พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2558

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2558

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,113 view
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2558 เวลา 20.20 น.

สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน

ในห้วงฤดูนี้ อาจจะมีพายุฤดูร้อน ลมกระโชก อาจจะสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน เสาไฟ ป้ายโฆษณา ที่ไม่มั่นคง ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันระมัดระวัง ตรวจสอบ เฝ้าระวังและระมัดระวังเด็กเล็กที่ไปอยู่ใต้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะพังทลายลงมาได้ ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแลตรวจสอบเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าวแล้ว จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาต่าง ๆ ใครเป็นเจ้าของไปตรวจดูด้วย รวมทั้งในเรื่องโรคที่มากับอากาศร้อน เช่น โรคท้องร่วง ลมแดด โรคกลัวน้ำหรือพิษสุนัขบ้า ได้ให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข ลงพื้นที่ ให้ความรู้ รณรงค์ป้องกันภัยแต่เนิ่นๆ เรื่องสุนัขก็เหมือนกันต้องระวัง ทุกคนก็วันนี้นิยมเลี้ยงสุนัขกันมากขึ้น ไปฉีดยากันให้เรียบร้อย ระมัดระวังสังเกตอาการของสุนัขด้วย

สำหรับการลงไปเล่นน้ำคลายร้อน ตามแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ของเด็ก ๆ หรือทะเลก็ตาม ขอให้อยู่ในสายตาของผู้ปกครอง มีผู้ใหญ่คอยดูแลคอยแนะนำ และถ้าเขาแนะนำว่าไม่ปลอดภัยก็อย่าลงไป คำแนะนำของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในห้วงที่ผ่านมาก็มีจมน้ำ เสียชีวิตในทะเลด้วย นอกจากระมัดระวังตนเองแล้ว ก็ต้องดูแลผู้อื่นด้วย ต้องห่วงใยกัน ช่วยเหลือกันในยามนี้

ในเรื่องการดูแลประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงนั้น ต้องขอบคุณ สำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ในการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสาร สำหรับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและการพูด ซึ่งกว่า 1 แสนคน ทั่วประเทศของเราให้สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วีดิโอการสนทนาผ่านล่ามภาษามือ การรับ-ส่งข้อความ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น รวมทั้ง สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ และการบริการภาครัฐต่าง ๆ

อันนี้คือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวนั้นมีการติดตั้งตู้ แล้ว จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทย นับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ได้ริเริ่มโครงการสร้างสรรค์สังคม ส่งเสริมความเท่าเทียม ด้วยจัดให้มีบริการดังกล่าว ที่เต็มรูปแบบ จนได้รับการจัดอันดับจาก ACE (Australian Communication Exchange) ให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีบริการที่ทันสมัย และมีความก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่เรามุ่งเน้นการรับใช้สังคมเพื่อจะ “สร้างความเท่าเทียม” อันนี้ก็เป็น 1 ใน 11 นโยบายหลักของรัฐบาลให้ไปใช้บริการดู หากมีปัญหาใดที่ต้องการให้เพิ่มเติมก็เสนอกันมาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูและประเมินผลด้วย

ในเรื่องของการสร้างคนนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ ในการที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ 6 เดือนที่ผ่านมานั้น เราได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เรียกว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นอันดับต้น ๆ และก็พูดมาหลายครั้งแล้ว ว่าท่านจะต้อง “มีความรู้ มีอาชีพ และมีสุขภาพที่ดี” ไปด้วย รัฐบาลดำเนินการหลายอย่าง ด้านการศึกษา วันนี้ก็มีปัญหามากมาย ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารงานไปแล้ว และดูแลทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการปฏิรูปในระยะที่ 1 ให้ได้ด้วยเร็ว เพราะว่าระยะที่ 1 ควรจะต้องทำให้เสร็จภายในก่อนสิ้นปีนี้ ก็เหลืออีกไม่กี่เดือนแล้ว เพราะว่าปีหน้าเข้าสู่ AEC แล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษามีส่วนสำคัญในตรงนี้ การเตรียมแรงงานต่าง ๆ ที่มีฝีเมือง มีความรู้ความสามารถเข้าไป

ระบบเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน เราได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Super Board) เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา อันนี้จริง ๆ แล้ว ก็คือกระทรวงก็มีของกระทรวงอยู่แล้ว แต่ผมเห็นความสำคัญตรงนี้ ผมก็นำผู้ที่มีความรู้ในเชิงบริหารบ้าง ในทางศึกษาบ้างมาพูดคุยกัน และให้คำแนะนำไป ไม่ได้หมายความว่าผมจะไปสั่งได้ด้วยตนเองทั้งหมด ไม่ได้ การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ หรือบุคคลากรในกระทรวงศึกษาธิการต้องรู้ดีกว่าผมอยู่ แต่ผมจะขับเคลื่อนให้ เราจะต้องรีบยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำหรับการศึกษาผ่านระบบศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV หรือ “ครูตู้”) วันนี้มหาวิทยาลัยในแต่ละภาคของประเทศจะต้องผลิตบัณฑิต เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคของตนด้วย สำหรับครูตู้เราใช้ในระดับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนชายขอบ ขาดแคลนครู ต้องการความทันสมัยมากขึ้น เพราะว่ายากที่เราจะทำทุกโรงเรียนพร้อม ๆ กันไม่ได้ ต้องใช้ครูตู้แทนไป ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็ต้องผลิตบัณฑิตขึ้นมา ส่งเสริมเศรษฐกิจ เป็นแรงงานประเภทมีฝีมือ มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ไม่ใช่แรงงานที่ใช้แรงงานอย่างเดียว

วันนี้ได้สั่งการและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว นักเรียนอาชีวศึกษา มีการฝึกงานระบบทวิภาคีกับโรงงานต่าง ๆ จบมาแล้วทำงานได้เลย หรือเป็นที่ต้องการของโรงงานที่ไปฝึกงานอยู่แล้ว วันนี้เราต้องแก้ปัญหาง่าย ๆ ให้ได้เสียก่อน การเข้าถึง ความเป็นธรรม ลดความความเหลื่อมล้ำ ความทันสมัย และทันต่อความต้องการของตลาด อันนี้ต้องเร่งระยะที่ 1 ให้ได้ และเรื่องอื่น ๆ ต้องนำไปแก้กันอีกทีระยะยาว

