พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 4,066 view
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558 เวลา 17.00 น.

รายการคืนความสุขให้คนในชาติ

สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน

ในวันที่ 1 มิถุนายนที่กำลังจะมาถึงเป็น “วันวิสาขบูชา”ซึ่งเป็นวันสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก จึงนับว่ามีความสำคัญกับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทั้งนี้ถือเป็นอันโอกาสดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกิจกรรมสืบทอดพระพุทธศาสนา น้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์ และนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันและร่วมกันประดับธงชาติและธงธรรมจักร เพื่อแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เข้าวัด ทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ลด ละ เลิกอบายมุข ทำความดีถวายเป็นพุทธบูชา และน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยพร้อมเพรียงกัน

รัฐบาลจะร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด คณะสงฆ์ และองค์กรเครือข่ายชุมชนคุณธรรม “บวร” (บ้าน-วัด-โรงเรียน) ได้เตรียมการจัดกิจกรรมทางศาสนาทั้งในส่วนกลาง ณ ท้องสนามหลวง และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้พี่น้องประชาชนทั่วไปได้ร่วมงาน นอกจากจะเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองแล้ว ครอบครัวและยังจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมะอีกด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานหลายงาน ทำให้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และรับฟังปัญหาจากตัวแทนภาคประชาชนในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มตัวแทนหอการค้าจากทั่วประเทศ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ผมได้พบส่วนใหญ่นั้น ให้ความสนใจ เข้าใจ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในส่วนของการวางรากฐาน ในการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปเพื่ออนาคตของเขาเอง

ผมได้ขอบคุณขอให้ทุกคนได้ช่วยกันกลับไปสื่อสาร ทำความเข้าใจและช่วยสานต่อในสิ่งที่ผมได้พูด ได้ทำไปในขณะนี้ ซึ่งบางอย่างนั้นอาจจะยังไม่เสร็จเรียบร้อย บางอย่างก็เสร็จไปแล้ว บางอย่างกำลังเตรียมการจะกระทำอยู่ ถ้าเข้าใจกันวันนี้ ก็จะเดินหน้าไปได้ด้วยดี ลดความขัดแย้ง

สำหรับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลนั้น ขณะนี้ออกไปมากมาย ผมอยากจะให้ไปถึงชุมชน และถึงคนทุกระดับทุกพื้นที่ได้ทำความเข้าใจ เพราะเราจำเป็นต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และพื้นฐานตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานไว้แล้วว่า ทุกอย่างจะพัฒนาไปได้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเราต้องมีความรู้และคุณธรรม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นกังวลอยู่คือเรื่องการเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย ผมได้พูดไปหลายครั้งแล้ว วันนี้ก็อยากจะนำส่วนหนึ่งของการบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์ มิเชล โทเปอร์ จากมหาวิทยาลัยปารีสที่ 10 ของฝรั่งเศสที่ได้มาบรรยายที่บ้านเรา และให้ข้อคิดที่ว่า “การรัฐประหาร ก็อาจไม่ใช่การทำลายประชาธิปไตยเสมอไป เพราะบางครั้งการรัฐประหารในหลายประเทศ ก็เป็นการทำเพื่อเตรียมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต” ผมไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ดี ทำความเข้าใจผมด้วย

เพราะหลายประเทศก็ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาเกือบทั้งสิ้น ผมอยากให้คนไทยทุกคนตระหนักว่าที่ผ่านมา 10 กว่าปีนั้น ประเทศไทยมีปัญหามาโดยตลอด ประชาชนแตกแยก ไม่มีความสุข รัฐบาลทุกรัฐบาลพร้อมที่จะใช้กำลังเพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ยุติ ทั้งด้วยกฎหมาย ด้วยการคลี่คลายสถานการณ์ แต่ก็ไม่ยุติ ประเทศไทยของเรานั้น ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่มาเป็นเวลานาน เพื่อนบ้าน รอบบ้านต่างเร่งเดินหน้าพัฒนาประเทศกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในเร็ววันนี้ ปลายปีนี้ ถ้าปล่อยไว้โดยเราไม่ทำอะไรเลย ประเทศก็พังพินาศเสียหาย ลูกหลานเราก็ไม่มีอนาคต

สำหรับผู้ที่ถูกเลือกเข้ามาในการบริหารประเทศนั้นก็แก้ปัญหาให้ได้ อย่าให้คนไทยต้องหันมาต่อสู้ทำร้ายกันเองอีก สังคมแตกแยกขาดความเป็นระเบียบ กฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ด้อยโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบ มีความเลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ประเทศชาติอ่อนแอ รัฐบาลนี้เข้ามาตอนที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นแบบนั้นจริง ๆ กำลังจะไปไม่รอดอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาแล้ว ผมต้องการให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนจากสภาพเดิม ๆ แล้วเดินหน้าต่อ เรามีศักยภาพอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ใช้ศักยภาพเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่

ผมต้องการให้คนไทยมีศักดิ์ศรี มีอนาคต ผมไม่เคยคิดว่าทุกอย่างจะง่าย แต่ก็เชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน มองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว และก็ยอมรับว่าประเทศชาติเราต้องปฏิรูป หันมามองผลประโยชน์ส่วนรวม ลดอัตตาตัวเองลงไป ผมคิดว่าเราทำได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนทุกคน การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารครั้งนี้ เราน่าจะสามารถวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศไทยของเราเพื่อเตรียมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ในอนาคต จะได้หรือไม่ได้อยู่ที่พวกเราทุกคน และผมอยากจะกราบเรียนว่าคงไม่ใช่เฉพาะพวกเรา การวางอนาคตเหล่านั้นเป็นการวางอนาคตให้กับคนรุ่นหลังของเรา ลูกหลาน ผมอยากจะใช้คำว่าคนไทยที่ยังไม่ได้เกิดมามีอีกมากมาย วันหน้าก็มีเกิดมาเพิ่มเติม เราต้องวางพื้นฐานให้เขาตรงนั้นด้วย ไม่ใช่วันนี้เราใช้ทุกอย่างสิ้นเปลือง ทรัพยากรก็หมดไป ความเข้มแข็งก็ไม่มี วันหน้าประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน แล้วเขาเกิดมาเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร คิดอย่างนั้นนะ ทุกที่จะเข้ามาสู่การเมือง หรือคนที่จะเป็นข้าราชการ ต้องคิดแบบที่ผมคิด ถึงจะแก้ปัญหาสำเร็จ

ปัญหาที่สะสมมายาวนานก็ต้องช่วยกันแก้ อย่าโยนภาระให้กับรัฐบาล หรือ คสช. ให้ใช้อำนาจอย่างเดียว ไปไม่สำเร็จ วันหน้าเกิดขึ้นมาใหม่ อยู่ที่การร่วมแรง ร่วมใจของทุกคน ความสมัครใจ การที่จะปรองดองกัน เรื่องกฎหมายก็คือกฎหมายคนละเรื่องกัน ปรองดองกันให้ได้ก่อน และจะต้องไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก ในสถานการณ์ต่อจากนี้ไป

เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วยความเร่งด่วน

เรื่องชาวโรฮีนจา รัฐบาลไทยได้มีความชัดเจนในการกำหนดความช่วยเหลือชาวโรฮีนจาตามหลักมนุษยธรรม ประเทศไทย คนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจ เราได้ให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มิตรประเทศมาโดยตลอด ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ตามแนวชายแดน และรวมทั้งเหตุการณ์สินามิในประเทศญี่ปุ่น อุทกภัยในประเทศอินเดีย ล่าสุดประเทศที่เนปาล เราก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่เราก็พร้อมและยินดีที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือมิตรของเราในยามลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์คุณค่าความเป็นมนุษย์ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราก็ช่วยตามขีดความสามารถของเรา

สำหรับปัญหาชาวโรฮีนจาก็เช่นกัน ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกประเทศ องค์กรระหว่างประเทศต้องช่วยกัน ในการดูแลมนุษยชาติ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่จำเป็นต้องกำหนดหลักการช่วยเหลือให้ชัดเจน ทั้งในเรื่องของการดูแลรักษาพยาบาล น้ำ อาหาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ปลอดภัยไปยังประเทศปลายทาง ตามความสมัครใจ ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยนั้นเป็นเพียง “ทางผ่าน” ไม่ใช่ประเทศเป้าหมายของชาวโรฮีนจา

ผมได้สั่งการให้ กระทรวงกลาโหม จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้กับผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย” (ศอ.ยฐ.) มีหน้าที่ในการลาดตระเวน ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ โดยความร่วมมือทั้งทหารเรือ ทหารอากาศ โดยทหารอากาศเป็นผู้ควบคุม ได้มีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้แก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติด้วย ตามหลักสากล ก็ขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

วันนี้กระทรวงการต่างประเทศก็ได้จัดการประชุมว่าด้วย “การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” ทั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้หารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและให้เกิดความยั่งยืน มี 16 ประเทศเข้าร่วม อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และบังกลาเทศ รวมทั้งประเทศผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ และผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

เป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนี้ เร่งผลักดันในประเด็นที่ต้องการให้เกิดความร่วมกันในการแก้ไข ทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ใช้หลักการร่วมแบ่งปันระหว่างประเทศ(International Burden Sharing) หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย สำหรับผลการประชุมกระทรวงการต่างประเทศนั้น จะเสนอให้ทราบในโอกาสต่อไป

ผมคิดว่าคงได้คำตอบในทุกประเด็นต้องการให้เกิดการปฏิบัติให้ได้หลังจากมีการประชุมไปแล้ว และระยะกลางจะทำอย่างไร ระยะยาวจะทำอย่างไร ระยะแรกจะต้องร่วมมือกันตรงไหน งบประมาณใช้จากที่ไหน แล้วใครจะเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติ หรือแต่ปฏิบัติจะแยกกันเอง ก็ต้องไปหาคำตอบกันในที่ประชุม ผมได้สั่งการลงรายละเอียดไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับในที่ประชุมจะมีมติว่าอย่างไร

เราไปบังคับใครมากก็ไม่ได้อยู่แล้ว เป็นสิทธิของแต่ละประเทศ แล้วเราเป็นอาเซียนด้วยกัน ก็ไม่อยากให้เสนอข่าวเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นความขัดแย้งจะทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในอาเซียน ที่กำลังดีอยู่ กำลังเข้มแข็งอยู่ต้องเสียหายไป ปัญหามีทุกประเทศ ถ้าเราร่วมมือกันทำ ร่วมมือกันแก้ก็จะได้ แล้วก็ไม่โทษกันไปกันมา เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมนุษย์ ชีวิตทุกคนมีค่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ศาสนาใดก็ตาม เขามีสิทธิ์ในการดำรงชีวิตอยู่ทั้งสิ้น

เรื่อง IUU รัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” หรือ ศปมผ. ซึ่งเป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานั้น หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้เร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ได้กำหนดให้ศูนย์อำนวยการการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กรมประมง และกรมเจ้าท่า ในการจัดทำแผนการตรวจตราการประมงระดับชาติ (National Inspection Plan)

สำหรับการดำเนินงานวางระบบในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการประมงภายในประเทศ ปัจจุบันมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ IUU ที่เข้ามาเพื่อมาดูการปฏิบัติของเราในช่วงเร็ว ๆ นี้ เราจำเป็นที่จะต้องทำให้สามารถดำเนินการกับการจัดการทรัพยากรประมงให้ได้ รวมทั้งจะต้องมีการเร่งพิจารณากฎหมายลูกอีกไม่น้อยกว่า 17 ฉบับ สำหรับการปรับปรุงภายนอกประเทศ คือ ต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเป็นไปตามหลักวิชาการด้านการประมง

เรื่องแรงงานประมง เราไม่ได้นิ่งนอนใจ การช่วยเหลือเพื่อส่งตัวลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างอยู่ที่เกาะอำบน และเกาะอื่น ๆ ด้วยในอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 1 ปี 2557-2558 กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา และกรมการกงสุล ได้ดำเนินการส่งตัวลูกเรือประมงกลับไทยแล้วทั้งสิ้น 618 คน ล่าสุดเป็นลูกเรือจากเกาะเบนจินา จำนวน 29 คน ที่ได้เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ตามด้วยลูกเรือจากเกาะเบนจินา 29 คน เกาะตาเร็มปา 5 คน และเกาะอำบนอีก 5 คน ในวันที่ 26 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันนั้นจากเกาะอำบนที่ได้ดำเนินการออกหนังสือรับรองสัญชาติ (Certificate of Identity – C.I.) และอยู่ระหว่างการรอส่งกลับอีก 80 คน และจากเกาะเบนจินาอีก 327 คน ทั้งหมดอยู่ระหว่างการรอการสอบสวน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานฝ่ายอินโดนีเซียขอให้ลดขั้นตอนการพิจารณาเพื่อที่จะส่งลูกเรือเหล่านี้กลับได้ในโอกาสแรก

รัฐบาลขอขอบคุณรัฐบาลอินโดนีเซีย และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่ได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ถูกมองข้ามมาเป็นเวลายาวนานเหล่านี้ด้วย ก็ต้องคัดแยกให้ดี ว่าอันไหนเป็นเหยื่อ อันไหนเป็นค้ามนุษย์ อันไหนเกี่ยวข้องกับกระบวนการ และอันไหนเป็นสัญชาติของใคร ก็ต้องพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยแล้วก็ส่งกลับไป มาตรการทั้งกฎหมาย มาตรการทั้งวิธีการปฏิบัติ และมาตรการให้การดูแลเหยื่อ ทั้งหมดจะต้องครบถ้วน ตามข้อบังคับหรือกติกาของประชาคมโลก

