมดนี้บางส่วนก็ดำเนินการไปแล้ว บางส่วนก็ดำเนินการ บางส่วนก็กำลังจัดหางบประมาณแต่แผนออกมาหมดแล้วก็ถึงจะมีเงินมากก็ทำเร็วไม่ได้ เพราะทำปีนี้ที่รัฐบาลเข้ามาก็เริ่มทำปีนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นอย่าเร่งนักเลยเงินทองก็หายังไม่ค่อยได้ แต่เราก็ทำไว้แล้ว วันนี้อะไรทำได้ทำก่อน อะไรมีเงินทำไปก่อน ถึงจะมีเงินมากก็ทำไม่ได้ เพราะปีเดียว เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้เวลาแต่ทั้งหมดก็ต้องมีความชัดเจนโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่นักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ผมมุ่งเน้นว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจริง ๆ ก็อยากให้เกิดในพื้นที่ของตัวเองว่า เรามีวัตถุดิบอะไรบ้างจะแปรรูปได้อย่างไร จะรองรับในเรื่องของสิทธิทางภาษีประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร มาเพิ่มมูลค่าได้อย่างไรไม่ให้เกิดปัญหากับประเทศเราต่อไปในอนาคต สิ่งสำคัญคือเราจะต้องมีแรงงานที่ทำงานที่ทำงานในพื้นที่เหล่านี้ก็อยากให้เป็นลูกหลานของท่านในจังหวัดโน่นจังหวัดนี่ก็ทำในจังหวัดของตัวเองจะได้พัฒนาจังหวัดของตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมากรุงเทพมหานคร ไปเชียงใหม่ ไปอะไรที่เจริญ ๆ วันหน้าก็แน่นไปหมด แล้วก็เกิดปัญหาทับซ้อนกันอยู่ทุกเรื่องไป ถ้าเราทำอย่างนี้ประเทศไทยทั้งประเทศจะได้เจริญทั้งประเทศทั้ง 77 จังหวัด
เรื่องทวงคืนผืนป่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบุกรุกผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และป่าสงวน ป่าต้นน้ำ เป็นปัญหาสำคัญถูกละเลยกันมานาน วันนี้ถูกทำลายกันไปเป็นจำนวนมากที่ผ่านมาก็มีรายงานกันมาตลอดก็แก้ปัญหาไม่ได้สักครั้ง วันนี้เอาปัญหาทั้งระบบมาแก้ไขแต่ก็ต้องใช้เวลาในการที่จะปลูกทดแทน ในการที่จะปรับพื้นที่การเกษตรในการโซนนิ่งแล้วแต่เป็นปัญหาที่หมักหมก ยาวนานทับซ้อนหลายเรื่องต้องแก้ให้ได้ ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือความแห้งแล้ง หลายคนบ่นมาว่าการบริหารจัดการน้ำไม่เกิด ไปดูเขาบ้างหรือเปล่าว่าเขาเกิดอะไรไปแล้วบ้างในปี 2557 ก็ทำไปเป็นจำนวนมากเป็นหลายพันโครงการแต่ไม่ใหญ่โตเหมือนที่ผ่านมาจะกระจายไปทั่วพื้นที่ แต่ตรงไหนมีน้ำก็ทำได้มาก ทำทันที ตรงไหนยังไม่มีน้ำฝนไม่ตกมาปีแล้ว ไม่ตกปีนี้ ก็ไม่ตกอีกจะทำอย่างไร ไปขุดไว้ก็เสียเปล่าก็ต้องไปปรับพื้นที่ให้ตรงกับตรงนั้น ตรงไหนที่ไม่มีน้ำ น้ำต้นทุนไม่มีก็ต้องหาวิธีการอื่นให้คนอยู่ได้ น้ำอุปโภคบริโภค การเพาะปลูกพืชอื่น ๆ มาทดแทน วันนี้ฝนตกไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์น้อยกว่าเดิมมาก มีน้ำใช้ได้ประมาณสัก 9 % อยู่ตอนนี้ ก็คาดหวังว่าต่อไปจะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไปตกนอกพื้นที่การเกษตร ตกกรุงเทพฯ อีกมากเลยน้ำท่วมอีก