สำหรับการส่งเสริมอาชีพรายได้มีงานทำนั้น วันนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานก็ได้มีการประสานงานร่วมกันหลายส่วน หลายหน่วยงานมากกว่านี้อีก ก็ได้มีการจัดหางานให้แก่ผู้ที่ต้องการมีงานทำไปแล้ว จำนวน 416,415 คน คิดเป็น 59.8% จากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ 696,000 คน นี่เป็นตัวเลขที่เราตั้งไว้ ต้องตั้งไว้ ถ้าไม่ตั้งตัวเลข ไม่ตั้งเวลา ก็ไม่เสร็จซะที และได้บรรจุเข้ารับงานประจำไปแล้ว จำนวน 224,587 คน และได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย” (Smart Job Center) จำนวน 7 ศูนย์ ที่แรงงานจังหวัด จังหวัดสงขลา (หาดใหญ่) นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และนครราชสีมา และจะขยายเครือข่ายไปอีก 3 จังหวัด คือ ระยอง นครปฐม และเชียงใหม่ ทั้งนี้ ในเรื่องของการคุ้มครองคนหางานทำในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 507,313 คน คิดเป็น 50.84 % จากเป้าหมาย 997,800 คน ตัวเลขยังห่างกันอยู่ครึ่งต่อครึ่ง เราจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ควบคุมผู้รับอนุญาตจัดหางาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 400 ราย  มีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การจัดตั้งกองทุนเปิดร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน วงเงิน 10,000 - 25,000 ล้านบาท เพื่อจะช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ SMEs ที่มีศักยภาพ เร่งรัดสู่พัฒนาคุณภาพ ยกระดับฝีมือแรงงานโดยเร็ว ทุกอันมีอยู่หมดแล้ว หลายๆศูนย์มีอยู่แล้ว การทำงานก็มีคนทำอยู่แล้ว แต่ต้องเร่งรัด ต้องบูรณาการ ต้องต่อยอดให้ได้ ไม่อย่างนั้น ไม่ทันต่อ AEC คนที่ว่างงาน คนที่จบปริญญา คนที่จบตรงนั้น ตรงนี้มาที่ตลาดต้องการ รู้สึกว่าจะ 7 อาชีพ ถ้ายังไม่มีงานทำมาต่อยอด

เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นการจัดตั้งหลักสูตรสั้นๆ โรงงานทำก็ได้ เอกชนทำก็ได้ รัฐทำก็ได้ กระทรวงแรงงานทำก็ได้ ถ้าช่วยกันจะได้เร็วขึ้น เราจะได้ขึ้นบัญชีคนเหล่านี้ไว้ เดี๋ยวปีหน้า AEC ต้องการมากขึ้น จะได้มีคนพร้อมป้อนให้ทันที วันนี้หลาย ๆ บริษัทที่มาตั้ง ที่มาลงทุนกับเราเขาก็ติดปัญหาเรื่องแรงงานฝีมือ และแรงงานที่ใช้แรงด้วย อันนั้นอาจจะต้องใช้แรงงานต่างด้าวบ้าง แต่ต้องขึ้นทะเบียน ต้องทำให้เร็ว รุ่นแรกใช้การต่อยอด รุ่นต่อไปก็ทำใหม่ให้ยั่งยืน ตรงความต้องการ

สำหรับเรื่องของประชาชนผู้มีรายได้น้อยนั้น วันนี้กำลังจัดทำร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ ให้ประชาชนสามารถนำทรัพย์สิน ที่มีมูลค่า มาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เพราะว่าปัญหาเดิมก็คือต้องมีหลักประกัน ถ้าใครมีหนี้มาก ก็กู้ไม่ได้ ผมอยากจะช่วยตรงนี้ ก็ต้องช่วยกัน อย่าให้หนี้สูญแล้วกัน

เพราะฉะนั้นผมก็บอกว่าถ้าหนี้เก่ามีอยู่แล้ว แต่มีสินค้าอยู่และยังขายไม่ออก ขายไม่ได้ ก็ประเมินมา และเป็นหลักประกันกู้ยืมเงินไป เป็นเงินด่วน ในเรื่องของ Nano-Finance นี้ด้วยประกอบกันวงเงิน ไม่เกิน 100,000 บาท/ราย ดอกเบี้ย ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี อย่างน้อยก็ให้แก้ปัญหาทางการเงินระยะนี้ไปก่อน ป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งสูงกว่านี้มากนัก ปัจจุบันได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ให้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4 ราย มีคนยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการฯ คือบริษัท  20 ราย  เพราะฉะนั้นคาดว่าจะเริ่มให้สินเชื่อได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 ให้ติดตาม ติดต่อมา สงสัยก็ถามมา อย่าไปบอกว่าไม่รู้จะไปที่ไหนอีก ผมพูดหลายครั้งแล้ว

โครงการตลาดนัดชุมชน วันนี้“ไทยช่วยไทยคนไทยยิ้มได้” หลายอย่าง ช่วยเหลือเกษตรกร OTOP ผมอยากให้เป็นเรื่องของเกษตรกรจริง ๆ อย่านำนายทุนเข้าไป ในบางครั้งเราเริ่มต้นเล็ก ๆ ทุกที เริ่มเล็ก ๆ ก็ดูดี ชาวบ้านมาต่าง ๆ ต่อไปก็อยากจะช่วยกัน ก็ไประดมกันมาคนนั้นคนนี้มาช่วย ขยายจนใหญ่โต ท้ายสุดก็เป็นเรื่องของนายทุนเข้ามาอีก ผมไม่อยากให้เกิดเหล่านี้ ทุกอย่างเราต้องช่วยคนที่มีรายได้น้อย ให้เป็นตลาดของเขา เขาซื้อ เขาใช้ เขาผลิต จะได้ประเมินได้ถูกว่า เราต้องผลิตสินค้าไปขายข้างนอกประเทศเท่าไหร่ ขายชายแดนเท่าไหร่ ขายในประเทศเท่าไหร่ ก็แยกระดับกันไป ให้ตามความสามารถของการมีรายได้ของแต่ละกลุ่มคน ได้มากก็ใช้มาก ได้น้อยก็ใช้น้อย ได้มากก็อยากจะห้องแอร์ก็ไปซื้อในห้างสรรพสินค้า อาหารอย่างเดียวกันถูกกว่า แต่ร้อนหน่อยก็ไปซื้อข้างนอก ที่ตลาดชุมชน น่าจะเป็นอย่างนั้น ถ้าจะบอกให้ทุกคนขายเท่ากันคงลำบาก เพราะเป็นธุรกิจ

ในส่วนของการช่วยเหลือเกษตรกร และ OTOP เหล่านั้น ก็เช่นเดียวกัน ก็ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งแล้ว 2,102 แห่ง มีผู้ร่วมจำหน่ายสินค้า 83,224 ราย ก็ขอให้อย่างที่ว่าอย่าให้เป็นเรื่องของนายทุนเข้ามาอีกเลย เป็นเรื่องของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ

เรื่องของที่ดิน ได้มอบเอกสารขอใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ระยะที่ 1 ก็คือ 53,697 ไร่ 4 จังหวัด ระยะที่ 2 เนื้อที่ 57,514 ไร่  8 จังหวัด และระยะที่ 3 ในปี 2559 เนื้อที่ 50,018 ไร่ อีก 17 จังหวัดที่เหลือก็จะรวมมีพื้นที่เป้าหมาย ในการจัดสรรทั้งหมดประมาณ 160,000 ไร่ อันนี้ก็ให้ทำกิน ไม่ให้ไปขายต่อ

​          สำหรับด้านการบริการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม การดูแลป่วย เจ็บ เกิด เด็ก คนชราต่าง ๆ สังคมวันหน้าจะเป็นสังคมของคนสูงอายุมากขึ้น และวันนี้เราก็ต้องดูแลในเรื่องของสิทธิรักษาพยาบาล เงินทุนต่าง ๆ บางอันก็ดีมีประกันสังคมต่าง ๆ มาเพิ่มเติม วันนี้ถ้าคนทั่วๆไป ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ได้มีกองทุนประกันสังคมช่วย อันนี้ต้องใช้งบประมาณรัฐทั้งสิ้น ซึ่งเฉลี่ยแล้วได้น้อย ถ้าเราจะต้องให้การดูแล เช่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก แรกเกิด – 1 ปี ปีเดียวในครัวเรือนยากจน รายได้น้อย ประมาณ 170,000 คน จำนวน 400 บาท/คน/เดือน หรือ 4,800 บาท/คน/ปี

การเพิ่มอัตราเบี้ยคนพิการ จากเดิม 500 เป็น 800 บาท/เดือน และโครงการทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) เพื่อจะเข้าถึงการบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ และผู้พิการ 35,877 คน นอกจากนั้นเรามีโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว อีกจะมีการมอบสมุดบันทึกประจำตัวผู้สูงอายุ จำนวน 200,000 เล่ม เพื่อเป็นเครื่องมือเป็นองค์กรความรู้ ในการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง ครอบครัวช่วยกันดูแลด้วย ลูกหลาน ดูแลพ่อแม่ ลุง ป้า น้า อา ด้วยมีอายุมากแล้ว หน้าที่ของท่านที่ต้องดูแล ผู้หลักผู้ใหญ่ของท่านเอง ผู้หลักผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ท่านเลี้ยงดูท่านมาตั้งแต่เล็กจนโต มีงานทำแล้ว เราไม่ใช่สังคมแบบต่างประเทศ คนไทยอยู่ด้วยกันจนตายจากกัน

อีกเรื่องหนึ่งคือ โครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด “โครงการบ้านมั่นคง” ชุมชนริมคลอง 248 ครัวเรือน เป้าหมายมีทั้งหมด 3,700 ครัวเรือน และชุมชนในเมืองอีก 5 พื้นที่ กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ขอนแก่น นครสวรรค์ 1,185 ครัวเรือน เป้าหมาย 6,300 ครัวเรือน และก็จะขยายผล สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ให้กับผู้ยากจนและด้อยโอกาสในชนบท ซึ่งมีเป้าหมาย 40 จังหวัด 200 ตำบล ใช้วงเงินประมาณ 60 ล้านบาท ในขั้นต้น

ปัญหาที่ผมกราบเรียนไปแล้วคือ รายได้ประเทศไม่มากนัก การค้า การลงทุนมีปัญหาอีก ภาษีต่าง ๆ ยังมีปัญหา การปรับปรุงยังไม่สมบูรณ์ ต้องขอความร่วมมือกันช่วยกันสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุน ต้องพัฒนาตนเองปรับปรุงตนเอง ถ้าให้รัฐช่วยอย่างเดียวก็ไปได้ไม่มากนัก รายได้ก็ไม่กลับเข้ามา ภาษีก็เก็บไม่ได้ และจะทำอย่างไร และเงินเหล่านี้จะหามาจากไหน ผมไม่อยากให้เป็นเรื่องของสร้างปัญหา ดีกับประชาชน ดีกับรัฐบาล แต่สร้างปัญหาให้อนาคตไม่ได้

ผมอยากจะให้ทุกคนช่วยกันคิด เราเคยบอกว่าเราจะลดความเหลื่อมล้ำใช่หรือไม่ ให้ความเป็นธรรม ผมว่าบ้านเราคนรวย ๆ มีมาก หรือกลาง ๆ ก็ได้ที่ไม่ลำบากมากนัก ลองดู ผมให้แนวทางกับกระทรวงการคลังไปดูว่าทำได้หรือไม่ เพราะทุกคนใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลหมด 30 บาท หรือ 0 บาททุกคนมีสิทธิ์หมด จะเสียสละหรือไม่ ไม่ใช้ได้หรือไม่ เพื่อจะนำเงินตรงนี้ตัดยอดออกไป และไปให้กับคนจนจริง ๆ ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกิน ที่ไม่ต้องเสียภาษี ที่ผมกำลังให้ขึ้นบัญชีอยู่ ถ้าท่านเสียสละแบบนี้ ถือว่าเป็นกุศล ผมเองก็พร้อมจะสละ ไปไหนก็หาหมอเองได้อยู่แล้วพวกเรา แต่จนเขาไม่มีโอกาสเลย แต่ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือ อย่าป่วย เจ็บ ดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่ระวังจนเกินเหตุ ก็แค่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีคุณภาพให้ครบถ้วนหมู่ 5 หมู่ ก็แข็งแรงเอง และข้อสำคัญคือลูกหลาน จะเป็นกำลังใจให้มีอายุยืน ๆ

เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องสร้างคนดี มีจิตสาธารณะ เพื่อร่วมกันในการพัฒนาสังคมให้มีความสุข เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง ค่านิยมผมพูดไปแล้ว 12 ประการ โครงการหมู่บ้านศีล 5 เราก็มีจะต้อง เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน

การจัดระเบียบสังคมพื้นที่สาธารณะ ยังทำต่อไป แล้วอย่ากลับมาเป็นแบบเดิมก็แล้วกัน วันผมยังอยู่หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังอยู่ (คสช.) อาจจะเป็นไปได้ แต่เราก็ต้องดูแลเขาว่าจะให้เขาไปขายของที่ไหน จะทำอย่างไรให้เขามีที่อยู่ที่กิน มีอพาร์ทเม้นท์ได้หรือไม่ เขาก็ต้องร่วมมือกับเรา เขาก็ต้องมาผ่อนชำระ เช่า ซื้อ ต่างๆ ไม่ใช่ทางนี้ก็จะขอฟรี อีกทางก็จะไล่ออกไปจากพื้นที่ทำมาหากิน ต้องทำทั้งสองทางและ ต้องใช้เวลาทั้งหมด ใช้งบประมาณอีกสูงมาก แต่ก็จะทำถ้ายังมีโอกาสทำให้อยู่