ผมเชื่อว่าประเทศไทยนั้นมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี เราทุกคนก็ต้องช่วยกันทำให้ทุกคนเป็นคนดี และลงโทษคนไม่ดี อย่างเป็นธรรมด้วยกระบวนยุติธรรม อย่างน้อยก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลานเราเห็น ประเทศไทยเราจะได้ก้าวหน้าพัฒนาต่อไป ลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ ประชาชนในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย

เรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ทุกคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยยังคงพึ่งพาการหารายได้จากภาคการส่งออกอยู่มาก การส่งออกบ้านเรานั้น ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปและเอเชีย เช่น จีน ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ผมได้รับรายงานสถานการณ์การส่งออกล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ว่าการส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยในเดือน เมษายน 2558 มูลค่าการส่งออกหากไม่นับรวมในส่วนของน้ำมันและทองคำ พบว่า มีการขยายตัว เป็นบวกที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในปี 2558 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 จากจำนวน 61 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ลดลง 1 อันดับ จากปี 2557 เนื่องจากผลการประเมินด้าน “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีการพิจารณาจากการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศเป็นหลัก เศรษฐกิจของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอยู่ เราต้องสร้างความเข้มแข็งสร้างนวัตกรรม แล้วดูแลธุรกิจ SMEs ให้ได้ SMEs อยู่ในภาคการส่งออก

การพิจารณาในด้านอื่น ๆ อาทิ การประเมินในด้าน “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” มีการปรับตัวดีขึ้น ทั้งในด้านการเงินภาครัฐ จากอันดับที่ 19 ในปี 2557 เป็นอันดับที่ 14 ด้านกรอบการบริหารภาครัฐ จาก อันดับที่ 39 เป็นอันดับที่ 34 และกรอบดำเนินการด้านสังคม จากอันดับที่ 55 เป็นอันดับที่ 45 รวมไปถึง การประเมินด้าน“โครงสร้างพื้นฐาน” ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากอันดับที่ 48 เป็นอันดับที่ 46 คิดว่าน่าจะดีขึ้นต่อไป เพราะว่าเราก็มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมากพอสมควร แต่เป็นระยะยาว

ภาครัฐก็จะพยายามอย่างเต็มที่ ในการที่จะพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ทั้งในเรื่องของโลจิสติกส์ การขนส่งคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค แล้วก็การเปิดตลาดใหม่หาช่องทางการจัดจำหน่าย ขับเคลื่อนประเทศในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องดำเนินไปควบคู่กันกับการพัฒนาของผู้ประกอบการในประเทศด้วย ผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับในเรื่องของคุณภาพสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ แล้วก็ให้ความร่วมมือกับรัฐ ในการปฏิบัติตามนโยบายในเรื่องของการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เช่น พี่จูงน้อง เพื่อนจูงเพื่อนอะไรก็แล้วแต่ ดูแลผู้ค้ารายย่อย ดูแลเกษตรกรภาคการผลิตนำไปสู่กระบวนการเพื่อจะแปรรูปแล้วนำขาย เพื่อให้ราคาสูงขึ้นต้องเอาประชาชน เกษตรกรมาอยู่ในห่วงโซ่ตรงนี้ด้วย เพราะจะทำให้เกิดกระบวนการต่าง ๆ ขึ้นมาแล้วก็จะดูแลซึ่งกันและกันจะได้ไม่ไปพึ่งธุรกิจสีเทา ค้าขายผิดกฎหมาย หรือที่ทำในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขายของผิดที่หรือกิจการใด ๆ ที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ที่ผ่านมาเหล่านี้ ทำให้เกิดเงินจำนวนมากในระดับล่างที่ประชาชนมีการใช้จ่าย

วันนี้เมื่อตรงนี้หายไป เงินตรงนี้หายไปเป็นจำนวนมากพอสมควร คนเดือดร้อนแน่นอนคนที่เคยใช้จากตรงนี้ ที่เป็นห่วงโซ่ แล้วเราจะยอมให้ห่วงโซ่เหล่านี้เกิดขึ้นไปอีกหรือไม่ ทำให้เกิดความเป็นธรรมหรือไม่กับการที่ทำผิดกฎหมายแล้วคนกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์ แต่ที่เหลือไม่ได้เกิดความขัดแย้งแล้วก็ทำให้เสื่อมเสียต่อประเทศโดยรวม ชื่อเสียงประเทศก็เสียหาย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ไม่มี คนมาท่องเที่ยวก็ไม่เกิด ไม่ชื่นชม

วันนี้การท่องเที่ยวมากเหลือเกิน จากการที่รัฐบาลได้ปรับนโยบายในเรื่องของการท่องเที่ยวหลาย ๆ Cluster แล้วก็มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วยและมีการจัดการท่องเที่ยวทั้งปี มีหลาย ๆ Sector ด้วยกัน วันนี้เราจะต้องมีการพัฒนาทุกอย่างให้เกิดเป็นกระบวนการให้ได้ ทุกอย่างที่มีการผลิตนั้นจะต้องรองรับทั้ง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนในการผลิต แล้วก็ห่วงโซ่คุณค่า Value Chain ที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ

ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันเช่นนี้ ผมว่า เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืน อย่าไปฟังบางคนออกมาพูดโน่นพูดนี่ทุกวันไปทั้ง ๆ ที่ก็เคยเป็นรัฐบาลมาแล้ว แต่วันนี้ไม่เข้าใจอีกก็แสดงว่าความรู้พื้นฐานไม่มีก็มาตำหนิติเตือนเรื่องโน้นเรื่องนี้มาโทษรัฐบาลนี้ ความเข้มแข็งไม่เกิด ไม่มี ไม่สร้างห่วงโซ่กันไว้ ช่องว่างคนรวยคนจนก็ห่างกันมาก คนจนก็ยิ่งจนลง คนรวยก็รวยขึ้นไป การทุจริตผิดกฎหมายก็มี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องแก้ไขทั้งหมด แล้วเราในระหว่างนี้ก็อาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ คือเศรษฐกิจอาจจะเงินหมุนเวียนหายไป ขาดไป รัฐบาลก็ไม่สามารถจะนำเงินไปให้ได้

นอกจากสร้างความเข้มแข็งแล้วทุกคนก็เข้ามาสู่ในห่วงโซ่ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน คนรวยช่วยคนจน ก็จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้อย่ามาคอยตำหนิติติง ทุกคนต้องรักชาติ รักประเทศ วิธีการในการแก้ปัญหาเราก็ฟังจากทุกที่ ทุกพวกทุกฝ่าย ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ด้วย ทั้งจากประชาชน ทั้งจากนักวิชาการผมคิดว่าเราทำหมดแล้ว ปัญหาก็คือเราควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้แล้วก็ปัจจัยภายในของเราก็ยังไม่พร้อมเพียงพอต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ถ้าราคาสินค้าสูงขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็โอเคไม่เป็นไร ค่าแรงก็สูงตามไปให้ได้ แต่ถ้าราคาสินค้าลดลงไปเรื่อย ๆ แล้วค่าแรงยังสูงอยู่ หรือจะสูงต่อไปอีก จะทำอย่างไร ก็ยิ่งขายไม่ได้กว่าเดิม ใช่ไหม ต้นทุนผลิตแล้วแพงกว่าปกติ แพงกว่าเพื่อนบ้าน 2 อย่างบวกเข้าไป ต้นทุนการผลิต แพง ปลูกข้าวก็แพง 2 ก็คือต้องไปบวกกับค่าแรง