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของสาเหตุการบุกรุกผืนป่านั้น เกิดจากนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชที่ผ่านมาในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้มีเกษตรกรจริง ๆ ผู้ยากจนจริง ๆ ก็มีนายทุนบางส่วนด้วยบุกรุกผืนป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลูกยางพารากว่า 5.5 ล้านไร่ วันนี้ผลผลิตยางพาราก็มากมายล้นตลาดด้วย พอตลาดโลกเขารับซื้อน้อยลงที่ปลูกตรงนี้ก็เกินถึงแม้ราคาจะต่ำอยู่ แล้ว ยิ่งมีมากยิ่งต่ำมากกว่าเขาอีก เพราะต้นทุนเราสูง ต้นทุนการปลูก ต้นทุนการกรีด เพราะเป็นกิจการขนาดใหญ่ทั้งสิ้น แล้วคนจนอยู่ในระบบนี้ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นเราต้องมีการควบคุม สร้างความสมดุลในเรื่อง Demand Supply ให้ได้ รัฐบาลต้องเสียเงินในการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวเกษตรที่เดือดร้อน เรื่องราคาสวนยางตกต่ำ ราคายางตกต่ำ การกรีดยางตกต่ำ รายได้ไม่ได้ เมื่อยางราคาตก การกรีดยางก็ไม่ได้ค่าจ้าง วันนี้มี 2 อย่าง คือ เจ้าของสวนยางกับคนกรีดยาง ต้องดูแลทั้งคู่ เจ้าของสวนยางก็จะมีประชาชนที่ถูกต้อง กับประชาชนที่ไม่ถูกต้อง และมีนายทุนไม่ถูกต้องอีก ก็ต้องแก้กันทั้งระบบ
ขอขอบคุณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทหาร คสช. ก็ได้มีการบูรณาการแผนงานบุคลากรและเครื่องมือในการทวงคืนผืนป่าให้กับชาติ เพื่อจะเก็บไว้ให้กับชนรุ่นหลัง ได้กำหนดแผนพัฒนาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการทางการปกครอง และเน้นการทวงผืนป่าคืนจากนายทุนมาเป็นของรัฐ และตั้งใจว่าจะทำให้ได้เบื้องต้น 1.5 ล้านไร่ ภายใน 2 ปีที่เราอยู่
จากนั้นจะดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่า ให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำ ให้คนที่อยู่ตรงนั้นดูแล จะทำอย่างไรก็หนักใจอยู่เหมือนกัน เพราะมีมาก น้ำฝนก็มีปัญหา น้ำฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล ตกน้อย จะทำอย่างไร เราจะฟื้นฟูสภาพป่าได้อย่างไร ได้แต่พูดกันมานานแล้ว ปลูกป่าต้นน้ำ ผมก็ไม่เห็นจะขึ้นเท่าไหร่เลย นี่จะทำอย่างไร เราจะรักษาความชื้นระบบนิเวศเราอย่างไรต่อไป ฝนจะได้ตกตามฤดูกาล เพราะว่าเราเป็นป่าฝน เราไม่มีป่า ก็ไม่มีฝน ไม่มีน้ำ ใครก็ไม่สามารถจะให้ได้ เพราะเราสร้างน้ำเองไม่ได้ นอกจากช่วยกันสร้าง ให้ป่าเป็นคนสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นน้ำ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นป่า ก็เพื่อจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการที่จะทำให้ประชาชนคนไทยได้มีที่อยู่ที่ทำกิน ที่อาศัย ที่เพาะปลูก นี่เป็นสิ่งที่สถาบันทำมาโดยตลอด
ที่ผ่านมา ผู้ที่นำมาปฏิบัติอาจจะไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร และไม่สามารถที่จะไปสู้กับระบบนายทุนได้ อะไรได้ นายทุนที่ดี ๆ เขาก็มี ไม่ใช่บอกนายทุนไม่ดีทุกคน บางคนเขาก็ทำประโยชน์มากมายกับประเทศนี้ เราก็ต้องมีมาตรการเยียวยากับผู้ที่ยากจน และบุกรุกเข้าไป แล้วก็ปลูกพืชผิดกฎหมาย จะทำอย่างไร จะมีการปลูกพืชทดแทนขึ้น พัฒนาให้หันมาเลี้ยงสัตว์ มาทำประมงได้ไหม แล้วก็ให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้มีความรัก หวงแหนต่อไป