เรื่องการจัดระเบียบรถขนส่งสาธารณะ วินมอร์เตอร์ไซค์ 9 หมื่นกว่าคัน รถตู้อีก 148 เส้นทาง สถานบริการ หาบเร่ แผงลอย ชายหาด แหล่งท่องเที่ยว และเรื่องขยะมีปัญหามาก วันนี้มีหลายที่ได้รับรายงานว่า เกิดไฟไหม้อีกแล้ว บ่อขยะขนาดใหญ่ และจะทำอย่างไร บางพื้นที่ก็ต่อต้านการสร้างโรงงานขยะ และจะทำอย่างไร ในเมื่อต้องทำ และจะปล่อยให้เป็นขยะอยู่แบบนั้นหรืออย่างไร ทำไมไม่นำไปใช้ประโยชน์ ทำไมไม่นำไปใช้ทำพลังงาน หลายคนก็บอกว่าไม่อยากให้ทำ ไปดัดแปลงทำให้พื้นที่ ทำไมเขาต้องเสียสละ อะไรทำนองนี้ ถ้าคิดแบบนี้ประเทศชาติอยู่ไม่ได้ ถ้าใครอยากจะคัดค้านเรื่องขยะ ไปดูที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนนี้เขาทำไปได้มากแล้ว ทุกคนก็พอใจ ไปดูเขาทำอย่างสวยงามใหญ่โต สะอาด ได้ประโยชน์ มีการฝังกลบมีการนำมาใช้เป็นพลังงาน เดี๋ยวคอยดู ถ้าตรงไหนไม่สร้างวันหน้าจะเกิดปัญหาอีก เมื่อวานก่อน ผมได้ยินข่าวว่าไหม้อีกแล้วหลุมขยะขนาดใหญ่ ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งอันตราย ถ้าทิ้งไปเฉยๆ เกิดปัญหาด้วย

เรื่องการทยอยคืนผืนป่าเพื่อประชาชน เป็นพื้นที่ทั้งหมดขณะนี้ 35.34 ล้านไร่ โดยเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2.71 ล้านราย ด้วยการจัดพื้นที่ที่ดินทำกินให้ ผู้ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำต่าง ๆ อันไหนออกมาได้ ก็ต้องนำออกมาหาที่ทำกินให้เขา เว้นแต่ว่าต้องไม่มีที่ดินทำกินจริง ๆ ไม่ใช่มีหลายที่ และเราก็ไม่อยากให้นำไปขายอีก ที่ผ่านมาพอให้ไปแล้วก็นำไปขายต่อ ทำอย่างไรก็ต้องไปว่ากันเรื่องกฎหมาย ว่าจะทำอย่างไรให้เขานำสินทรัพย์ที่มีอยู่ นำผลผลิตที่มีอยู่ไปค้ำประกันต่างๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) เงินทุนที่ออกไป กำลังดำเนินการอยู่ และเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้ต่าง ๆ ทำนองนี้ ทวงหนี้ ทวงถาม ออกไปให้หมด ดูแลคนจน คนจนก็ต้องช่วยตัวเองบ้าง ปฏิบัติตามกฎหมาย และก็ซื่อสัตย์กับตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อนายจ้าง หรือผู้ให้เช่าด้วยแล้วกัน พึ่งพาอาศัยกันอยู่แล้ว

สำหรับการป้องกัน แก้ไขการทุจริตคอรัปชั่นนั้น เราเดินหน้ามาโดยตลอด ไม่อยากให้โครมครามมากนัก ก็ขอให้เป็นเรื่องปกติได้หรือไม่ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะฉะนั้นที่เราทำอยู่วันนี้ก็พยายามทำให้เร็ว ทำให้เกิดการรับรู้ รับทราบ แล้วก็ขจัดสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ ป้องกันการก้าวล่วงซึ่งกันและกันของทุกฝ่าย ทำให้ข้าราชการรัฐเสียหาย แล้วโครงการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก หลายโครงการ

วันนี้เราได้นำ (CoST : Construction Sector Transparency Initiative)   เข้ามาโครงการของต่างประเทศเข้ามา มาตรวจสอบการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ เรื่องต่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และอีกอันหนึ่งก็คือข้อตกลงคุณธรรม อันนี้ก็ดำเนินการแล้ว ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์ NGV โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตรากฎหมายต่าง ๆ อีกมากมาย วันนี้กฎหมายหลายฉบับเราได้ออกมาแล้ว ขณะนี้เท่าที่จำได้เป็นหลายร้อยฉบับที่ไม่เคยได้ออกมา แล้วยังค้าอยู่อีกในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกจำนวนมากพอสมควร

อีกเรื่องคือ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต พ.ศ. 2558 เพื่อขจัดความล่าช้าของการดำเนินการ เราลดทั้ง 2 อย่างคือ ศูนย์ One- Stop Services ติดต่อราชการให้เร็ว ให้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย แล้วก็มีหลักฐานมีระเบียบอะไรต่าง ๆ ให้รับทราบ ไปติดต่อที่นี่ แล้วเขาจะไปเดินเรื่องต่อให้ถึงเวลาก็ต้องมารับตามกำหนด หรือเขาจะแจ้งกลับไปว่า อันนี้ยังไม่ครบ ยังต้องเติมโน่น เติมนี่ ก็จะได้ง่ายขึ้น ให้ง่ายต่อการลงทุน วันนี้ก็มีหลายประเทศเขาทำอย่างนี้ ผมก็ดีใจ ผมก็คิดเองว่าจะทำอย่างไร วันนี้ก็ต้องทำให้ได้ แยกเป็นกลุ่ม ๆ ได้หรือไม่ อันไหนเรื่องของการลงทุน อันไหนเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การค้าอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นกลุ่ม ๆ ได้ แล้วรวมงานของทุกกระทรวงได้ ก็จะจบเร็วขึ้น คู่กับศูนย์ดำรงธรรม ถ้าวันนี้ยังไม่รู้อะไร ไม่รู้จะไปไหน ก็ศูนย์ดำรงธรรม เขาส่งไปได้หมด เขาจะส่งให้กระทรวงต้นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ วันนี้ใหม่ ๆ อาจจะยังไม่คุ้น

วันนี้สายด่วน 1567 ประชาชนใช้บริการแล้ว 949,788 เรื่อง ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 907,353 เรื่อง คิดเป็น 95.54 % ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เคยทำมาก่อน รัฐบาลนี้ทำไปแล้ว ประชาชนก็มีความพึงพอใจมากขึ้น เรื่องใหญ่ ๆ ก็คงต้องไปแก้ทำความเข้าใจกันก่อน เป็นเรื่องของกฎหมาย ถ้าอะไรทำได้ทำเลย ไม่ต้องมาเสียเวลาอีก ไม่ใช่ประชาชนต้องไปบ่นต้องไปรอ สถานที่ราชการทุกวัน เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ด้วย