ถ้าสมมติเป็นใช้แรงงานโรงงานต่าง ๆ ก็ค่าแรงบวกเข้าไปอีก ต้นทุนก็แพงค่าแรงก็แพง ราคาขายก็ตกแล้วจะทำอย่างไร ต้องมามองกันทั้งระบบ อย่าไปมองทางใดทางหนึ่งแล้วก็แก้ปัญหาผิดวิธีมาตลอด บิดเบือนราคา บิดเบือนระบบการเงินการคลังของประเทศ ไม่ได้ อย่ามองข้ามความสำคัญของความคิดเห็นอื่น ๆ ของโลก เช่น GNH index หรือดัชนีความสุข อันนี้ก็เป็นตัวกำหนดเหมือนกันว่าในโลกนี้ความสุขจะอยู่ที่ไหนกัน ประเทศไหนมีความสุขมาก ความสุขน้อย

ประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีความสุขมาก ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีสตางค์มากนัก เรายังยากจนอยู่ เราต้องอยู่ด้วยความพอเพียงลูกหลานก็อย่ารบกวนพ่อแม่มากนัก ต้องมีสติของตัวเองว่า เรามีแค่นี้ พ่อแม่เราลำบากไป พ่อแม่เราเป็นเกษตรกร พ่อแม่เรามีรายได้จากรับจ้าง เราก็อย่าไปใช้ของแพง พ่อแม่ให้เราเรียนหนังสือ อันนี้ถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติที่ให้กับเราแล้ว เป็นมรดกของพ่อแม่เราแล้ว อย่าไปหวังว่าจะต้องรอได้รับเงินโน้นเงินนี้พ่อแม่จะต้องมีของยกให้ วันหน้าต่อไป ทุกคนก็เลยไปขวนขวายหาเงินหาทองกันหมดเพื่อจะดูแลลูกหลาน

เราต้องย้อนกลับไปดูว่าสมัยที่ผ่านมานี่ เราทุกคนผู้ใหญ่วันนี้ก็ลำบากมาทั้งสิ้นกว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กว่าจะร่ำรวยขนาดนี้ก็เสี่ยงหลาย ๆ อย่างมา มีมาตรการต่าง ๆ ที่จะปรับตัวให้ตามกับกระแสโลกมาก็มีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากมายไป แต่วันนี้เมื่อสำเร็จแล้วเราก็ต้องดูแลคนข้างหลัง เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักการของผม ก็คือประชาชนทุกคน มีสิทธิ์ มีเสียง ในประเทศไทย แต่ต้องหาช่องทางที่ถูกต้องว่าจะพูดกันอย่างไร

เรื่องของพลังงานไฟฟ้า อันนี้เป็นเป็นประเด็นสำคัญเป็นประเด็นของพลังงานที่เรากำลังมีปัญหาอยู่ขณะนี้ สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้ มีความขัดแย้งมากแต่ผมอยากจะเรียนว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินนั้น เป็นโรงไฟฟ้าที่ถูกที่สุดในการลงทุน ในเรื่องของวัสดุที่จะใช้ คือถ่านหิน เพียงแต่ว่าเราต้องหาเทคโนโลยีโรงงานที่ทันสมัย ที่ขจัดสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แล้วดูแลเยียวยาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ทำให้ดิน ให้น้ำเสียหาย การปลูกพืช การอุปโภคบริโภคก็แล้วแต่

วันนี้เขาทำได้แล้วเทคโนโลยีสมัยปัจจุบัน ผมอยากให้ดูตัวอย่าง วันก่อนผมเห็นในทีวีช่องหนึ่งนำโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศลาวเพิ่งสร้างเสร็จ คนไทยด้วยซ้ำที่ไปสร้าง ก็เริ่มมีการผลิตแล้ว แล้วก็ตามข้อตกลงเขาต้องขายพลังงานไฟฟ้าส่วนนี้กลับมาประเทศไทยได้อีก นี่ไงครับ เราก็จำเป็นต้องซื้อเขาเพราะว่าแหล่งผลิตในประเทศไทยลดลง ๆ ไปเรื่อย ๆ พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนก็ยังไม่ทันการต้องตามต่อไปด้วย สายส่งเข้าไปอีก การลงทุนสายส่งเป็นหมื่น ๆ ล้าน เป็นแสนล้านในการที่จะเดินสายส่งในแต่ละเส้น แต่ละช่วง ไม่ใช่ง่าย ๆ วันนี้ที่มีสายส่ง วันนี้กี่ 10 ปีมาแล้วละก็ได้แค่นี้ ยังไปไม่ทั่วถึง ถ้าทุกคนหวังว่าจะขายเข้าระบบสายส่งยังเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด แล้วก็การผลิตแบตเตอรี่อะไรต่าง ๆ ในเรื่องของการเก็บพลังงานไฟฟ้าจากทดแทนเรา ก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอต้องซื้อทั้งหมด ต้นทุนการผลิตก็แพงก็สูง การขจัดวัสดุที่ใช้แล้ว จากแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุแล้วอะไรเหล่านี้เป็นขยะทางอิเล็กทรอนิกส์ มีอันตราย

วันนี้รัฐบาลก็ออกกฎหมาย ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่า ใครที่จะมาลงทุนกับเราก็ต้องมีแผนในเรื่องของการกำจัดขยะเหล่านี้ให้เราด้วย ก็จะให้มีสิทธิประโยชน์อะไรต่าง ๆ ในการลงทุน BOI อะไรก็แล้วแต่ วันนี้ถ้าเรายังคิดไม่ตรงกันอยู่ คือคิดแต่เพียงว่าเราก็จะต้องรักษาทุกอย่างให้เหมือนเดิม ประชาชนทุกคนก็มีส่วนที่จะต้องกำหนดการใช้จ่ายทรัพยากรทั้งหมดแต่อย่าลืมว่า เราต้องดูแลประเทศชาติกันด้วย ถ้าไม่ได้ก็ดูว่าจะไปทำได้ที่ไหนถ้าทุกที่ปฏิเสธกันหมด ทำไม่ได้ผลิตไม่ได้ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซื้อใครก็ไม่อยากให้ซื้อก็ซื้อไม่ได้อีก