ใช้ประโยชน์จากป่าได้ อาศัยป่าเป็นเหมือนแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร เพื่อจะหล่อเลี้ยงชีวิตคน และสัตว์ป่า อันนี้ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในเรื่องการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม และปัญหาผลผลิตยางพารา หรือผลผลิตอื่น ๆ ที่เป็นความต้องการของตลาดในคราวเดียวกันด้วย ขอชมเชยมูลนิธิป่าตะวันออก 5 จังหวัด ที่สามารถทำได้อย่างดี ขอให้ที่อื่น ๆ ทำด้วย ให้มีผล มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนขึ้น จับต้องได้
เรื่องการปฏิรูปรูปแบบการให้บริการภาครัฐ ตาม Roadmap ของ คสช. นั้น ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 แก้ปัญหา วางรากฐาน และการพัฒนาประเทศ สิ่งหนึ่งที่เร่งดำเนินการอยู่ คือ การปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ เปิดช่องทางเข้าถึงบริการของภาครัฐ สะดวก ลดขั้นตอน เริ่มจากรูปแบบง่าย ๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop-service) ศูนย์ดำรงธรรม หรือสายด่วน จากนั้นก็จะขยายกรอบการดำเนินงานให้ครอบคลุม อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้น เช่น การปรับปรุงกฎหมาย
วันนี้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ก็ออกมาแล้ว การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ไปสู่การเป็นดิจิตอลอะคาเดมี่ และการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อให้การบริการของหน่วยงานภาครัฐบนมือถือ เช่น แอพฯ WMSC ซึ่งรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ในการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณน้ำท่า ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน พื้นที่เพาะปลูกของกรมชลประทาน หลายเรื่องผมสั่งไปแล้วก็กำลังดำเนินการอยู่ทุกกระทรวง
สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้คือการสร้างการรับรู้โดยทั่วไป ข้อมูลพื้นฐาน ประชาชนไม่รับรู้ ข้าราชการไม่มีการบูรณาการ เพราะฉะนั้นต่อไปจะต้องมีการบูรณาการในระบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์อะไรก็แล้วแต่ ไปทำมา ข้อมูลเหล่านี้ 1 ให้ทุกกระทรวงประสานกันได้ในกลุ่มงานเดียวกัน ถ้าน้ำหลายกระทรวงก็มา Join ข้อมูลกันตรงนี้ ไม่ใช่แต่ละกระทรวงก็ไปทำของตนเอง ๆ แล้วก็ไม่ต่อกัน เริ่มจากฐานข้อมูลอันเดียวกัน ประชาชนก็ต้องเรียนรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากแอพฯ เหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ใช่ใช้โทรศัพท์ในทางติดต่อสื่อสาร ในทางพูดคุยอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ เสียเงินมากมายในการพูดคุยที่ไม่ได้ประโยชน์ ไปเปิดดูว่าบ้านตัวเองตรงนี้มีน้ำใต้ดินไหม ตรงนี้ปลูกพืชอะไรถึงจะเหมาะสม ใช้ปุ๋ยอะไร ต้องเข้าใจการพัฒนาของรัฐบาลด้วย การบริหารราชการ ถ้าไม่เช่นนั้นเราพัฒนาไม่ทันกัน ความคิดไม่เกิด เมื่อความคิดไม่เกิดวิสัยทัศน์ก็ไม่เกิด ความร่วมมือก็ไม่เกิด