สายด่วนรัฐบาล 1111 วันนี้ต้องช่วยกัน ตั้งให้แล้วอย่าโทรมาแกล้ง อย่าโทรมาอะไรก็แล้วแต่ วันนั้นผมฟังแล้วไม่สบายใจ มีทั้งผู้หญิงผู้ชายโทรมา ถ้าเป็นผู้หญิงรับสายอยู่ เข้าเวรอยู่ก็ผู้ชายก็มักจะพูดจาไม่สุภาพ ไม่เรียบร้อย รู้อยู่ ทุกคนเข้าใจ ไม่สมควรไปรังแกสุภาพสตรีเขาแบบนั้น เขาอุตส่าห์มาทำงานให้ ยังไปพูดจาไม่ดีใส่เขาอีก ในเชิงชู้สาวบ้าง อะไรบ้าง ไม่ไพเราะเลย ถ้าเป็นผู้ชายก็ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอะไร อย่างมากก็โดนตำหนิ โดนว่าใช้คำพูดหยาบ ๆ แค่นั้น เพราะว่าคงไม่มีผู้หญิงที่ไหนโทรมาหาผู้ชายแล้วพูดแบบนี้ ไม่มี

ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้ สังคมไทยน่าจะดีขึ้น มีความสงบสุข ปลอดภัย ลดเหลื่อมล้ำ เท่าเทียม พูดกันมากแล้ว แต่ผมสามารถพิสูจน์ หรือแจ้งท่านได้ว่าเรื่องที่ผมพูดทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วผลสัมฤทธิ์มาอย่างไร แต่ยังไม่ทั่วถึงแน่นอน ผมไม่สามารถสัญญาท่านได้ทุกอย่าง ว่าผมจะทำได้สำเร็จในสมัยที่เรามีเวลาแค่นี้ ผมเริ่มต้นให้ ผมหยุดอะไรให้ หยุดความรุนแรงให้ แล้วก็เริ่มต้นปฏิรูปให้ แก้ไขความเร่งด่วนก่อน แต่เรื่องที่ยาว ๆ ผูกพันยาว ๆ ผมก็ไม่สามารถทำได้ ผมไม่รับประกันเพราะเวลามีแค่นี้ แต่ผมวางรากฐานให้ท่าน ท่านก็ไปว่ากันต่อไป ถ้าท่านอยากจะให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเร็ว ๆ ท่านก็ไปเตรียมการให้เขาทำต่อไปก็แล้วกัน

นอกจากมาตรการต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจแล้ว การคมนาคมขนส่ง ศูนย์บริการด้านธุรกิจ การบริหารจัดการน้ำก็คืบหน้าไปเรื่อย ๆ แล้วก็มีมาตรการอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพในการแข่งขัน คือเขาเรียกว่าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทางด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ ไปขายสินค้าแข่งกับเขาในโลกได้ ทั้งธุรกิจขนาดเล็กกลางใหญ่ ทั้งในระดับภูมิภาคและเวทีโลก ฐานข้อมูลที่สำคัญวันนี้การจดทะเบียน 3 สัญชาตินั้น เมียนมา ลาว กัมพูชา ประมาณ 1,600,000 กว่าคน อันนี้เราจดทะเบียนไปแล้ว บัตรที่ออกให้เป็นการชั่วคราวก่อน เพราะยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติครบ เดิมต้องพิสูจน์สัญชาติให้ครบภายใน 6 เดือน ถ้าพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ ก็ต้องต่อไปเป็นปี ทำไมยากรู้หรือไม่ ไม่ใช่เราผิด เราขึ้นทะเบียนได้ก็เก่งแล้ว

การพิสูจน์สัญชาติต้องให้แต่ละชาติที่เป็นแรงงานของเขา จัดชุดเข้ามาแล้วก็มรพิสูจน์สัญชาติของเขาเอง ตอนนี้เขามาได้น้อย เพราะฉะนั้นผลผลิตในการพิสูจน์สัญชาติน้อย ไม่ใช่ความผิดของเราเป็นความไม่พร้อม ก็ต้องเห็นใจมิตรประเทศเรา บางเป็นประเทศเล็ก ๆ บางครั้งก็ไม่พร้อม วันนี้ก็เลยจดยังน้อยอยู่ ก็เดี๋ยวผมต่ออายุให้ แต่ข้อสำคัญคือนายจ้างที่นำมาจด หรือมาร้องขอจะต้องไม่ปล่อยให้แรงงานเหล่านี้ไปทำงานที่อื่นเพราะเป็นบัตรชั่วคราวเท่านั้นเอง ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล ถ้าแรงงานเขาบ่น ก็บอกเขาเองว่าก็ไปเร่งประเทศของเขาเองว่าให้เขาพิสูจน์สัญชาติให้เร็วขึ้น วันนี้จัด 10 - 15 ชุด วันหนึ่งก็ได้ไม่กี่คน ของเราจัดเป็นร้อย ๆ ชุด ถึงทำได้

เรื่องการจดทะเบียนเรือประมง วันนี้จดไปแล้ว 50,970 ลำ เดิมน้อยมาก แล้วการจดทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการ ทุกคนจะต้องมีบัตร หรือมีรายละเอียดในบัตรประชาชนอะไรก็แล้วแต่ ว่ามีรายได้เท่าไหร่ ผมก็ไม่ได้ไปประเมินว่าท่านจะต้องมีรายได้สูง ๆ อย่างมากถ้าคนรายได้น้อยก็คำนวณได้จากต่ำ ๆ คือวันละ 300 บาท อาจจะไม่ถึงด้วยซ้ำไป สมมุติว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ท่านก็ไม่ต้องเสีย เพราะท่านอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ท่านต้องมี รัฐจะได้รู้ว่าท่านทำอาชีพอะไร วันหน้าจะได้ไปสนับสนุนได้ถูก นำเงินไปช่วย หากองทุนมาให้ วันนี้ถ้าต้องให้หมดเลย ไม่ไหว วันหน้าเป็นภาระอีก

การจัดทำผังเมืองทั่วประเทศ ต้องชมเชยกระทรวงมหาดไทยยุคนี้ ทำได้เร็วขึ้น 19 จังหวัดเอง ทำมาตั้งหลายปี  2 รัฐบาลแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา สิ้นปีนี้จะทำให้ครบ 77 จังหวัด ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ขอบคุณข้าราชการทุกคนที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้สำเร็จก็แล้วกัน เป็นความคาดหวัง จะได้ทำให้การจัดระเบียบ การจัดทำแผนที่ ดิจิตอลต่าง ๆ แบบบูรณาการ ทั้งป่า ทั้งเกษตร ทั้งอุตสาหกรรม เมือง ที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการ ร่วมกับการผังเมืองให้เหมาะสม ก็มีหลายจังหวัดเหมือนกันร้องเรียนเข้ามาว่ามีปัญหาเรื่องการวางผังเมือง ไม่เป็นไร จะให้กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยเข้าไปแก้ปัญหา