วันข้างหน้าด้านความมั่นคงมีปัญหากัน เขาไม่ส่งแก๊ส ไม่ส่งไฟฟ้าจะทำอย่างไรไปช่วยผมคิดด้วย การคัดค้านอะไรผมไม่ว่า เพียงแต่ว่าต้องฟังเหตุฟัง ฟังผลหน่อย ถ้าเราเข้มแข็งเพียงพอแล้ว เราผลิตทุอย่างได้เองแล้ว ผมคิดว่าเราค่อยจะเป็นเสียงที่ดังพอ ที่คนอื่นเขาฟังเรา วันนี้เขาไม่ฟังเรา เพราะเรายังไม่เข้มแข็งพอ แล้วเราก็ยังมีความขัดแย้งสูงในสังคมไทยในปัจจุบัน ลดลงมาบ้างแต่ก็ยังไม่ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ปัจจัยสำคัญของประเทศ ก็คือพลังงานไฟฟ้าจะมาจากไหนก็ไปคุยกันต่อแล้วกัน ใช้ในการอุปโภค บริโภคแล้วก็เกิดการผลิต การอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ใช่ไฟฟ้าแล้วไปใช้ ไม่ใช่ ก็ต้องไปต่อโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจ SMEs อะไรก็แล้วแต่ วันนี้เราใช้น้ำมันกับแก๊สผลิตไฟฟ้าถึง 70% ถ้าเรายังไม่ลดตรงนี้ไป โดยไม่ใช้วัสดุอื่น ๆ มาเป็นต้นทุนในการที่จะเกิดพลังงานขึ้นมา เช่น ถ่านหินหรืออะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้ถ่านหินก็ราคาถูกที่สุด เพราะฉะนั้นวันหน้าถ้ายังต้องซื้อเขา แล้ววันหน้าหรือยังต้องใช้แก๊สน้ำมัน เพราะราคาขึ้นมาอีก ค่าไฟฟ้าขึ้นแน่นอน ท่านเรียกร้องใครไม่ได้แล้ว เพราะผมพูดด้วยเหตุด้วยผลให้ท่านฟัง อยากให้ประชาชนช่วยกันหาจุดสมดุล แล้วก็เชื่อมั่นในเทคโนโลยีและรัฐบาลก็จะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด หลายประเทศในโลก เกือบทุกประเทศก็ยังมีใช้ทั้งหมดเพียงแต่ว่าของเก่าก็เปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีใหม่ เครื่องจักรใหม่ก็ดีขึ้น

เรื่องการปฏิรูปประเทศ นั้น ผมอยากจะเรียนว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลายท่านมีความตั้งใจที่ดีมีเจตนารมณ์ที่ดี อยากจะทำโน่นทำนี่ให้เสร็จในเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่ผมยังอยู่แล้วก็ใช้อำนาจผมที่มีอำนาจมาตรา 44 ในวันนี้ จริง ๆ แล้ว ผมอยากจะเรียนว่ามีหลายกิจกรรมในแต่ละเรื่องในการปฏิรูป มีหลายเรื่องด้วยกัน สิ่งสำคัญต้องนึกถึงว่าในการบริหารราชการปัจจุบัน การปฏิบัติงานในปัจจุบัน ประสิทธิภาพในปัจจุบัน แล้วเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์จะทำอย่างไรที่จะต้องแก้ปัญหาที่ผมพูดมาทั้งหมดมาเมื่อสักครู่ต้องใช้คนเหล่านี้ทำก่อน ทำให้มีประสิทธิภาพ Grouping ใช้บูรณาการ ใช้มาตรา 44 ทั้งหมดเพื่อให้เกิดงานขึ้นโดยเร็วอย่างที่ท่านต้องการ ในการปรับโครงสร้างทั้งหมด ถ้าท่านรื้อทั้งหมดทีเดียวก็ทำงานไม่ได้ ในขณะนี้ผมคิดว่าการที่จะรื้อใหญ่ ๆ ไปตรงโน้น แต่ท่านก็ต้องจัดระเบียบว่าตรงนี้ท่านจะทำอะไรตรงไหน

การปฏิรูปมีอยู่ 3 ระยะด้วยกัน ผมเคยบอกไปแล้ว ระยะที่ 1 2 3 ของ คสช. กับรัฐบาล 1 2 คือ คสช. กับรัฐบาล พอ 3 ของผมจะส่งไปโน้น ไปรัฐบาลใหม่ ก็จะเขียนไป 1- 2- 3 1 อาจจะ 4 ปี 5 ปีอะไรก็แล้วแต่ 555 แล้ว 1-2-3 เขาก็ไปตรงโน้น เรื่องของโครงสร้างอะไรต่าง ๆ ถ้าผมทำได้ก็จะทำ เช่น ตำรวจ ก็ต้องแยกมาเรื่องการสอบสวนจะทำอย่างไร ทดลองดูก่อนไหม จะทำได้ไหม ว่าจะอยู่ตรงไหนกันบ้าง มาจากไหน ใครจะทำ ในเรื่องคดีความจะทำอย่างไร ตำรวจท้องที่ ตำรวจส่วนกลางทำอย่างไร เอาทุกอย่างมาคลี่ออกมาทีละอัน ๆ แล้วส่วนหนึ่งก็ทำไปคู่ขนานกัน อีกส่วนก็ต้องปฏิบัติราชการต่อไป แก้ปัญหาให้ผม ทำงาน

เพราะวันนี้ปัญญามากมาย ก็ต้องรื้อ ต้องใช้คน ใช้ตำรวจ วันนี้ก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันนี้คือผมปฏิรูปแล้วในระยะแรก วางพื้นฐาน ลดขั้นตอน ให้การบริการประชาชน และได้รับความเชื่อถือจากสังคม จากประชาชน ไม่อย่างนั้นที่ผ่านมาตำรวจก็ถูกตำหนิติเตือนไปมากมาย อยู่ที่ว่าเราจะไปหาเขาอย่างไร ให้ความเป็นธรรมเขาอย่างไร

วันนี้การแต่งตั้งข้าราชการ ตำรวจก็ดีขึ้น ผมก็กำลังดูอยู่ว่าเรื่องของการที่จะตั้งสภามาแต่งตั้งข้าราชการระดับกระทรวง เป็นไปได้ไหม ผมก็อยากใช้แนวทางในส่วนของทหาร ไม่ใช่ว่าทหารจะดื้อดึงขัดขืนใครได้ ไม่ใช่ ที่ผ่านมารัฐมนตรีก็มีส่วนเกี่ยวข้องตรงนี้ อย่างกองทัพก็จะมี พ.ร.บ.ทหาร พ.ร.บ.กลาโหม เพียงแต่ว่าทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมเขาเสนอคนของเขาขึ้นมาเข้าที่ประชุม เกิน 2 ใน 3 ถ้าตกลงกันได้ ทุกคนเอาขึ้นมาตามแท่งของตัวเอง แล้วก็ไม่มีใครขัดแย้ง ก็อนุมัติมาตามนั้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้า เป็นประธานกรรมการตรงนี้ นั้นเขาเสนอมาตามแท่งของเขา ท่านจะแก้ จะปรับไปตามความเหมาะสมก็ทักท้วงกันในนั้น ถ้าเห็นด้วยก็ตั้งเลย ไม่เห็นด้วยก็ประชุมใหม่ ไปหามาใหม่หรือเสนอคนใหม่เข้ามา 2 ใน 3 ก็ผ่านอีก นั้นแหละเป็นอย่างนั้น