วันนี้มีกองบัญชาการตำรวจนครบาลมาร่วมด้วย ร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาแอพฯ ใหม่ ชื่อ “Police I lert You” (โปลิส ไอ เลิด ยู) ไม่ใช่ I Love You ขึ้นมา เพื่อจะปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ เสริมระบบสายด่วน 191 ให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยประชาชนผู้ประสบเหตุ หรือผู้เห็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่ลงทะเบียนเข้ามาใช้บริการล่วงหน้า สามารถแจ้งขอรับการช่วยเหลือ ด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว และตำรวจสายตรวจ ที่มีอยู่ราว 5,000 นาย จาก 88 สถานีตำรวจเขตนครบาล จะได้รับสัญญาณแจ้งเหตุพร้อมกันทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน ซึ่งศูนย์วิทยุ 191 จะควบคุมและกำกับดูแลตำรวจสายตรวจในภาพรวม ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ ภายในระยะเวลา ไม่เกิน 10 นาที ด้วยการแจ้งพิกัดของ GPS ในมือถือ อาจจะทำให้สถานการณ์จากหนักเป็นเบา ลดการสูญเสีย ขจัดปัญหาการแจ้งความเท็จ ซึ่งวันนี้มีถึง 80% เห็นใจบ้างวันนี้ระบบนี้ ต้องระมัดระวัง ตำรวจเขาตรวจสอบได้ ถ้าแจ้งไปแล้วไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง แจ้งเพื่อความคึกคะนองมีความผิดทั้งสิ้น สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้แจ้งย้อนหลังได้ทั้งหมด
สำหรับการลงทะเบียนในครั้งแรกนี้ ลองไปโหลดมาใช้กันดู ปัจจุบันจะเริ่มให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นการนำร่องก่อน ต่อไปจะขยายผลไปเมืองใหญ่ เมืองสำคัญ ทั่วประเทศต่อไป ก็ต้องใช้เวลา ทุกอย่างเริ่มพร้อมกันไปหมดเลยปีนี้ ก็จำเป็นต้องขอความร่วมมือ ขอให้เข้าใจนโยบายรัฐบาล เราได้สั่งการไปแล้วให้หน่วยงานราชการ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ปฏิรูปปรับปรุงรูปแบบการทำงานของตนให้ดีขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพ เอาผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นที่ตั้ง แล้วก็แสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคมต่าง ๆ ด้วย ไม่ใช่ขัดแย้งกันทุกเรื่อง รัฐบาลก็มีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น อปท. ก็ต้องเป็นหลัก วันนี้ท่านก็ต้องสร้างความเข้าใจให้ได้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถไปลงทุน ไปก่อสร้างอะไรในพื้นที่ได้เลย ภาพรวมของท้องถิ่นของท่านก็เจริญไปไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ตรงอื่นไปไม่ได้ด้วย เพราะบางอย่างตรงเกิดในตรงนี้ ตรงนั้น เช่น เรื่องพลังงาน เรื่องสายส่ง เรื่องสถานีโน่นนี่ ก็ต้องมีที่ตั้ง จะไปตั้งที่ไหนได้ ก็ต้องช่วยกัน ทำความเข้าใจ ตรงไหนที่ประชาชนยังไม่เห็นดีเห็นดีเห็นงามอาจจะต้องพาขึ้นเครื่องบินไปหรือ ไปดูโรงงานแบบนี้ แบบนั้น โรงงานไฟฟ้าแบบนี้ ลิกไนท์เป็นอย่างไร เหมืองแร่ทำอย่างไร ไปดูเพื่อจะได้ดูว่า ถ้าอย่างนี้รับได้หรือไม่ ไม่ใช่ต่อต้านทั้งหมดเลย แล้วจะอย่างไร ผมไม่รู้