เรื่องของการใช้แอพลิเคชั่นบนมือถือ ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกกระทรวงมาเสนอผม หรือเสนอข้าราชการด้วยกัน ผมอยากให้ประชาชนได้รู้ เพราะประชาชนมีโทรศัพท์เกือบทั้งหมด ถ้าสามารถกดได้ แอพลิเคชั่น รู้เรา รู้โรค รู้สิทธิ รู้ดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น ก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานประชาชนทั่วไปจะได้เรียนรู้ เกษตรกรก็จะรู้ราคาสินค้า รู้ว่าจะต้องไปติดต่อราชการที่ไหน หรือเป็นโรคอะไร จะไปหาใคร โรคนี้จะเป็นอันนี้หรือเปล่า ท่านจะได้ถามได้เร็ว ๆ ผมคิดว่าวันหน้าต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือใช้โทรศัพท์มากขึ้น เขาเรียกว่าดิจิตอล ซึ่งเราจะตั้งกระทรวงดิจิตอล อีโคโนมี่ ต้องเรียนรู้ด้วยกันเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ ประชาชนยุคใหม่ที่เป็นยุคแห่งความทันสมัย แล้วก็เกิดประโยชน์ แล้วก็ใช้อย่างพอเพียง ให้ครบ ทำอะไรก็ให้ครบ คิดอะไรให้ครบ

เรื่องของการลงทุน เช่นเดียวกัน ก็จะมีข้อมูลในการลงทุน เรื่องการพัฒนาส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาให้ไปสู่การผลิต ผมได้เร่งรัดไปแล้ว วันนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา และตั้งงบประมาณการวิจัยและพัฒนาให้สูงกว่า 1% ของ GDP เดิมต่ำกว่านี้ เขาจะตั้ง 3% , 4% ไม่ไหว เอา 1% ก่อนก็แล้วกัน และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในอุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนา เดิมมี 200% เป็น 300% เขาจะได้ตั้งเอง ช่วยรัฐด้วย การจัดทำบัญชี นวัตกรรมให้เป็นนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ จะได้ให้สถานประกอบการที่สนใจ ชุมชนได้นำผลงานการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ไปสู่การผลิต

วันนี้ก็มีจำนวน 29 ราย และในเรื่องของนวัตกรรมใหม่จะสามารถทดแทนการนำเข้าใช้ประโยชน์ในราชการได้  6 เรื่องด้วยกัน เช่น การแปรรูปยางธรรมชาติเพื่อนำไปสร้างพื้นลู่ ลานกรีฑา ลานอเนกประสงค์ หรือใช้เป็นเตาอบย่างแผ่นรมควันประหยัดพลังงาน หลายอย่างต้องแก้ไขหมดเลย กฎหมาย พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง การรับรองมาตรฐานสินค้าให้สามารถจัดซื้อจัดหาได้ เพราะระเบียบเดิมซื้อไม่ได้ ถ้าไม่มีการทดสอบ ไม่มีการทดลองใช้ก่อน วันนี้ผมได้แก้ระเบียบตรงนี้ว่า ต้องนำราชการมาซื้อใช้ก่อน แล้ววันหน้าก็ไปจดทะเบียนต่างประเทศ เพื่อจะขายต่างประเทศให้ได้ ต้องช่วยกัน

วันนี้ผมให้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว ผมเร่งรัดภายในปีนี้ เขาก็รายงานมาว่าเขาจะขึ้นทะเบียนประเทศ 100 นวัตกรรมเป็นอย่างน้อย ที่เป็นคนไทยคิดทั้งหมด แล้วจะนำไปสู่การผลิต และให้ทุกกระทรวงสามารถซื้อได้ คงไม่ใช่เรื่องอะไรที่ใหญ่โต อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ต้องสิ้นเปลือง ราคาถูก และมีความคงทนเหมาะสมกับอาเซียน เหมาะสมกับไทย ถ้าไม่คิดแบบนี้ วันหน้าก็แบบเดิม เศรษฐกิจตก ขายใครไม่ออก

เรื่องของมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ผมก็แก้มาตลอด มีคณะทำงานเป็นวาระแห่งชาติ การใช้มาตรา 44 นั้น ก็คือว่า ใช้เพื่อจะบูรณาการเท่านั้นเอง แต่ช่วงก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้ออกมาตรา 44 ก่อนหน้านี้เราตั้งแบบนี้มานานแล้ว เพราะเราเข้ามาเราก็รู้แล้วว่ามีปัญหานี้ เราก็พยายามจะบูรณาการ เพราะต้องใช้กฎอัยการศึกที่มีอยู่แล้ว คราวนี้พอกฎอัยการศึกประกาศยกเลิกไป มีมาตรา 44 ก็คือกฎอัยการศึกเดิม ที่นำมาใช้บางข้อเท่านั้นเอง ก็คือในเรื่องของการบูรณาการ แต่จริง ๆ ทั้งหมด เพื่อจะรวบทุกอย่างให้ทำได้โดยเร็ว ไม่ติดขัดตรงโน้นตรงนี้ และนำไปสู่การปฏิบัติได้เลย แต่การที่จะทำต่อเป็นเรื่องของกฎหมายปกติ ทุกเรื่องใช้มาตรา 44 แบบนี้ เราจะเอามาตรา 44 ไปแก้ทุกเรื่อง ไปแก้ไขมะนาวแพง ไปแก้เศรษฐกิจ ไปแก้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แก้ได้ที่ไหน ต้องไปแก้ทั้งระบบ แต่มาตรา 44 นี้ ไปอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ ทหารที่ไม่ได้ทำ ทำไม่ได้ก็สามารถไปช่วยเขาได้ นั้นคือประเด็น

เรื่องใบเหลือง อย่าไปวิตก เราต้องยอมรับ เราโทษใครไม่ได้ เราต้องแก้ไขให้ได้ รัฐบาลนี้เข้ามาก็แก้เต็มที่ มีตั้งหลายคณะไปทำ มีความก้าวหน้า แต่ยังไม่เพียงพอ ผมก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเสร็จภายใน 6 เดือนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทุกคน ถ้าวันนี้ผมรายงานว่าเรือยังไม่ครบเลย ถามใครก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ที่ไม่มาจดทะเบียน บอกอยู่ต่างประเทศ แล้วที่ไหน ที่ผ่านมาอยู่กันอย่างไร ลูกเรือมาจากไหน มีการจ้างงาน จ้างระเบียบไหม ไม่มี แล้วผมจะไปสู้ใครเขาได้แบบนี้