ผมอยากให้ข้าราชการทั้ง ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน อยากให้เป็นอย่างนี้ ตอนนี้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ต.ร.) คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) แต่ทำอย่างที่ทหารทำหรือเปล่า จะได้คนมาที่โตมาในแท่งของเขา ในพื้นที่ของเขา แล้วนายเขาเป็นคนเลือกของเขามา ถ้านายเขาเลือกมาก็จะเป็นไปตามขั้นตอน เป็นไปตามอาวุโสบ้าง ตามความรู้ความสามารถบ้าง หรือจะเป็น Fast Track เพื่ออนาคตบ้าง ต้องมีคนทั้ง 3 อย่าง สัดส่วนที่เหมาะสมอยู่ตรงนั้น เมื่อขึ้นมาแล้ว สมมติว่าเป็นกระทรวง ก็จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นเป็นประธานคณะกรรมการ และในส่วนของอธิบดี รองปลัดกระทรวง รองปลัด อธิบดี ก็อยู่ในท่ามกลางตรงนั้นจะเป็นข้อสรุปออกมาแล้ว แล้วส่งมาอาจจะมีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) หรือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ทำอยู่ตอนนี้ เข้าไปเป็นเลขานุการคณะนี้ก็ได้ ผมเสนอแนวคิดไปเฉย ๆ ก็จะเกิดความเป็นธรรมชัดเจนขึ้น

ตำรวจก็เหมือนกัน ถ้าตั้งขึ้นมาอย่างนี้ก็เป็นสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน ไม่ใช่พวกใคร ขึ้นมาด้วยความชอบธรรม นายตัวเองต้องรู้ว่าลูกน้องตัวเองดีหรือไม่ดี จะได้ไม่ข้ามไปข้ามมา วิ่งเต้นกันมากมายไปหมด ทหารวิ่งเต้นอย่างนี้ไม่ได้ เสียเงินก็ไม่มี เพราะฉะนั้นต้องเป็นไปตามนี้ถึงเคารพได้ ถึงทำงานได้ ไม่อย่างนั้นใครขึ้นมาก็ครอบได้หมดทุกอัน ทั้งข้าราชการ ทั้งตำรวจก็เป็นแบบเดิมอีก ไปแก้แบบนี้ ถ้าตั้งใครมาสักกลุ่มหนึ่ง และมีอำนาจตั้งทุกคน ท่านจะรู้ไหมว่าแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานเขามีใคร เขาทำงานกันมาอย่างไรรู้ไหม ผมให้เป็นข้อเสนอแนะเท่านั้น แต่ถ้าท่านจะเอาอย่างนั้นก็ตามใจแล้วแต่ท่าน

เพราะฉะนั้น ในส่วนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องมีความละเอียด ใช้กฎหมาย ใช้อาวุธเหล่านี้ ต้องมีมาตรการที่เพียงพอ แล้วก็ให้อิสระในการทำงานพอสมควรกับเขา แต่อยู่ภายใต้กฎหมาย ภายใต้กระบวนการยุติธรรมให้เกิดความชัดเจน รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในการสั่งงาน ในการอะไรก็แล้วแต่ ผิดถูกก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นคนสั่งให้เขาทำ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้

ผมสรุปแล้วว่าปัญหาใหญ่ ๆ เรื่องใหญ่ ๆ นั้น ที่ยังค้างอยู่ในระยะที่ 2 ของผม ผมจะส่งระยะที่ 3 ของผม คืนรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ก็ไปกำหนด 1-2-3 ทำเอาก็แล้วกัน คงเข้าใจตามนี้ หรือถ้าหากว่าทุกคนเกรงว่าจะไม่ทำ สภาปฏิรูปกำหนดไว้ ก็อาจจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้ไหม หรือกฎหมายลูก หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมไม่มีความรู้ทางกฎหมายมากนัก แต่ท่านไปทำให้เขาทำได้ก็แล้วกัน ว่าทำอย่างไร กลไกเหล่านี้จะทำต่อ ทำอย่างไรรัฐบาลถึงจะทำได้ ถ้าไม่ยอมกันอยู่แบบนี้ ก็เดินหน้าไม่ได้ วันนี้เราทำทุกอย่างตามขั้นตอนทั้งหมด ตามโรดแมปทั้งหมด โรดแมปที่ว่าก็คือ มีรัฐธรรมนูญ วันนี้ขอให้มีประชามติ ผมก็ให้ทำประชามติได้ พอประชามติแล้วก็มีการเลือกตั้ง แต่ท่านไม่เคยมีใครถามผมเลยว่า ถ้าเลือกตั้ง ก่อนเลือกตั้งเกิดความวุ่นวาย ทุกคนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญกันอีก จะทำอย่างไร มีมาตรการอะไรหรือไม่ 2. ก็คือเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลปกครองไม่ได้ขึ้นมาอีก อีกพวกก็ต่อต้านจะทำอย่างไร ผมห่วงตรงนั้นมากกว่า ผมไม่ห่วงรัฐธรรมนูญ ไม่ห่วงอย่างอื่นเท่าไหร่ ห่วงตรงนี้ คสช. จะรับผิดชอบตรงนี้ด้วย รัฐบาลก็จะดูสถานการณ์ตรงนี้ด้วย แต่ทุกอย่างผมยืนยันว่า ทุกอย่างผมทำตามโรดแมป เว้นแต่มีใครทำให้โรดแมปของผมเปลี่ยนแปลง

รัฐธรรมนูญวันนี้ ผมบอกว่าจะต้องไม่เป็นรัฐธรรมนูญของความขัดแย้งในอนาคต ผมฟังจากผู้บรรยายทั้งหมดที่มาจากเยอรมัน ฝรั่งเศส ก็ได้บรรยายถึงความเป็นไปเป็นมาของรัฐธรรมนูญประเทศเขา ว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็บอกว่าเป็นกฎหมายที่น่าจะไม่ต้องมีการตีความมากนัก คนไทย รัฐบาล ฝ่ายค้าน เราก็ต้องใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในทางที่ถูก เราต้องเป็นคนที่เจริญแล้ว ไม่นำกฎหมาย ไม่นำรัฐธรรมนูญมาทะเลาะเบาะแว้งกันอีก นักการเมืองเขาต้องมีธรรมาภิบาล เรามีประสบการณ์มากมาย รัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีหลายฉบับ แก้ไปแก้มาก็จะกลับไปที่เดิมอีกแล้ว ทุกคนก็ต้องการของเดิม คนนั้นก็ว่าดี คนนี้ก็ว่าไม่ดี พรรคการเมืองโน้น พรรคการเมืองนี้ นักการเมือง ผมถามว่า ถามประชาชนเขาหรือยังว่า เขาต้องการอะไร เขาต้องการให้บ้านเมืองดีขึ้นกว่าเดิม หรือต้องการให้บ้านเมืองแย่กว่าเดิม อันนี้เป็นความรับผิดชอบของนักการเมืองต่อไปด้วย ผมก็พยายามทำเต็มที่แล้ว