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อยากให้พี่น้องประชาชนรักษาสุขภาพด้วย เชื้อโรคต่าง ๆ แพร่กระจายได้รวดเร็วในฤดูฝน อากาศชื้น เป็นสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย และโรคระบาด ปัจจุบันก็มีเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ 2012 (MERS “เมอร์ส”) กำลังระบาดในประเทศเกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง ทั้งนี้ก็ยังไม่ปรากฏการระบาดในประเทศไทย ผมก็ได้สั่งการใน ครม. ไปแล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เหมือนกับที่เราเคยดูแลเรื่องซาร์ เรื่องไข้หวัดนก อีโบลาด้วย
วันนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวัง ทั้งในเรื่องของการป้องกัน การให้คำแนะนำกลุ่มเสี่ยง สถานที่ ๆ จะต้องเข้าไปแจ้ง ไปพิสูจน์ว่าเป็น หรือไม่เป็นอะไรเหล่านี้ ก็มีโรงพยาบาล 69 แห่งที่ผมจำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ต้องดูแลนักท่องเที่ยว และแรงงานที่มีความเสี่ยง กลับมาจากประเทศเหล่านั้น ได้มีการดูแลในเบื้องต้น ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัยว่า โรคนี้เป็นอะไร อย่างไร ก็มีอยู่แล้ว มีอาการอย่างไรบ้าง หากต้องการแจ้งการระบาดของโรคเมอร์ส หรือสงสัยและทุก ๆ โรค ท่านจะปรึกษา ได้ที่ “สายด่วน 1422” แล้วจะได้ถามเขาว่า ผมเป็นอย่างนี้ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย หรือไม่สบายมาก ๆ เป็นอะไร ปรึกษาเขา เพราะแต่ละโรคไม่เหมือนกันอยู่แล้ว 1422
มีหลายเรื่องที่ผมอยากจะคุยกับท่าน พยายามที่จะใช้เวลาให้น้อยที่สุด หลายเรื่องวันนี้ก็มีเรื่องกีฬา เราก็ได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายประเภทเหมือนกัน เหรียญทองก็มากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาด้วย
เรื่องอื่น ๆ คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูป ขอยืนยันอีกครั้งสำหรับการปฏิรูปในขณะนี้ เราเริ่มต้นแล้วอยู่ในระยะที่ 2 ของรัฐบาล ของ คสช. เพราะฉะนั้นถ้าเราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ในเรื่องของการปฏิรูปต่อไปก็เป็นการส่งต่อ ระยะที่ 3 การเลือกตั้งรัฐบาลก็ว่าไป ก็ทำต่อ หรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะว่าผมก็ทำได้แค่นี้ แต่พยายามจะทำให้มากที่สุด เท่าที่เวลาผมมีอยู่ตาม Roadmap อย่ามาถามผมอีกเรื่องเหล่านี้ ผมเสียเวลา ผมทำงานด้วย ต้องเอาเวลามาตอบคำถามแบบนี้มาตลอดเวลา นักข่าวก็ชอบถามเรื่องแบบนี้ แล้วก็ทำให้ผมไม่มีเวลาทำงาน แล้วก็อารมณ์หงุดหงิด แล้วบอกว่าทำไมผมหงุดหงิด ก็ถามคำถามที่มีสาระหน่อยแล้วกัน ได้ไหม
เรื่องยุทธศาสตร์การลงทุนต่าง ๆ นั้น ของเราก็ชัดเจน ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ วันนี้เดินหน้าหมด ทุกประเทศก็พูดคุยกัน ปรับปรุงในเรื่องของระเบียบการลงทุน ในเรื่องสิทธิประโยชน์มากมาย ถ้าหากว่าติดตามก็จะรู้ วันนี้ก็อาจจะต้องไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ ในเฟซบุ๊กบ้าง ผมดูแล้วหลาย ๆ คนมาพูดออกสื่อหรือเขียนในหนังสือพิมพ์บ้าง แต่ไม่รู้ว่าเราทำไปแล้ว ที่พูดก็ติติงตรงนู้นตรงนี้ ถ้าจะติผมไม่ว่า แต่ให้รู้ก่อนว่าเขาทำหรือยัง