ทำอย่างไรเราจะแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผมก็หวังว่าจะแก้ได้ เขาให้เวลาเรา 6 เดือน 6 เดือน ขึ้นอยู่กับทุกคน เพราะเราต้องไปให้เขาปรับระดับให้เรา ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็น Tier 2 Tier 3 ไม่ใช่ผม ไม่ใช่รัฐบาลจะทำได้ตามใจตัวเอง ตามใจของทุกคน เป็นเรื่องของคนอื่นเขาต้องประเมินเรา แต่เราต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาให้ทำงานได้เท่านั้นเอง แต่ทำเต็มที่ ยืนยัน รับรองไม่เกินที่ผมคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า อย่างไรก็ไม่ผ่าน เพราะเรื่องมีมาก เราทำได้จดทะเบียนเรืออย่างเดียวก็แย่แล้ว ใช้เวลาไม่กี่วัน ไม่กี่เดือนทำไม่ได้หมด และความร่วมมือก็ยังน้อย ต่อไปนี้ผมจะให้มีการตั้งศูนย์ต่าง ๆ ตามท่าต่าง ๆ ด้วย มีทหาร ตำรวจไปเฝ้าเรือเข้า – เรือออก ท่านต้องร่วมมือ ผมจะใช้แบบนี้ ไปแล้วไม่กลับ ไปแล้วไม่รายงาน ไม่แจ้ง ลูกเรืออยู่ไหนไม่รู้ นี่แหละผิดทั้งหมด แล้วก็ทำให้เกิดปัญหา ให้ปวดหัวอยู่ทุกวันนี้ เรื่องค้ามนุษย์ก็เหมือนกัน คนละเรื่องกัน ค้ามนุษย์กับ IUU คนละเรื่อง ICAO ก็อีกเรื่องหนึ่ง เขาใช้มาตรา 44 เพื่อไปทำงานได้เท่านั้นเอง อย่าไปกังวล

เรื่องการส่งออก อย่าไปกังวล วันนี้ก็คุยกับภาคเอกชนแล้ว อาจจะมีผลกระทบยังไม่มากนัก แต่ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะเขาให้โอกาสมา เขาแจ้งมาตั้งแต่ 2548 กี่ปีแล้ว นี่ผมได้ทำมาแค่ 6 เดือนเอง ก็ทำไปมากเป็นปึกเลย เขาก็บอกว่ายินดีที่ไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ เห็นแล้วว่าเราตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐบาล ตั้งใจจะแก้ แต่ก็อยากจะให้เร็ว เพราะฉะนั้นยังไม่สามารถลดระดับได้ เขาก็ต้องการให้เป็นตัวอย่างไปกับประเทศอื่น ๆ ด้วย เรื่องนี้ผมได้พยายามแก้ไขทั้งหมด

กฎหมายประมง ก็ต้องทำใหม่ การจดทะเบียน การติดตั้ง GPS ที่อยู่ของเรือ ติดตั้ง VMS ระบบการจับปลา คือจับที่ไหนต้องรู้ ไม่อย่างนั้นเราคุมไม่ได้ แล้วก็จัดตั้งศูนย์ควบคุมประมงชายฝั่งที่ผมกล่าวนี้ วันนี้ถ้ารอกฎหมายตั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องตั้งใช้มาตรา 44 ไปทำ ตั้ง แล้วก็ใช้กฎหมายปกติ ดำเนินการว่าผิดตรงไหน อะไรตรงไหน จะลงโทษอย่างไร จะปรับไหม ดำเนินคดีไหม ติดคุกไหม ก็ว่ากันมา ก็ระมัดระวังแล้วกัน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค แรงงาน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด นายเรือ ทหารเรือก็จะไปช่วยจับกุมดำเนินคดี ซึ่งที่จริงทำไม่ได้ เป็นหน้าที่ของประมงบ้าง เป็นหน้าที่ของเจ้าท่าบ้าง เป็นหน้าที่ของส่วนราชการพลเรือน

วันนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะไปทำทั้งหมด เราต้องให้ EU เขารับทราบ อย่าไปมองว่าเขามาจับผิดเรา อะไรเรา เขาก็ทำกับทุกประเทศเหมือนกัน เผอิญเราช้าหน่อย แต่หนักพอสมควร เพราะไม่แก้กันมา อย่าท้อถอย ผมใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสแล้วกัน สร้างความเข้าใจ ร่วมมือกัน สื่อก็ต้องช่วยกัน เสนอข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ให้รู้ว่ามีปัญหาอย่างนี้ แล้วตอนนี้รัฐบาลนี้กำลังแก้เรื่องนี้ อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้โอเคเลย แต่ไม่ใช่บอกล้มเหลว ทำไม่สำเร็จ จะทำสำเร็จได้อย่างไร 6 เดือนเอง ถ้าอยากให้ทำสำเร็จก็ไปฝากใครทำก็แล้วกัน เร็ว ๆ ทำไมได้ ใช้อำนาจอะไรก็ไม่ได้

เรื่องความพยายามเขาเห็นใจในความพยายามของเรา และให้โอกาสเราที่ปรับปรุง ผมคิดว่าก็เป็นความหวังว่า น่าจะดีขึ้นได้ภายในระยะเวลาที่เขากำหนด แต่ขึ้นอยู่กับทุกคน การไปอินโดนีเซียครั้งนี้ ผมได้คุยกับท่านประธานาธิบดีอินโดนีเซียก็หารือเรื่องนี้ด้วย ท่านก็ยินดีจะสนับสนุนไทยในการแก้ปัญหาภาพรวมของการประมงอาเซียน และเราก็มีปัญหามากพอสมควรกับเรือประมงต่าง ๆ ที่ไปกระทำความผิดอยู่ที่อินโดนีเซีย ก็ได้หารือกันว่าจะนำกลับกันอย่างไร จะลงโทษอย่างไร ตามกฎหมาย เพราะผิดก็คือผิด จะได้เลิกมีปัญหากันสักที ทุกอย่างผมบอกแล้วว่าเรามีงานมาก ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผมพูดทุกวัน งานทุกวัน งานทุกเรื่อง ท่านบอกเป็นร้อย ๆ เรื่องก็นั้นแหละ ร้อย ๆ เรื่อง ท่านบอกเลือกเอาได้ไหม เอา 10 เรื่องมาทำ แล้วอีก 99 เรื่องไม่ทำหรือ มีผลกระทบกันทั้งสิ้น ผมก็ต้องนำทุกเรื่องมาทำ อันไหนเดือดร้อนมากก็ทำมาก อันไหนเดือดร้อนน้อยก็ทำช้าได้ แต่ต้องทำทุกวัน อย่าแก้ปัญหาอันใดอันหนึ่ง เชื่อมโยงกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะช่วยกันดูแลเรื่องเรือประมง และแรงงานประมงที่ค้าง เพราะเป็นภาระ ผู้ประกอบการเขาต้องรับผิดชอบ ผิดก็ต้องรับคำผิดด้วย