รัฐธรรมนูญใหม่นั้น ก็น่าจะต้องสร้างความสมดุลระหว่าง 3 อำนาจให้ได้ และมีประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ 3 อำนาจดังกล่าว โดยประชาชนจะต้องเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาบอกว่าประชาชนต้องเป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ มีอำนาจโน้น ไม่ใช่ ประชาชนไม่ใช่เป็นกลุ่มอำนาจที่ 4 มี 3 อำนาจ คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ประชาชนนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจ 3 อำนาจผ่านการเลือกผู้แทนของท่าน นั้นแหละคืออำนาจของท่านอยู่แล้ว ท่านเลือกคนเข้ามา ท่านเลือกไม่ดี นั้นแหละท่านใช้อำนาจในทางที่ผิด ถ้าท่านเลือกดี เขาก็ดูแลท่านดี บ้านเมืองก็เจริญไปข้างหน้า นั้นคือการใช้อำนาจตามหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

อีกอันหนึ่งก็คือการลงประชามติ ถ้าทำอะไรกันลงประชามติเห็นชอบไม่เห็นชอบก็แล้วแต่ เขามีสิทธิให้ท่านไปลงประชามติของประชาชนได้อีกทีหนึ่ง โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดออกมา ที่ผ่านมาตีกันไปตีกันมา พันกันไปหมด แล้วประชาชนก็ถูกปลุกระดม กลายเป็นว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องเหนือกว่าทุกคน เหนือกว่ารัฐบาล เหนือกว่าเจ้าหน้าที่ ก็ตีกันอยู่แบบนี้

เพราะฉะนั้นต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า ท่านใช้อำนาจของท่าน ผ่านผู้แทนของท่าน ผ่านสภา อะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจ อย่าให้ใครเขามาบิดเบือนท่านอีก นักการเมืองที่ไม่ดี พรรคอะไรที่ไม่ดีก็แล้วแต่ อย่าไปมองเฉพาะในเรื่องนโยบายพรรคอย่างเดียว ต้องมองว่านโยบายของพรรคการเมืองเหล่านั้น วางยุทธศาสตร์ของชาติไว้อย่างไร จะเดินหน้า 5 ปี 10 ปี อย่างไร ใครเข้ามาตรงนี้ก็ต้องทำต่อ ในส่วนของพรรคก็ว่ากันไป จะสร้างคะแนนนิยมอะไรกันตรงไหนก็ว่ากันไป แต่ประเทศชาติต้องไม่เสียหาย และเดินไปข้างหน้าได้ ทุกประเทศเขาเป็นอย่างนี้หมด เลิกทะเลาะกัน ไม่เอาประชาชนมาเป็นตัวประกันอยู่แล้ว เพราะเขาใช้ประชาชน ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านสภา ผู้แทนของเขา หรือลงประชามติ แล้วก็เสนอสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยผ่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของท่าน ที่ผ่านมาเขาทำหรือเปล่า ทำตอนนี้ไหม ถ้าไม่ทำก็ไปหาทางให้เขาทำวันหน้า

ในส่วนของรัฐบาล เมื่อเกิดเหตุการณ์ในประเทศต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง วันนี้ผมก็รับผิดชอบเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคมจิตวิทยา การต่างประเทศ ในเรื่องของกฎหมายทำทุกอย่าง จะปฏิเสธอันใดอันหนึ่งไม่ได้ หรือจะปฏิเสธประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลทุกรัฐบาล ผมอยากจะใช้คำว่าต้องดูแลคนวันนี้ และวันหน้าด้วย อย่างที่ผมเรียนไปแล้วเมื่อสักครู่ คนที่ไทยยังไม่เกิดมาอีกมากมายไปหมด นึกถึงเขาด้วย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้ ตามโรดแมปอะไรไปได้ก็ไป ไปตามนั้น ผมไม่เคยเป็นคนเลือกโรดแมป เพราะฉะนั้นโรดแมปจะถูกกำหนดโดยประชาชน โดยสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำประชามติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ทำได้ อะไรก็แล้วแต่ ผมไม่เคยไปขัดขวางอะไรทั้งสิ้น ผมอยากให้ประเทศชาติเดินหน้าด้วยความยั่งยืน ก็เป็นเรื่องของประชาชนก็แล้วกัน ช่วยกันแสดงความคิดเห็น แต่อย่าขัดแย้ง ทุกคนต้องยอมรับกัน เว้นแต่สถานการณ์ที่ไม่เรียบร้อยแล้วจะทำอย่างไร คอยบอกผมก็แล้วกัน ถ้าเลือกไม่ได้ เป็นรัฐบาลไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร หาทางออกมาให้ผม ผมใช้อำนาจอย่างเดียวก็ไม่ไหว ผมพยายามระมัดระวังอย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวังวันนี้คือการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน อาจจะใช้เวลาหลายปี ผมก็ไม่ได้หวังว่าผมจะเองทั้งหมด แล้วอยู่หลาย ๆ ปี ไม่ใช่ ก็เป็นเรื่องที่ผมจะต้องส่งต่อ ถ้าผมไม่มีโอกาส ผมก็ส่งรัฐบาลใหม่ที่ท่านเลือกมา ท่านใช้อำนาจประชาชนเลือกมา ไปทำมา ประชาชนเรียกร้องมาตลอด รัฐบาลก็เรียกร้องทุกรัฐบาล 2 รัฐบาลที่แล้วผมจำได้ เรียกร้องการปฏิรูป ปฏิรูปก่อน ปฏิรูปหลังอะไรก็แล้วแต่ ทำไม่ได้สักรัฐบาลหนึ่ง

วันนี้เราเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วจะหยุดไปที่เดิม แล้วกลับไปที่เก่ากันอีกหรือ ก็แล้วแต่ท่าน อำนาจอยู่ที่ท่าน อย่างนี้ ใช้ในทางที่ถูกต้องแล้วกัน เข้าช่องทางมา วันนี้หลายคนก็ไปทำงานอยู่แล้ว กมธ. สปช. สนช. ทุกคนหวังดีกับประเทศไทยทั้งนั้น แต่เพียงว่าเหมาะสมทางการอย่างไร จะเอาแค่ไหนกัน ต้องเป็นการทำข้อตกลงกับคนทั้งประเทศด้วย ไม่ใช่เอากลุ่มนี้มารบกับกลุ่มนี้ กลุ่มนี้เห็นด้วย กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วย แล้วก็ตีกันต่อไปในอนาคต แล้วจะทำไปทำไม จะปฏิรูปกันทำไม ผมจะมายืนตรงนี้ทำไม เข้าใจตรงนี้ด้วย ผมขอร้องแล้วกัน ขออีกครั้งหนึ่ง