การหาตลาดทางการส่งออก วันนี้ก็มีแนวโน้มดีขึ้น วันนี้เราก็เดินตลาดล่างด้วย หลายประเทศให้ความร่วมมือในการที่จะรับซื้อ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตทางการเกษตร ด้านผลไม้อะไรต่าง ๆ มากขึ้น ก็ต้องรอในไตรมาสต่อ ๆ ไปว่าจะดีขึ้นอย่างไร ดูรอบบ้านเขาด้วย ถ้ารอบบ้านเขาตก แล้วเราจะไม่ตกเลยก็ไม่ได้ หรือโลกเขาตกแล้วอาเซียนไม่ตกก็ไม่ได้อีก แต่จริง ๆ แล้วต้องมีฐาน เขาเรียกว่าฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้นตัวเลขในเรื่องของการเพิ่มขึ้นลดลง เหล่านี้บางทีก็ต้องเปรียบเทียบในความกว้างหรือความใหญ่โตของฐานเศรษฐกิจ โดยไทยเรากว้าง-ใหญ่ แต่ทำอย่างไรเราจะเข้มแข็งทั้งหมด อันนี้จะทำให้บ้านเราได้เปรียบคนอื่นเขาด้วย
เรื่องการวิจัยพัฒนา วันนี้ก็เดินหน้าไปมาก จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน อันนี้ต้องเข้าใจว่าเราไม่สามารถจะรับซื้อไฟฟ้าได้จากทุกที่ ขึ้นกับสายส่ง ผมพูดไปหลายครั้งแล้ว ถ้าอยากทำก็ทำใช้ในบ้าน อันนี้เรายินดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสิ้นเปลือง ไม่ต้องไปเพิ่มศักยภาพโรงไฟฟ้าเขามากนัก ท่านก็ใช้ของท่านเอง แล้วเขาบอกประมาณ 5 – 7 ปี ก็คุ้ม ในการที่จะเสียค่าไฟ แต่ถ้าท่านทำแล้วมาขายก็มีปัญหาอีก ท่านก็อยากขายราคาสูงขึ้น ราคาที่รับได้ คือทุกคนจะเอาแต่ประโยชน์ไม่ได้ ต้องมีได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ต้องมีเผื่อแผ่แบ่งปัน
เรื่องของความเชื่อมโยงเหล่านี้ ความเชื่อมโยงไม่ใช่เฉพาะ Connectivity ไม่ใช่ถนน เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้า ไม่ใช่ เชื่อมโยงจิตใจของท่านเข้าด้วยกัน ร้อยหัวใจทั้ง 70 ล้านดวงของเราโดยประมาณ ให้ต่อกัน ถึงกัน เผื่อแผ่กันให้ได้ และก็ตามไปสู่ว่า เราจะช่วยกันอย่างไร เราจะพัฒนา เราจะสร้างความเข้มแข็งของประเทศนี้อย่างไร เป็นประเทศของคนไทยทุกคน ถ้าใครไม่ใช่คนไทยเขายังรักเราเลย เมื่อวานผมเจอกับทูตต่างประเทศ เขาเกษียณอายุ พูดก็ได้เม็กซิโก เขาก็จะอาศัยในเมืองไทยอยู่ต่อไป บ้านจะอยู่แถว ๆ เพชรบุรีซอย 11 เขารักเมืองไทย เขารักอาหารไทย เกษียณอายุเขาไม่กลับบ้าน อยู่เมืองไทย ผมก็บอกว่าดีใจที่คนต่างประเทศให้ความไว้วางใจเรา และก็ขอให้เขาเป็นเพื่อนเรา เป็นมิตรกับเราตลอดเวลา เพราะว่าเป็นเพื่อนเราเป็นวันเดียวก็เป็นทุกวัน เป็นจนตายจากกัน เพื่อนดี ๆ หายาก ก็ช่วยกันหาด้วย อย่าไปหาเพื่อนที่ไม่ดี คบไม่ดี คนไม่ดี คบได้ไม่กี่วัน วันหน้าก็ออกลายไปทั้งหมด ก็ขอให้ไตร่ตรอง ใคร่ครวญให้ดี มีหลายเรื่องที่ผมอยากคุยกับท่าน แต่รบกวนเวลามาเพียงเท่านี้
ขอบคุณในกำลังใจทุกอย่างที่ให้กับผม ให้กับรัฐบาลมา ขอให้กับทุกคนด้วย และอย่าลืมให้กำลังใจตัวเองด้วย อย่าไปตื่นตระหนก อย่าไปวิตกจริต อย่าไปอะไรทั้งสิ้น ขอให้เริ่มจากการไว้วางใจซึ่งกันและกัน และร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ไม่มีอะไรที่จะแก้ไม่ได้ ถ้าคนไทยทุกคนร่วมกันในการทำงาน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ ขอให้มีความสุขในวันสุดสัปดาห์ครับ
---------------------------------
ที่มา : http://www.thaigov.go.th/