เรื่องการทำงานวันนี้ก็คือว่า เราเข้ามาหยุดความรุนแรง แก้ปัญหาเร่งด่วน และเตรียมการปฏิรูป เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องปฏิรูปต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ที่เราทำวันนี้ ทำเท่าที่ทำได้ อย่าคิดว่าผมมาสัญญาว่าจะต้องเสร็จเรื่องนี้ แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ภายในเท่านี้วัน ทำไม่ได้ แต่ผมรับว่าผมจะจัดระเบียบให้ได้ภายในระยะเวลาที่ผมพูดไว้ตามโรดแมป เพราะฉะนั้นปฏิรูปไปว่ามา ใครจะทำไปว่ามา อย่ากดดันผม เจ้าหน้าที่กดดันอยู่แล้ว เพราะผมกดดันเขาให้ทำ ให้ทำ ให้เร็ว ให้ทัน พอท่านมากดดันผมมาก ๆ ผมก็กดดันทับเข้าไปอีก แล้วงานก็เละอีก ต้องใช้เวลา เห็นใจกันบ้าง มาตรา 44 อย่าไปกังวลมากนักเลย สนใจอยู่นั่น พอเลิกกฎอัยการศึก ก็มามาตรา 44 อีกแล้ว จากมาตรา 44 จะไปอะไรอีก รู้สึกไม่ไว้ใจกันเลย ที่ทำผิดทำถูกมากมาย ก็รับไว้ใจกันมาหลายปีแล้ว

การปรับย้าย อย่าไปกังวลเหมือนกัน การปรับย้ายจะเข้าวาระเดือนเมษายน ตุลาคมมีอยู่แล้ว ใครผิดน้อยก็ย้ายตามวาระไป ไปอยู่ตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ที่ภาคทัณฑ์ คดีแบบนั้น ถ้าคดีผิดกฎหมายทุจริตเลยจริง ๆ ก็ต้องออกจากหน้าที่ตรงนั้นก่อน คราวนี้เอาออกจากหน้าที่ค่อนข้างยาก เพราะมีกฎหมายของ ก.พ. ด้วย แล้วก็อาจจะต้องใช้กฎหมายของผม เอาเขาออกมา แต่ไม่ได้เป็นความผิด ยังสอบสวนไม่เสร็จก็สอบต่อ ถ้าเขาอยู่อาจจะมีปัญหาหรือเปล่า ต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่นำมาตรา 44 มาปราบโกง นำกฎหมายปกติมาปราบโกง แต่นำมาตรา 44 มาอำนวยการสอบสวนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สะดวก เจ้าหน้าที่ไม่อึดอัด ยอมรับสภาพกันบ้าง ตอนทำความผิดไม่เห็นรับเลย ไม่เห็นคิดเลย อย่าให้เป็นข่าวโครมครามกันนักเลย เอาที่ทุกวัน ๆ จะทำอะไร ลงโทษเมื่อไหร่ ผมไม่เห็นจะเกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้นเลย ชาติบ้านเมืองได้ แต่ขอให้กระบวนการยุติธรรมเขาทำกันดีกว่า แล้วเดี๋ยวออกมาเอง เหมือนกับคดีความทั่วไปก็เป็นอย่างนี้ เราไปเร่งมาก อะไรมาก เดี๋ยววันหน้าท่านก็ไปเร่งงานศาลเขาอีก กระบวนการยุติธรรมก็ต้องกลับที่เดิมรอบเก่า

เรื่องงานอะไรที่ค้างอยู่ขอให้ท่านไปติดตามแล้วกัน ผมพูดมาหลายครั้งอยู่แล้ว ทุกเรื่อง การสร้างความปรองดองเหมือนกัน มาตรา 44 ใช้ไม่ได้ เป็นเรื่องของความยินยอมของแต่ละคนว่า หัวใจคนไทยของแต่ละคน แต่ละพวกที่ขัดแย้งจะยอมรับในการปรองดองคือ พูดจากัน เลิกทะเลาะกัน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน นั่นแหละปรองดอง แต่ถ้ามีความผิดอยู่แล้วใช้อำนาจมาตรา 44 ไปแก้ให้ปรองดอง ให้เลิกกัน ให้ยกเลิกความผิดผมทำให้ไม่ได้ เข้าใจไว้ด้วย ถ้าใช้แบบนั้นเป็นการใช้มาตรา 44 ไปในทางที่ผิด

เรื่องรัฐธรรมนูญ ไปคิดดู ผมก็ฟังอยู่ทุกวัน มีโอกาสก็ฟัง แถลงการณ์ทุกคนก็ตั้งใจ ก็ไปคิดกันแล้วกันว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร จะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปอย่างไร ทำอย่างไรจะทำได้ ถ้าเป็นสากลอย่างเดียว เป็นแบบเดิมอย่างเดียวจะทำได้ไหม ไม่รู้ท่านไปคิดกันมา การฟังความคิดเห็นจากต่างประเทศ ผมก็อยากให้ฟังคนอื่นเขาบ้าง ส่วนใหญ่ก็คิดกันเอง เถียงกันเอง ทะเลาะกันเองมาตลอด ไปฟังเขาว่าประเทศเขามาอย่างไรแค่นั้น แล้วค่อยมาคิดเอา เลียนแบบเขาบ้าง คิดเหมือนเขาบ้าง ไม่ใช่คิดเอง ทำเองแล้วก็ทะเลาะกันเองอยู่แค่นี้ นานกี่ 10 ปีแล้ว ประชาธิปไตยไทย ถ้าเราทำดี โลกก็เข้าใจเรา วันหน้าจะได้ไม่ถูกประณามในโลกใบใหญ่ ผมก็ต้องระมัดระวัง ผมไม่อยากให้คนประณามผม ผมไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะให้กระทำความผิดแล้วหลีกเลี่ยงไปเรื่อย ๆ ผมไม่ใช่คนแบบนั้น

ลำดับต่อไปผมได้เชิญ รองนายกรัฐมนตรี ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ซึ่งดูแลด้านสังคมจิตวิทยา มาพูดคุยเพิ่มเติม ในเรื่องต่าง ๆ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคน คงเข้าใจในเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาทุกอย่างในขณะที่เราเป็น คสช. และขณะที่เป็นรัฐบาล คือว่าเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 เท่านั้นเอง ซึ่งระยะที่ 3 อีกยาวนานมาก ที่เป็นปัญหาทับซ้อนอยู่ต้องไปแก้ทั้งระบบอีกที ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

                                                                                                          -------------------------

                                                                                                    ที่มา : http://www.thaigov.go.th/