เรื่องอื่น ๆ สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของ “เทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ” ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ได้รับการตอบรับจากประชาชนและผู้บริโภคเป็นอย่างดี ยอดจำหน่ายถึงวันที่ 26 พฤษภาคมนี้เกือบ 20 ล้านบาท แล้วต่อไปก็จะจัดเป็น “งานไม้ดอกไม้ประดับและปลาสวยงาม” จะจัดต่อระหว่างวันที่ 5 - 28 มิถุนายน ภายในงานก็จะจัดกิจกรรมการแสดงปลาสวยงาม และจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมือง มีการตกแต่งอะไรก็แล้วแต่ ทำให้มูลค่าของดอกไม้สูงขึ้น จัดตู้ปลาอะไรต่าง ๆ มีหมด เป็นสินค้าที่จะขายออกต่างประเทศได้เลย แล้วก็จะมีการจำหน่ายด้วย ให้ความรู้ด้วย การเลี้ยงปลา ดูแลต้นไม้ ปลาสวยงามที่วันนี้เป็นรายได้หลักของเกษตรกร บางส่วนเขาเปลี่ยนไปเลี้ยงปลากัดบ้าง ปลากัดไทย ปลากัดจีน ไปเลี้ยงปลาเงิน ปลาทอง อะไรทำนองนี้ ดอกไม้ก็นำมาจัดใส่พานใส่โหลแก้ว ให้งดงามเหมือนกันกับดอกไม้ของต่างประเทศ แต่เราเป็นแบบไทย ๆ ไปดูแล้วกัน มีการบรรยาย มีการสาธิตทุกเรื่อง มีวิทยากรมืออาชีพ มีคำแนะนำการปลูกและดูแลรักษาจากนักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการ มีการให้คำแนะนำและมีแบบแปลนการจัดสวนต่าง ๆ มีนักจัดสวนมืออาชีพมาด้วย

ระหว่างวันที่ 25 - 31 พฤษภาคมนี้ ยังมีอีกงานที่จัดขึ้นในขณะนี้คือ “OTOP วิถีไทยจากร้อยสู่ล้าน” ที่ อิมแพ็คเมืองทองธานี อันนี้ก็เกี่ยวพันเรื่อง Value Chain ถ้าอันนี้เกิดขึ้นได้เราก็ต้องไปดูว่าการผลิตเขาเป็นอย่างไร ประชาชนผลิตได้ไหม ที่ผ่านมาทำดีหมด คนสั่งซื้อ ผลิตไม่ได้ ผลิตไม่ทัน เพราะว่าไม่พร้อม แต่ทำเป็นชิ้น ๆ ได้สวย พอทำเป็น 100 อัน 1,000 อันทำไม่ได้ นี่ต้องไปส่งเสริมข้างล่างภาคการผลิต ทำอย่างไร เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ ควรมีไหม จะตั้งสหกรณ์กันอย่างไร ไม่ใช่เอาของมา ใครทำดีเอามาขาย แล้วเวลาที่เราต้องการสั่งซื้อจากต่างประเทศไม่ใช่หรือ ขายคนไทยอย่าขายเลยพอเพียง ต้องขายต่างประเทศ พอเขาสั่งมา 10 ชิ้นได้ 100 ชิ้นเริ่มไม่ได้แล้ว 1,000 ยิ่งไม่ได้ใหญ่ นี่ก็คือความล้มเหลวของ OTOP เหมือนกัน ผมว่าต้องไปดูตั้งแต่กระบวนการผลิต ให้สอดคล้องกับ Supply ด้วย Demand Supply ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่ใช่เขาไม่ต้องการอะไรก็ผลิตอยู่นั้น จะไปขายให้ใคร เลิกไปทำอย่างอื่น แล้วก็ไปสู่การเป็นธุรกิจ SMEs ใช้แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงรับสั่งไว้แล้วเรื่องความพอเพียง ทำอย่างไรก็แล้วแต่ถ้าไม่ต้องใช้จ่ายเงินได้ก็ดี พอกิน พออยู่ ถ้าเหลือก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน ถ้าเหลือมากกว่านั้นก็ขาย แลกเปลี่ยน ต่อจากนั้นก็ตั้งธุรกิจขึ้นมา จัดทำร้านค้า เปิดเป็นบริษัท ก็พัฒนาในนั้น และต้องมีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ด้วย ต้องรับฟังด้วย หลาย ๆ กระทรวงเขาออกมาแล้ว ใน What App ในโทรศัพท์ เรื่องการเกษตร ราคาสินค้า การเพาะปลูกพืช การใช้น้ำ มีหมด ไปเปิดดู

วันพุธที่ผ่านมา ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่และนักกีฬาที่เตรียมเดินทางไปร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 28 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5 – 16 มิถุนายน 2558 ผมในนามของรัฐบาลและพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีและชื่นชมนักกีฬาที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ ทั้งนี้รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและดูแลอย่างเต็มที่ ขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาทุกคนในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้เต็มความสามารถของตนเอง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เคารพกฎกติกา และให้ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่าท่านเป็นตัวแทนของคนไทย และประเทศไทยในการที่จะสร้างภาพลักษณ์ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนไทย เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนบ้านในอาเซียน ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

วันนี้กีฬาก็ต้องแข่งขันกันด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา แข่งขันกันด้วยร่างกาย จิตใจ สามัญสำนึก และความรักชาติ ทั้งนี้ก็จะต้องคำนึงถึงประชาคมอาเซียนด้วยกันด้วย เราขัดแย้งกันไม่ได้อีกแล้ว ผมเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศพร้อมจะเป็นกำลังใจให้นักกีฬาทุกท่าน ขอให้ท่านทำให้ดีที่สุด จะแพ้ชนะก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเตรียมการไป ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาพัฒนาใหม่ ผมยืนยันว่าเราจะต้องพัฒนาการกีฬาให้ดีขึ้นในอนาคตให้ได้ ขอให้ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เพื่อจะนำชื่อเสียงและชัยชนะมาสู่ประเทศไทย ถ้าไม่ได้เอาเพื่อนกับมา นั้นสำคัญที่สุด พ่อแม่ภูมิใจ และพัฒนาตนเอง เรียนรู้ใหม่ ไม่มีใครบังคับได้นอกจากตัวเราเอง

เรื่องกีฬาก็ไม่ต้องกลัว ผมก็ขอโทษ รบกวนเวลาท่านพอสมควร วันไหนมีกีฬาผมก็จะเลื่อนให้แล้วกัน พูดให้สั้น ๆ ลง ตอนนี้ก็ปรับเรื่องการออกอากาศไปแล้ว ในวันศุกร์ผมพูดคนเดียวแล้วกัน แค่สักครึ่งชั่วโมงเล็กน้อยทำนองนี้ ในส่วนของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก็ไปออกอากาศตอนเย็นวันธรรมดาเวลา 18.00 น. แล้วกัน ไม่เกินครึ่งชั่วโมง 20 – 30 นาที เขาเรียกว่าเผื่อแผ่แบ่งปัน ฟังผมบ้าง ตอนนี้ “ป้าแย้ม” ก็ไม่อยู่แล้ว ก็รอป้าคนใหม่แล้วกัน แต่ผมยังอยู่ ขอเวลาพบกับท่านไปก่อนแล้วกัน สวัสดีครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

----------------------------

                                                                                                     ที่มา : http://www.thaigov.go.th/